<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

5 ปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของ Bitcoin ในสัปดาห์นี้

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนในตลาดคริปโตมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง เนื่องจากจะมีการประกาศ ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ 5 รายการ โดยเริ่มตั้งแต่วันอังคาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจส่งผลต่อราคา Bitcoin (BTC) และทิศทางของตลาดคริปโตโดยรวม ทำให้นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ในบทความนี้จะพาไปดูกันว่า 5 ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของ Bitcoin ในสัปดาห์นี้ จะมีอะไรบ้าง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence)

ปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อันดับแรกที่ส่งผลต่อคริปโตคือ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่จะประกาศในวันอังคารที่ 28 มกราคม ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น ทัศนคติ ความตั้งใจซื้อสินค้า และแผนการท่องเที่ยว

ซึ่งมีการคาดการณ์ค่าตัวเลขจะอยู่ที่ 106.3 จากเดิมที่ 104.7 หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น จะบ่งบอกว่า ผู้คนพร้อมที่จะใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอาจดึงดูดการลงทุนใน Bitcoin มากขึ้น

ในทางกลับกัน หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง อาจส่งผลให้การใช้จ่าย และการลงทุนลดลง ซึ่งอาจสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวทางนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อ Bitcoin

การตัดสินใจของ FOMC และคำแถลงของประธาน Fed

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตลาดคริปโตกำลังจับตาคือ การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการ FOMC ในวันพุธที่ 29 มกราคม นี่จะเป็นการตัดสินใจครั้งแรก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง

ในขณะที่ทรัมป์เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย ประธาน Fed อย่าง เจอโรม พาวเวลล์ ยังคงส่งสัญญาณว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งอาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวน

โรเจอร์ สมิธ นักเทรดคริปโต กล่าวอย่างติดตลกว่า “ทรัมป์เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย แต่ เจอโรม พาวเวลล์ ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง นี่อาจเป็นศึกใหญ่ที่เขย่าตลาดได้” 

ในการประชุมครั้งล่าสุด บันทึกของ FOMC (คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ) ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ในการลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งยิ่งตอกย้ำท่าทีที่ระมัดระวังของ Fed 

ซึ่งเครื่องมือ FedWatch ของ CME แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ถึง 99.5% ที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% (หรือ 25 bps) อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ความสนใจจะไปอยู่ที่การแถลงข่าวของประธาน Fed เจอโรม พาวเวลล์ แทน ซึ่งนักเทรดและนักลงทุนคาดว่า ตลาดคริปโตจะเกิดความผันผวนเป็นอย่างมาก จากข้อมูลสำคัญที่เจอโรม พาวเวลล์จะเปิดเผย

ทั้งนี้ Fed มีพันธกิจ 2 ประการ คือ การรักษาอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ให้เพิ่มขึ้น 2% ต่อปี และการรักษาการจ้างงานให้เต็มที่ในระบบเศรษฐกิจ

ความน่าจะเป็นของอัตราดอกเบี้ย แหล่งที่มา: เครื่องมือ FedWatch ของ CME

GDP ของสหรัฐฯ

รายงาน GDP ของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม โดยมีการคาดการณ์ว่า ค่าของ GDP จะอยู่ที่ 2.5% จากตัวเลขเดิมที่ 3.1% ซึ่งข้อมูลนี้วัดมูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ

หาก GDP เพิ่มขึ้น อาจแสดงถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่าง Bitcoin แต่หาก GDP ลดลง อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และราคาคริปโตอาจลดลงชั่วคราวในระยะสั้น

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims)

รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) นี้ จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดี โดยเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ

ซึ่งข้อมูลก่อนหน้านี้ มีจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน อยู่ที่ 223,000 ราย โดยมีการคาดการณ์ค่ากลางครั้งนี้อยู่ที่ 225,000 ราย ซึ่งหากตัวเลขจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าที่คาด อาจบ่งชี้ถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น Bitcoin แต่หากตัวเลขลดลง อาจเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดดั้งเดิม และดึงเงินทุนออกจากตลาดคริปโต

รายได้ส่วนบุคคลและดัชนี PCE

ในวันศุกร์ สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) จะเปิดเผยรายได้ส่วนบุคคล การใช้จ่าย และดัชนี PCE  ซึ่งหากรายได้และการใช้จ่ายลดลง รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้ออ่อนตัวลง อาจบ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ Fed พิจารณาชะลออัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการกู้ยืมและการใช้จ่าย

ในทางกลับกัน หากดัชนี PCE สูงกว่าที่คาด อาจสะท้อนแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนมอง Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่จะสร้างความผันผวนในตลาดคริปโต โดยเฉพาะ Bitcoin นักลงทุนในตลาดคริปโต จึงต้องจับตาทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, การตัดสินใจของ Fed , รายงาน GDP, ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และดัชนี PCE อย่างใกล้ชิด

ที่มา : beincrypto