ธนาคารแห่งประเทศเกาหลี (BOK) กำลังเตรียมพัฒนาระบบบล็อกเชนใหม่สำหรับตลาดตราสารหนี้ของเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
อ้างอิงจากสื่อข่าวการเงินของเกาหลี Yonhap Infomax ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า ธนาคารกลางเกาหลีกำลังมองหาบริษัทที่สามารถสร้างระบบบล็อกเชนขึ้นมาใหม่เพื่อทำการปรับปรุงการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลสำหรับตลาดตราสารหนี้
ระบบบล็อกเชนใหม่นี้จะช่วยให้การทำธุรกรรมตราสารหนี้ถูกจดบันทึกลงในระบบบล็อกเชนหรือแม้กระทั่งการช่วยสร้าง “ระบบการซื้อขายและระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์” เจ้าหน้าที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อข่าว Yonhap ว่า ระบบดังกล่าวนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึง BOK และคณะกรรมาธิการการค้า (FTC) ซึ่งเป็นผู้ดูแลทางการเงินของเกาหลี
ตลาดพันธบัตรของเกาหลีเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย อ้างอิงจากเว็บไซต์ข้อมูลทางการเงิน Cbonds รัฐบาลเกาหลีได้มีการออกพันธบัตรอยู่เป็นประจำ ซึ่งในขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติก็สามารถซื้อพันธบัตรนี้ได้ เกาหลีใต้ได้กลายเป็นผู้นำระดับภูมิภาคอย่างรวดเร็วด้วยการเปิดตัวพันธบัตรรัฐบาล เช่น พันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) ซึ่งเราจะเห็นว่าเกาหลีมีการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 2019 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่แซงหน้าประเทศจีนไปแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียวในแง่ของการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาล
BOK กล่าวว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากธนาคารโลก ซึ่งสามารถระดมทุนได้ไปทั้งสิ้นกว่า 108 ล้านดอลลาร์จากการขายพันธบัตรทั้งสองครั้งที่ทำขึ้นบน ethereum blockchain เวอร์ชั่นส่วนตัวด้วยการร่วมมือกับทาง Commonwealth Bank of Australia
อย่างไรก็ตามมันยังไม่ชัดเจนว่าโปรเจคบล็อกเชนที่นำเสนอโดย BOK นั้นจะถูกรวมเข้ากับพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลด้วยหรือไม่ หรือมันจะนำไปใช้กับตราสารหนี้ของภาคธุรกิจหรือไม่ ในทำนองเดียวกันมันก็ยังไม่ชัดเจนว่าแพลตฟอร์ม ‘blockchain bond’ ตัวใหม่นี้จะสามารถรองรับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางด้วยหรือไม่
ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2019 Bank of Korea (BOK) ได้มีการวางแผนจัดตั้งกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษาค้นหาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC)
อ้างอิงจากเอกสารนโยบายทางการเงินของปี 2020 ที่ได้เผยแพร่ออกมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2019 ว่าทาง BOK กำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี Distributed Ledger สินทรัพย์คริปโตและเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง เพื่อนำประโยชน์ของมันมาประยุกต์ใช้ภายในประเทศ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงินและการโอนเงิน
ที่มา : coindesk
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น