หลังจากที่ประเทศไทยได้เริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก. ธุรกิจประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลไปได้ไม่นานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาตรการ และกฎหมายสำหรับอุตสาหกรรมคริปโต และ Blockchain แบบครบวงจร
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หน่วยงานต่าง ๆ ในไทยจะเริ่มตื่นตัวต่อ Cryptocurrency ว่ามันมีศักยภาพระดับไหน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการรายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งประเทศไทย (ปปง.) กำลังพิจารณาที่จะสร้างกระเป๋าเก็บเงินดิจิทัลของพวกเขาเอง เพื่อทำการตรวจสอบพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการโจรกรรมทางคริปโต
ทำไมปปง. ต้องสร้าง Wallet ?
หนึ่งในข้อดีของ Cryptocurrency คือความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมออนไลน์ จริงอยู่ข้อมูลต่าง ๆ ในเครือข่าย Bitcoin นั้นมีความโปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ว่า Wallet ไหนส่งไปยัง Wallet ไหน, ส่งไปจำนวนเท่าไร หรือส่งไปในเวลาใด แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ได้ว่าเจ้าของ Wallet นั้นคือใคร
แตกต่างจากการทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ที่ธนาคารจะรู้ข้อมูลทั้งหมดว่าเจ้าของบัญชีเป็นใครอยู่ที่ไหน เนื่องจากเมื่อเปิดบัญชีที่ธนาคาร ผู้เปิดต้องให้ทั้งบัตรประชาชน และกรอกข้อมูลต่าง ๆ ลงไปทั้งหมด แต่การสร้าง Wallet ที่เปรียบเสมือนบัญชีธนาคารสำหรับคริปโตนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารใด ๆ ทั้งนั้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ปปง. มีความกังวลว่า Cryptocurrency อาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้กระทำผิดกฎหมาย เช่นผู้ที่ทำการโจรกรรม หรือผู้ที่ทำการฟอกเงินได้ เพราะว่ามันสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างดี เลยเป็นเหตุผลว่าทำไม ปปง. ถึงไม่นิ่งเฉย และคิดมาตรการมาต่อต้านให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
อ้างอิงจากแหล่งข่าว นาย วิทยา นีติธรรม เลขาธิการปปง. กล่าวว่า:
“เราได้หารือกันแล้วว่า อาจจะมีการสร้าง “AMLO Wallet (กระเป๋าเก็บคริปโตต่อต้านการฟอกเงิน) เพื่อที่เราจะสามารถยึดหลักทรัพย์คริปโตที่ได้มาโดยผิดกฎหมายได้”
คำถามที่ตามมา
การสร้าง Wallet ขึ้นมาให้ทุก ๆ คนใช้นั้นคงไม่เป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงของหน่วยงานระดับประเทศอย่าง ปปง. แต่คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อ ปปง. สร้างขึ้นมาแล้ว จะมีวิธีไหนให้ทุก ๆ คนหันใช้ Wallet นั้น
นอกจากนี้ ปปง. อาจจำเป็นต้องบังคับให้ผู้ใช้ทำการ KYC (ยืนยันตัวตน) แต่ละ Wallet เพื่อที่จะได้รู้ว่าคน ๆ นี้ทำธุรกรรมอะไรไว้บ้าง และจำเป็นต้องหาวิธีบังคับให้ผู้ใช้งานใช้แค่ Wallet ของพวกเขาอย่างเดียว เนื่องจาก หากปปง. สามารถบังคับผู้ใช้ให้ใช้ Wallet และทำการ KYC ได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถทราบได้อยู่ดีว่า ผู้ใช้คนนั้นมี Wallet อื่น ๆ หรือไม่
จริง ๆ แล้วมาตรการดังกล่าวอาจเกินความจำเป็นก็เป็นได้ เนื่องจากในต่างประเทศ เคยมีเคสสำหรับการอายัด Bitcoin เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง โดยล่าสุดที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ดำเนินการอายัด Bitcoin กว่า 191 BTC เนื่องจากเผยแพร่หนังผู้ใหญ่ที่มีเด็กแสดง ซึ่งผู้กระทำผิดได้ถูกตัดสินจำคุกและปรับเงินเป็นจำนวนกว่า 640,000 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตามแต่ละคดี ก็ไม่ได้มีการระบุโดยละเอียดว่า สืบสวน หรือบีบบังคับอย่างไรจึงจะสามารถอายัด Bitcoin ได้ ทางหน่วยงานรัฐอาจจะใช้วิธีการใช้หลักฐานอื่น ๆ ที่มีการรัดตัวที่แน่นหนาในการหว่านล้อมว่าพวกเขาสามารถเอาผิดได้ ผู้กระทำผิดเลยยอมบอกความจริงออกมาก็เป็นได้
ผู้เขียนคิดว่า การที่สร้างหน่วยงานพิเศษเพิ่มขึ้นมาต่อกรกับ Cryptocurrency ที่ผิดกฎหมายอาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีนั้นก้าวไปข้างหน้าตลอด แต่ระบบที่ใช้ในการตรวจสอบอาจจะเป็นแบบดั้งเดิมอยู่เลยไม่สามารถติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานใหม่นี้อาจจะรวบรวมผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และมีระบบที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เช่นกันในการปราบปรามการผิดกฎหมายเหล่านี้
สรุป
การที่ปปง. เล็งเห็นว่า Cryptocurrency สามารถเป็นเครื่องมือในการทำสิ่งผิดกฎหมายได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แปลว่าหน่วยงานภาครัฐเริ่มรับรู้ถึงศักยภาพของ Cryptocurrency มากขึ้น แต่การที่ออกมาตรการในการสร้าง Wallet เพื่อที่จะนำมาอายัดหลักทรัพย์คริปโตที่ผิดกฎหมายนั้นอาจจะจำเป็นต้องใช้เวลาในการออกมาตรการอื่น ๆ มาเสริมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับผู้ใช้ หรือการตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะไม่ใช่ Wallet อื่น ๆ ในการกระทำผิดกฎหมาย
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น