การผสมผสานอันทรงพลังระหว่างอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนซึ่งอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา ทำให้มีคนตั้งคำถามว่า คนเรายังจำเป็นจะต้องจดจำสิ่งสำคัญต่าง ๆ อยู่หรือเปล่า ในเมื่อความรู้ทั้งโลกนั้นอยู่บนอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว อีกทั้งการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กันอย่างแพร่หลาย ยังอาจทำผู้คนเริ่มมองหาวิธีที่จะลดภาระงานลง หรือแม้กระทั่งหลีกเลี่ยงงานนั้นไปเลย แต่ทว่าสิ่งนี้อาจส่งผลต่อสมองของเราหรือไม่?
ในหมู่ของนักศึกษา การใช้เครื่องมือ Chatbot AI อย่าง ChatGPT มากเกินไปอาจทำให้เกิดการผัดวันประกันพรุ่ง สูญเสียความทรงจำ และผลการเรียนดรอปลง อ้างอิงตามข้อมูลจากงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Is it harmful or helpful? Examining the causes and consequences of generative AI usage among university students”
งานวิจัยฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ลงใน International Journal of Educational Technology in Higher Education และพบว่า นักเรียนที่เผชิญกับภาระงานทางวิชาการ และแรงกดดันด้านเวลาที่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะใช้ ChatGPT มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งงานวิจัยยังพบด้วยว่าการใช้เครื่องมือ AI เพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลเสียต่อเกรดของพวกเขาในที่สุด
“ไม่น่าแปลกใจเลยที่การใช้ ChatGPT มีแนวโน้มว่าจะผัดวันประกันพรุ่งและสูญเสียความทรงจำ และทำให้ผลการเรียนของนักเรียนลดลง” งานวิจัยเขียนเตือน
นักเรียนที่ใช้ ChatGPT บ่อย ๆ จะทำให้พวกเขามีเกรดเฉลี่ยสะสม (CGPA) ที่ต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ได้ใช้ AI ซึ่งนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ AI “เป็นอันตรายอย่างลึกซึ้งต่อความเข้าใจทางสังคมเกี่ยวกับการเรียนรู้ ” ซึ่งมีศักยภาพในการ “ทำลายความคิดสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ”
นักวิจัยยอมรับว่า เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีประโยชน์บางอย่าง โดยระบุว่า นักเรียนที่มุ่งเน้นเรื่อง “ความยอดเยี่ยม ความแม่นยำ และความน่าเชื่อถือในงาน” มีแนวโน้มที่จะใช้ ChatGPT เพื่อช่วยเหลือด้าน “ไวยากรณ์ สไตล์ และความแม่นยำของภาษา” แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาแนะนำให้ผู้คนใช้ AI เมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
“การพึ่งพาแหล่งข้อมูลภายนอกมากเกินไป รวมถึงเครื่องมือ AI เชิงสร้างสรรค์ โดยการไม่มีส่วนร่วม และไม่มีการเรียนรู้เชิงรุก สามารถขัดขวางการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ และความรู้เชิงลึกที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จทางวิชาการ” งานวิจัยเขียนระบุ
แม้ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ไม่ใช่งานวิจัยแรกที่สำรวจผลกระทบของเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยมีนักวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการศึกษาและการทำงานมาแล้วมากมาย
เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scientific magazine Nature ซึ่งสุ่มสำรวจกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี 285 คน และพบว่า การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจส่งผลให้ผู้ใช้ขี้เกียจ และติดการใช้ AI มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมด้านการศึกษา
งานวิจัยกล่าวว่า “ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลต่อสังคมในประเทศปากีสถานและจีน โดยเทียบอัตราส่วนได้ดังนี้ ด้านความเกียจคร้านในมนุษย์มีผล 68.9% ,ด้านปัญหาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย มีผล 68.9% และ ด้านการสูญเสียการตัดสินใจ ล้วนเกิดจากผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ มีผล 27.7% นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ความเกียจคร้านของมนุษย์เป็นด้านที่ได้รับผลกระทบจาก จาก AI มากที่สุด”
นอกจากความกังวลว่าผู้ใช้ AI จะมีความขี้เกียจมากขึ้นแล้ว งานวิจัยนี้ยังเผยให้เห็นว่า การที่ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากเกินไปสำหรับงานง่าย ๆ อาจส่งผลให้สูญเสียทักษะต่างๆ ของมนุษย์ และยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจนำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้นเมื่อต้องใช้ความพยายามทางร่างกายหรือจิตใจในภายหลังอีกด้วย
ที่มาข่าว:decrypt