<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

จับตา! 4 ตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโทฯ ภายในสัปดาห์นี้

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ตลาดคริปโตกำลังอยู่ในช่วงซบเซา แม้ว่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายที่สนับสนุนคริปโตออกมามากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถดันราคาขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

เห็นได้ชัดจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (NonFarm Payrolls) เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งสามารถผลักดันราคา Bitcoin จากระดับ $96,000 ให้พุ่งขึ้นแตะระดับ $100,000 ได้ชั่วคราว นี่แสดงให้เห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโตมากขึ้น

นักลงทุนควรจับตา 4 ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อพอร์ตการลงทุนของผู้ถือ Bitcoin ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์การซื้อขายเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น

1. ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) หรือ “ดัชนีราคาผู้บริโภค”

ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของเดือนมกราคมจะถูกเปิดเผยในวันพุธนี้ (12 ก.พ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่อาจมีผลต่อตลาดคริปโต โดยตัวเลขของเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่า CPI เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ลดลงเหลือ 3.2%

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงอัตราดอกเบี้ยหลักไว้ที่ 4.25% – 4.50% ในการประชุม FOMC ครั้งล่าสุด โดยระบุว่า ยังต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะพิจารณาลดดอกเบี้ย ตามการคาดการณ์ของ Cleveland Fed ระบุว่า อัตรา CPI เดือนมกราคมอาจอยู่ที่ 2.85% ลดลง 0.5% จากเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.13%

นอกเหนือจากตัวเลขเงินเฟ้อ นักลงทุนยังให้ความสนใจกับคำแถลงของ Jerome Powell ประธาน Fed ซึ่งคาดว่า จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคิดเห็นของเขาต่อภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกระทบต่อตลาดการเงิน

ตัวเลข CPI สหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง Bitcoin หากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์ อาจบ่งชี้ว่า Fed จะใช้แนวทางนโยบายการเงินที่เข้มงวด (Hawkish) มากขึ้น ซึ่งอาจลดมูลค่าของสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง Bitcoin ในระยะสั้น 

ในทางกลับกัน หากตัวเลข CPI ต่ำกว่าที่คาด อาจส่งสัญญาณว่า Fed จะใช้นโยบายผ่อนคลายมากขึ้น (Dovish) ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อ Bitcoin และอาจกระตุ้นให้เกิดการเข้าซื้อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

2.ตัวเลขว่างงานในสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims)

ในวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (DoL) จะเผยแพร่รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงสภาพตลาดแรงงานของประเทศ

รายงานดังกล่าวจะให้ข้อมูลว่า มีคนยื่นขอเงินช่วยเหลือจากการว่างงานไปกี่รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้เห็นภาพรวมของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 219,000 ราย หากตัวเลขนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจหมายความว่าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงมั่นคงและเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) แข็งค่าขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาด Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซีได้

3.ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) 

ในวันพฤหัสบดี ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ จะถูกเผยแพร่ โดยเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงเงินเฟ้อในระดับต้นทุนการผลิต และสามารถใช้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มราคาผู้บริโภคในอนาคต

ตามรายงานของสำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ (BLS) อัตรา PPI เดือนธันวาคมอยู่ที่ 0.2% ซึ่งลดลงเล็กน้อย บ่งชี้ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับผู้ผลิตเริ่มผ่อนคลาย 

สำหรับตัวเลขของเดือนมกราคม คาดการณ์ว่าตัวเลข PPI จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.3%

หากตัวเลข PPI สูงกว่าที่คาด อาจบ่งชี้ว่าต้นทุนการผลิตกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาผู้บริโภคขยับขึ้นตามไปด้วย ในกรณีนี้ นักลงทุนอาจมองหาสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ เช่น Bitcoin ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น 

ในทางกลับกัน หากตัวเลข PPI ต่ำกว่าคาด อาจสะท้อนถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาคริปโต

4.ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ (Retail Sales)

รายงาน ‘ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ’ ซึ่งจะถูกเผยแพร่ในวันศุกร์ (14 ก.พ.) เป็นอีกหนึ่งตัวเลขสำคัญที่สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

หากตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาด อาจสะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริโภคและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตเช่นกัน

เมื่อยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น อาจหมายถึงรายได้ของประชาชนสูงขึ้น และมีเงินเหลือสำหรับลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง Bitcoin 

อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขต่ำกว่าที่คาด อาจบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลในเชิงลบต่อตลาดคริปโต

ในขณะที่รายงาน Bitcoin มีการซื้อขายกันอยู่ที่ $97,741 เพิ่มขึ้น 0.68% ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตามข้อมูลจาก CoinMarketCap


ที่มา: u.today