สำนักข่าวเดลินิวส์รายงานว่า กรมสรรพากร ได้ออกคำสั่งกรมสรรพากร เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัฐฎากร โดยมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศ
รายงานข่าวจากกรมสรรพากร แจ้งว่า โดยหลักสากลของการจัดเก็บภาษีเงินได้ คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อนำกลับเข้าประเทศไม่ว่าจะปีไหน ก็จะต้องนำมาคำนวณภาระภาษีในประเทศ กรณีของไทยนั้น เดิมกฎหมายกำหนดว่า ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศในปีใด หากนำเข้ามาในประเทศในปีนั้น จะต้องนำมาคำนวณภาระภาษี แต่หากนำเข้ามาในปีถัดไป หรือปีต่อๆ ไป จะไม่มีภาระภาษี จึงเกิดช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาระภาษี ดังนั้น กรมฯ จึงต้องปิดช่องโหว่ดังกล่าว…
อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า หากผู้มีเงินได้ซึ่งได้เสียภาษีที่ประเทศต้นทางแล้ว จะต้องเสียภาษีในประเทศด้วย จะเป็นการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย และรายได้นั้นได้เสียภาษีในต่างประเทศแล้ว จะได้รับยกเว้นหรือไม่อย่างไร ก็เป็นไปตามที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศ สำหรับระยะเวลาการนำข้อกำหนดดังกล่าวมาใช้ กรมสรรพากรได้ให้เวลาเตรียมตัวพอสมควร โดยจะเริ่มใช้สำหรับเงินได้ปี 2567 ถ้ากรณีเป็นบุคคลธรรมดาก็เสียภาษีในปี 2568
ส่งผลกระทบต่อ Crypto อย่างไร?
อย่างที่รู้กันว่า Crypto เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถถือครองหรือซื้อขายได้จากทั่วโลก สำหรับประเด็นนี้ Crypto สามารถเป็นเงินได้พึงประเมินจากต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
อ้างอิงจากคำสั่งกรมสรรพากร เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร จะเริ่มใช้สำหรับเงินได้ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ถือครองหรือซื้อขาย Crypto ในปี 2567 จะต้องเสียภาษีเงินได้จาก Crypto ในปี 2568
อย่างไรก็ดีคำสั่งดังกล่าวมีข้อยกเว้นในกรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย หากรายได้นั้นได้เสียภาษีในต่างประเทศแล้ว หมายความว่า ผู้ที่ถือครองหรือซื้อขาย Crypto ในต่างประเทศและประเทศดังกล่าวนั้นมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย อาจไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย
ฟีเจอร์ P2P อาจเป็นทางออก
ฟีเจอร์ P2P ที่อยู่ในกระดานเทรดทั่วโลกอาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนคริปโตไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง
เนื่องจากเงินได้จากการซื้อขาย Crypto ที่เกิดขึ้นจากการโอนเงินแบบ P2P นั้นทั้ง 2 ฝ่ายนั้นต้องอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน เงินที่โอนเข้ามานั้นจึงไม่ถือว่าเป็นเงินได้ที่มาจากต่างประเทศ
ดังนั้น ผู้ที่ถือครองหรือซื้อขาย Crypto ในประเทศไทย โดยใช้การโอนเงินแบบ P2P นั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ดังกล่าว (มาตรา 41) แต่อาจจะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตราอื่น ๆ
ที่มา : เดลินิวส์