Markus Thielen หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ 10x Research กล่าวว่า ถึงแม้ Bitcoin นั้น อาจจะมีโอกาสเติบโตขึ้นในระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ถึงแม้ว่าผลกระทบระยะยาวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจส่งผลดีต่อ Bitcoin เนื่องจากโดยปกติแล้วจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินตามมาหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่ Thielen เตือนว่า Bitcoin อาจเผชิญกับอุปสรรคก่อนที่จะได้รับแรงผลักดันให้ราคาขึ้น
ล่าสุด (11 เม.ย.) Thielen ได้ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณที่น่าจับตา นั่นคือส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Credit Spread) ที่ยังคงขยายตัวกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นอาจกำลังหยั่งรากลึกเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ
“ด้วยเหตุนี้เอง การคาดหวังแรงกระตุ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่จะส่งผลให้ราคา Bitcoin ขึ้นนั้น อาจจะยังเร็วเกินไป” Thielen กล่าว
ด้าน David Sacks ผู้นำด้านคริปโตและ AI ของทำเนียบขาว ได้ออกมาเรียกร้องให้เฟดมีการลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) เดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นแค่เพียง 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group กลับบ่งชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า ในการประชุม FOMC ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว นักเทรดในตลาดมักมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจนั้น เป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะ Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ให้ปรับตัวสูงขึ้นได้
แต่ Markus Thielen ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในเชิงสถิติว่า ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) เริ่มขยายตัวกว้างขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี มักจะส่งผลให้ Bitcoin เผชิญกับแรงกดดันด้านราคาให้ลดต่ำลง และใช้เวลานานกว่าที่จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้
นอกจากนี้ เขายังเสริมอีกว่า “การอ่อนค่าลงของค่าสกุลเงินดอลลาร์มักจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อตลาดในระยะสั้น ก่อนที่จะกลายเป็นปัจจัยบวกในระยะยาว”
สถานการณ์ที่น่าจับตามองเหล่านี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนค่าลง
ปัจจุบัน ดัชนี US Dollar Index (DXY) เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 100.337 ลดลงถึง 2.92% ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อสกุลเงินหลักของโลก

- ที่มาข่าว:cointelegraph
- ที่มาภาพ:cryptoeconomy