การพุ่งขึ้นของราคาเหรียญ Ripple (XRP) ในช่วงแปดเดือนที่ผ่านมาได้สร้างความสนใจให้กับนักเก็งกำไรเหรียญ cryptocurrency อย่างมาก อีกทั้งยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความขัดแย้งเกี่ยวกับเหรียญดังกล่าวอีกด้วย โดยในขณะที่กำลังรายงานข่าวอยู่นี้ ราคาของเหรียญ Ripple ถูกซื้อขายอยู่ที่ 1.91 ดอลลาร์ต่อเหรียญ และมูลค่าตลาดรวมของมันก็ได้พุ่งขึ้นไปแตะ 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ หลาย ๆ คนสงสัยว่าการพุ่งขึ้นของราคามาสูงขนาดนี้ จะเกิดการ correction ตามมาหรือไม่
Node ฐานข้อมูล VS Blockchain
Ripple (XRP) กำลังมาแรงอย่างมากในสัปดาห์นี้ เนื่องจากว่ามูลค่าของเหรียญดังกล่าวได้เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายของ Ripple และบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของนาม Ripple Labs นั้นได้วางจุดยืนตัวเองให้เป็นผู้ให้บริการโอนเงินแบบครบวงจร โดยมีระบบโพรโตคอลของเครือข่ายที่เรียกว่า real-time gross settlement system (RTGS) ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน distributed ledger หรือตัวบัญชีกระจายศูนย์ระหว่าง node ฐานข้อมูลต่าง ๆ
Node หรือตัว server ที่คอยตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถหยิบยื่น “แรงจูงใจ” ให้กับผู้เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมเหมือนกับระบบอัลกอริทึ่ม proof-of-work (PoW) ของ Bitcoin เนื่องจากว่าเครือข่ายของมันถูกจัดการโดยเซิฟเวอร์ที่มีเจ้าของ นั่นจึงส่งผลทำให้เครือข่าย Ripple นั้นถูกกล่าวหาว่ามีความเป็น Centralized สูงมาก เนื่องจากว่าเซิฟเวอร์เหล่านั้นถูกควบคุมโดยธนาคาร, ผู้คุมตลาด, และบริษัท Ripple Labs สถาบันการเงินที่กำลังใช้บริการของ Ripple อยู่นั้นประกอบไปด้วย Earthpoint, Fidor Bank, Bank of America, HSBC และธนาคารในไทยอย่างไทยพาณิชย์นั่นเอง
การไร้ Proof of work และมีการ Pre-Mine ที่สูงมาก
ด้วยการที่เหรียญดังกล่าวไม่ได้ใช้ระบบ PoW และมี node ส่วนตัวที่เอาไว้ใช้ตรวจสอบธุรกรรม นั่นหมายความว่าเหรียญ XRP นับแสนล้านเหรียญถูกเสกออกมาในช่วงเปิดตัว Ripple Network โดยมีเหรียญ XRP ที่ถูกนำมาหมุนเวียนอยู่ในตลาดราว ๆ 3.8 หมื่นล้าน XRP ในขณะที่ผู้ก่อตั้งของบริษัทก็กลายเป็นผู้ถือเหรียญเหล่านั้นเอง ส่งผลทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ออกมาแสดงความกังวลว่าเหรียญ XRP จำนวนกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญที่บริษัทกำลังถืออยู่นั้นมีมากกว่าเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดเสียอีก
ความน่าสงสัยของนาย Jed McCaleb
Ripple นั้นถูกก่อตั้งในปี 2012 โดยนาย Ryan Fugger (ไรอัน ฟัคเกอร์) และนาย Jed McCaleb โดยในช่วงก่อตั้งนั้นมันถูกเรียกว่า Ripplepay โดยนาย McCaleb นั้นเป็นที่รู้ดีกันว่าเป็นผู้ช่วยให้ Mt Gox กับนาย Mar Karpeles สามารถก่อตั้งและสร้างตัวได้ โดยภายหลังจากนั้นนาย McCaleb ได้ทำการรีแบรนด์ Ripplepay ให้กลายเป็น Ripple และได้ทำการโปรโมทฐานข้อมูลสาธารณะจนกระทั่งปลายปี 2013 นาย McCaleb ก็ได้ลาออกจาก Ripple และออกไปตั้งบริษัทใหม่นาม Stellar network ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัว fork มาจากโค้ดหลักของ XRP แต่มีขั้นตอนการแจกจ่ายเหรียญที่แตกต่างกัน เมื่อปี 2014 มูลค่าตลาดเหรียญ XRP ร่วงลงมาอย่างรุนแรง เนื่องมาจากข่าวลือที่ว่านาย McCaleb กำลังวางแผนขายเหรียญ XRP จำนวนกว่า 9 พันล้านเหรียญของเขา