Gary Gensler ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบาย Staff Accounting Bulletin (SAB) 121 ต่อไป แม้ว่าจะเผชิญกับเสียงคัดค้านจากผู้สนับสนุนคริปโตและนักการเมือง โดยเขายืนยันว่ากฎนี้เป็นเกราะป้องกันสำคัญสำหรับบริษัทที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัล
ในการอภิปรายต่อหน้าสภาคองเกรสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Gensler ต้องเผชิญหน้ากับ Congressman Wiley Nickel ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ SEC ว่าใช้อำนาจเกินขอบเขตในการบังคับใช้ SAB 121 โดย Nickel ระบุว่ากฎดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อนักลงทุนและอุตสาหกรรมคริปโต อีกทั้งยังชี้ว่า SEC ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายอย่างเหมาะสม แต่ Gensler ยังคงยืนหยัดในจุดยืนเดิม
ซึ่งสาเหตุที่ Gensler ยังคงใช้กฎดังกล่าวนั้น เขาได้อธิถายถึงกรณีการล้มละลายของบริษัทคริปโตยักษ์ใหญ่อย่าง FTX, Terraform และ Celsius มาเป็นตัวอย่างเพื่อยืนยันว่ากฎนี้มีความจำเป็นในการป้องกันไม่ให้บริษัทคริปโตต้องล่มสลายเพราะหนี้สินของตัวเอง โดยเขาเรียกกฎ SAB 121 ว่า “เป็นแนวทางการบัญชีที่ดี”
โดย SAB 121 บังคับให้บริษัทที่ถือครองคริปโตต้องรายงานสินทรัพย์เหล่านั้นเป็นหนี้สินในงบดุล ซึ่ง Gensler ระบุว่าสิ่งนี้จำเป็นเพื่อรับมือกับธรรมชาติที่ไม่แน่นอนของคริปโต อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมองว่า กฎนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทที่ให้บริการดูแลสินทรัพย์คริปโตและธนาคารที่เป็นมิตรกับคริปโต เช่น Custodia และ Silvergate
นอกจากนี้ SEC ยังถูกกล่าวหาว่ามีมาตรฐานที่สอง เมื่ออนุญาตให้ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง BNY Mellon ให้บริการดูแลสินทรัพย์คริปโตแก่ผู้ออกกองทุน ETF ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
ในอีกด้านหนึ่ง Congressman Tom Emmer ได้โจมตี Gensler โดยกล่าวหาว่าเขาคิดคำว่า “คริปโตแอสเซทซีเคียวริตี้” (Crypto Asset Security) ขึ้นมาเองเพื่ออ้างสิทธิ์ในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตอย่างรุนแรง และยังตำหนิว่า SEC ภายใต้การนำของ Gensler สร้างความเสียหายต่อการพัฒนาเทคโนโลยีคริปโตอย่างไม่เคยมีมาก่อน
โดย Emmer ได้หยิบยกกรณีการดำเนินคดีผิดพลาดของ SEC ในคดี Debt Box ซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าทนายความกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม Gensler ยอมรับว่ามีความผิดพลาดในกรณีนั้น แต่ยังคงยืนยันว่า SAB 121 จะยังคงอยู่ และ SEC จะยังคงคุมเข้มอุตสาหกรรมที่เขามองว่าเต็มไปด้วยความเสี่ยง
ที่มา: DailyCoin