นโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก เหล่าบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ทางธุรกิจของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บางราย อาจถึงขั้นต้องกุมขมับกับตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของพวกเขา
ในช่วงสองวันแรกของการซื้อขายในตลาดหุ้น หลังจากการประกาศ “Liberation Day” ของทรัมป์ มหาเศรษฐีระดับโลก 500 อันดับแรก สูญเสียความมั่งคั่งรวมกันไปถึง 5.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสองวันที่ดัชนีมหาเศรษฐีของ Bloomberg เคยบันทึกไว้
และในบรรดาผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินไปนั้น ก็มีกลุ่มมหาเศรษฐีที่เคยให้การสนับสนุนทรัมป์ หรือแม้กระทั่งเคยเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเขาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาอยู่ด้วย เรามาดูกันว่า 4 มหาเศรษฐีที่โดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานหนักที่สุดคือใคร และมีใครกันที่ยังคงยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในปีนี้
อีลอน มัสก์

คนแรกที่ต้องเอ่ยถึงเลยคือ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก และซีอีโอของ Tesla ผู้ที่มูลค่าทรัพย์สินร่วงลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลายเป็นบุคคลที่ถูกจับตามองและเป็นที่ถกเถียงในรัฐบาลของทรัมป์
มาคราวนี้เขาก็โดนหนักที่สุดเช่นกัน เมื่อหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างมาก จนส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเขาหายไปถึง 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในสองวันเท่านั้น และการร่วงลงของหุ้น Tesla ครั้งล่าสุดนี้ ยังทำให้ธุรกิจจรวดและดาวเทียมส่วนตัวของเขาอย่าง SpaceX กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดในอาณาจักรของเขาแทน
ในภาพรวมของปีนี้ อีลอน ยังคงเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แม้ทรัพย์สินจะลดลงไปถึง 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ตาม
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

คนต่อมาคือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook และเจ้าของ Instagram กับ WhatsApp ที่สูญเสียเงินไปมากกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน มหาเศรษฐีอันดับสามของโลกผู้นี้ เจอผลกระทบจากการร่วงลงของหุ้น Meta อย่างหนักถึงเกือบ 14% ในช่วงสองวันที่สงครามภาษีเล่นงาน ซึ่งเป็นเพราะบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ หลายแห่งต้องพึ่งพาตลาดในเอเชียที่โดนทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้ามากที่สุดนั่นเอง
แม้ว่าหุ้น Meta จะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยในวันจันทร์ แต่โดยรวมแล้ว มาร์ก ที่เคยแสดงท่าทีสนับสนุนทรัมป์อย่างชัดเจน ก็สูญเสียทรัพย์สินส่วนตัวไปแล้วกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้
เจฟฟ์ เบโซส

คนที่สามคือ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon และเจ้าของ Washington Post ที่สูญเสียความมั่งคั่งไปถึง 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสองวันนั้น Amazon ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้านำเข้ารายใหญ่จากทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมูลค่าตลาดของบริษัทลดลงไปหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เนื่องจากผู้ขายชาวจีนมีส่วนแบ่งตลาดใน Amazon มากกว่า 50% และธุรกิจคลาวด์ของบริษัทก็ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากผู้ผลิตในเอเชียเป็นหลัก เบโซส มหาเศรษฐีอันดับสองของโลก สูญเสียทรัพย์สินไปแล้วถึง 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้
เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์

คนสุดท้ายในกลุ่มนี้คือ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของอาณาจักรแบรนด์หรู LVMH ที่สูญเสียเงินไปถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสองวันดังกล่าว เนื่องจากภาษีของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตในเอเชีย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าทั่วโลก
หุ้นของ LVMH ยังร่วงลงอีกในวันจันทร์ โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของยุโรปผู้นี้ ลดลงไปแล้วถึง 18,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ อาร์โนลต์เป็นเพื่อนกับทรัมป์มาตั้งแต่ยุค 80 และสหรัฐอเมริกาก็เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจเขา แต่การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปและเอเชียก็ส่งผลกระทบกับตัวเขาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วอร์เรน บัฟเฟตต์

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มหาเศรษฐีที่สนับสนุนทรัมป์ทุกคนที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย ยังมี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปรมาจารย์ด้านการลงทุนแห่ง Berkshire Hathaway ที่ทรัพย์สินกลับเพิ่มขึ้นถึง 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ แม้ว่าเขาจะโดนผลกระทบจากการร่วงลงของตลาดในช่วงสองวันนั้นไปบ้างก็ตาม
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังเคยออกมาแชร์วิดีโอที่อ้างว่า บัฟเฟตต์ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจของเขา ซึ่งต่อมา Berkshire Hathaway ต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นนั่นไม่เป็นความจริง
เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า นโยบายของผู้นำประเทศมหาอำนาจนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและทรัพย์สินของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้อย่างไร ถึงแม้จะเป็นคุณจะผู้ที่เคยให้การสนับสนุนเขาก็ตาม
- ที่มาข่าว:theguardian
- ที่มาภาพ:france24