แต่ข่าวลือดังกล่าวก็ยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบันว่าเขาได้ขายเหรียญของเขาจริง ๆ หรือไม่แต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Ripple อีกคนหนึ่งนาย Chris Larsen ได้บริจาคเหรียญ XRP จำนวน 7 พันล้านเหรียญเพื่อการกุศลในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง โดยหลังจากนั้นนาย McCaleb ก็ได้กลายมาเป็นข่าวอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาว่าเขาพยายามขายเหรียญ XRP ชองเขาบนเว็บเทรด Bitstamp ภายหลังทาง Ripple Labs ตัดสินใจว่าการขายดังกล่าวนั้นไม่เกิดผลประโยชน์ต่อทางบริษัทแต่อย่างใด จึงทำให้เหรียญ XRP ของเขาถูกอายัดไว้โดยทางบริษัท ซึ่งบ่งบอกถึงความ Centralized ของเหรียญดังกล่าวอย่างแท้จริง
ระบบ Distributed Ledger กับความสามารถในการอายัดเหรียญได้ทั่วโลก
การอายัดเหรียญ XRP ของนาย McCaleb นั้นส่งผลทำให้บริษัทต้องเผยฟีเจอร์ของ Ripple ที่น่าสนใจออกมา หนึ่งในนั้นก็คือทาง Ripple Labs สามารถอายัดบัญชี XRP ของใครก็ได้ โดยใช้วิธีการสองวิธี วิธีแรกคือการหยุดการทำงานของบัญชีกระเป๋าของบุคคล กับวิธีที่สองคือการหยุดการทำงานของระบบได้ทั่วโลก ความสามารถดังกล่าวนั้นไม่ใช่ข่าวลือแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัท Ripple Labs ได้ออกมาประกาศไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2014 ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ทางตัวแทนของบริษัทยังได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับนักเขียนด้านคริปโตอิสระคนหนึ่งนาม Sean Wince เมื่อเดือนเมษายนปี 2015 เกี่ยวกับการทำงานของฟีเจอร์การอายัดบัญชีดังกล่าว
“ตัวโพรโตคอลของ Ripple จะอนุญาตให้ gateway สามารถตัดสินใจนโยบายของมันเองได้ ดังนั้นผู้ใช้งานมีทางเลือกว่าจะใช้ gateway ที่จะอายัดบัญชี หรือ gateway ที่จะไม่มีการอายัดบัญชี ขึ้นอยู่กับความต้องการของพวกเขา” กล่าวโดยนาง Monica Long หรือรองประธานของฝ่ายการตลาดแห่ง Ripple Labs
“มันเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่จำเป็นสำหรับเกตเวย์ในการทำงานบนการตัดสินใจของมันเอง นอกจากนี้มันยังสามารถรองรับระบบ ecosystem ที่มีประสิทธิภาพโดยทำการลดความเสี่ยงและสามารถปกป้องผู้ใช้งานได้ ถ้าหากผู้ใช้งานคิดว่าเงินของพวกเขาถูกอายัดไว้อย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาสามารถไปฟ้องศาลเอาเองได้”
แม้จะ Centralized แต่ราคา XRP พุ่งกว่า 22,400%
ปี 2018 ก็ใกล้เข้ามาแล้ว และผู้เชี่ยวชาญต่างก็กังวลว่านักลงทุนจะกระโดดเข้าไปซื้อ Ripple เพราะเชื่อว่ามันจะกลายเป็น “Bitcoin ตัวต่อไป” ผู้คนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากว่าบริษัทดังกล่าวนั้นถือจำนวนเหรียญ XRP มากกว่าที่มีทั้งหมดในตลาด อีกทั้งทางบริษัทยังมีอำนาจในการอายัดเหรียญ XRP บนกระเป๋าของใครก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตและมือเก๋าส่วนใหญ่นั้นดูเหมือนว่าจะไม่ชอบ XRP สักเท่าไรนัก เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่ามันไม่ใช่ Blockchain และไม่ควรที่จะได้ไปอยู่บน Coinmarketcap ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนผู้เกลียดชัง Ripple จะมีมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดแม้แต่น้อย เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจกับการทำกำไรมากกว่าที่จะมาพะวงเรื่องทางเทคนิคดังกล่าว
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น