ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขณะนี้วงการเทคโนโลยีทั่วโลกกำลังทุ่มเทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างแข็งขัน จนในปัจจุบันมี AI สุดฉลาดเกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ AI โคลนเสียงที่อาจสามารถช่วยให้ผู้ใช้สร้างเงินหลักล้านได้ ขณะเดียวกัน AI ที่สามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ หรือแปลงข้อความเป็นเสียง ก็ถือเป็น AI ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
การเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ อ.ดร.พงษ์ศธร จันทร์ยอย อาจารย์วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ริเริ่มพัฒนาโปรเจกต์ AI ที่มีชื่อว่า “เว้าจา” ซึ่งเป็น AI ประเภท Natural Language and Speech Processing (NLSP) ที่สามารถแปลงข้อความเป็นเสียงพูดภาษาอีสานได้ โดยมีเป้าหมายคือการอนุรักษ์รากฐานทางวัฒนธรรมและภาษาถิ่นให้คงอยู่ด้วยเทคโนโลยี
“เด็กอีสานสมัยนี้ บางคนแทบจะพูดภาษาอีสานไม่ได้ เราอยากจะใช้เทคโนโลยีที่วิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้คงอยู่” อ.ดร.พงษ์ศธร กล่าว
อ.ดร.พงษ์ศธร เปิดเผยว่าได้เริ่มวิจัยโปรเจกต์นี้ร่วมกับที่ปรึกษาอย่าง ผศ.ดร.พุธษดี ศิริแสงตระกูล ระหว่างการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยในขณะนั้น อ.ดร.พงษ์ศธร เริ่มต้นด้วยการเก็บฐานข้อมูลเสียงภาษาอีสานตอนกลางจากเจ้าของภาษา (Native Speaker) มากกว่า 5,000 ประโยค ความยาวรวมกว่า 6 ชั่วโมง โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลหลายเดือน เพื่อให้ AI สามารถสังเคราะห์เสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติ และในที่สุด AI แปลงเสียงเวอร์ชันแรกก็ถือกำเนิดขึ้นมา
หลังจากนั้น อ.ดร.พงษ์ศธร ก็ได้นำเทคโนโลยี Deep Learning มาใช้ในการพัฒนา เพื่อให้ AI สามารถแปลงข้อความเป็นการออกเสียงภาษาอีสานได้สมบูรณ์ ถูกต้อง และสมจริงมากขึ้น จนเกิดเป็น AI แปลงเสียงเวอร์ชัน 2 หรือก็คือ “เว้าจา” ในปัจจุบัน
ทั้งนี้การใช้งาน “เว้าจา”สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการพิมพ์คำอ่านภาษาอีสานลงไป แล้วจากนั้น AI จะสังเคราะห์เสียงภาษาอีสานทันที และล่าสุด รถขอนแก่นซิตี้บัส ก็ได้นำ AI เว้าจาตัวนี้ไปใช้เป็นเสียงประกาศแจ้งจุดจอดตลอดเส้นทาง จนกลายเป็น Signature ขนส่งสาธารณะของขอนแก่นที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พุธษดี ศิริแสงตระกูล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังกล่าวเสริมไว้ด้วยว่างานวิจัย AI ที่วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ของมข. พัฒนาขึ้นนั้น ไม่ได้มีเฉพาะเว้าจาที่เป็น AI สังเคราะห์เสียง แต่ยังมีการแปลภาษาด้วยเครื่องมือการสืบค้นสารสนเทศ การรู้จำเสียงพูด การรู้จำตัวอักษรโบราณ รวมไปถึงการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่น ๆ อีกด้วย
ในอนาคตจะมีการพัฒนาเว้าจาให้เป็น AI ที่มีความสามารถรอบด้านมากยิ่งขึ้น เช่น การพิมพ์คำภาษาไทยธรรมดา ๆ ให้สามารถออกเสียงเป็นภาษาอีสานได้ หรือแปลงเสียงเป็นข้อความ รวมถึงการแปลภาษาอีสานเป็นภาษากลาง และการสร้าง VOICE BOT คล้าย Siri แต่เป็นการสื่อสารภาษากลางและอีสาน เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ก่อนจะพัฒนาไปสู่ภาษาถิ่นอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจนำ AI “เว้าจา” ไปใช้งาน สามารถติดต่อฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ที่ College of Computing Khon Kaen University
ที่มา: kku