ในวันนี้ทางสยามบล็อกเชนได้มีโอกาสพิเศษในการเข้าร่วมงานประชุม Southeast Asia Blockchain Convention 2024 (SEABC) ณ กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยภายในงานนั้นได้มีวิทยากรขึ้นมาบรรยายและให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับบทความนี้ Kevin Lee ซีอีโอของเว็บเทรดชื่อดัง Gate สาขาฮ่องกง ได้ทำการบรรยายในหัวข้อ “ อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน และบทบาทของประเทศในกลุ่มอาเซียน”
Lee กล่าวว่าในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ สำหรับมนุษยชาติ ทำให้ในปัจจุบันใคร ๆ ก็เข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันเหล่าผู้เสพสื่ออินเทอร์เน็ตกำลังเจอกับปัญหาใหญ่ โดยที่พวกเขาไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำ เขาได้กล่าวว่ากลุ่มบริษัทสื่อใหญ่ ๆ เช่น Netflix ได้เริ่มนำ AI เข้ามาใช้งานเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การใช้งานแพลตฟอร์มที่ดี เช่นการแนะนำภาพยนต์ที่เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ทว่าบริษัทอื่น ๆ ก็ได้นำความสำเร็จนี้ไปเป็นแบบอย่างด้วยเช่นกัน
ตัวของเขาได้ยกตัวอย่างว่าเป็นเรื่องที่น่าใจหายเป็นอย่างมากที่ในปัจจุบันคอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายคนกลับถูกเหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีทำการบิดเบือนเนื้อหา และหาผลประโยชน์จากผลงานของเหล่าศิลปิน จะเห็นได้จากในปัจจุบันมีคลิปตัวอย่างภาพยนต์ปลอม ๆ จำนวนมากบน Youtube ไม่ว่าจะเป็นการใช้การตัดต่อ หรือ AI ก็ตาม ซึ่งคลิปเหล่านั้นมักจะสอดแทรกเนื้อหาที่เหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีนั้นต้องการให้รับชม ซึ่งอาจนำไปสู่การหลอกลวง โดยคลิปเหล่านั้นกลับมียอดการเข้าชมมหาศาล ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
Lee ยังได้กล่าวถึงปัญหาใหญ่อย่าง “The great SEO Heist” ด้วยเช่นกัน จะให้อธิบายอย่างง่ายคือการ ขโมย SEO มาเพิ่มยอดให้ตนเอง โดยผู้ไม่ประสงค์ดีจะทำการคัดลอก Sitemap หรือหัวข้อบทความ จากนั้นก็นำไปให้ AI อย่าง ChatGPT ผลิตบทความใหม่ออกมา และนำมาสร้างเว็บไซต์ใหม่แข่งกับต้นฉบับ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก และอีกกรณีหนึ่งคือการใช้หน้าม้าที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน โดยการแอบแฝงการทำการตลาดแบบไม่ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ โดยเขาได้ยกตัวอย่าง GPT-4 chan ซึ่งเป็นเว็บบอร์สนทนา ที่เขาเล่าว่าเหล่าผู้คนที่ได้เข้ามาร่วมพูดคุยบางส่วนภายในกระทู้นั้นเป็นทีมการตลาดที่ปลอมตัวเข้ามาเป็นผู้ใช้งานเพื่อชักจูงผู้บริโภค
Lee ระบุว่าภายในปี 2029 หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจจะเข้าสู่ยุคมืดของอินเทอร์เน็ตเลยก็ว่าได้ เนื่องจากผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องใส่ใจรูปแบบของสื่อที่ถูกป้อนเข้ามาอีกต่อไปแล้วพร้อมกล่าวว่า “คอนเทนต์ที่สร้างโดยมนุษย์กำลังกลายเป็นสิ่งหายาก” และพวกเราชาวอาเซียนควรช่วยกันเริ่มต้นช่วยกันตรวจตราคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ต ด้วยจำนวนประชากรกว่า 679 ล้านคน ภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นภูมิภาคสำคัญที่จะเป็นกำลังในการป้องกันไม่ให้อินเทอร์เน็ตกลายสภาพเป็นแบบนั้น ดังนั้น “คุณ” จึงเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาอินเทอร์เน็ตให้มันคงเป็นสถานที่งดงามสืบไป