เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. ได้ประกาศเพิ่มประเภทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ภายใต้การกำกับดูแล 2 ประเภท ได้แก่ “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อให้การกำกับดูแลมีความครอบคลุม รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเพิ่มการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดให้ธุรกิจประเภท “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่เพิ่มเติมแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจ “ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า จะได้รับบริการที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น เช่น การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นผู้ให้บริการลูกค้า ตลอดจนมาตรฐานการติดต่อและให้บริการลูกค้า การจัดการและจัดเก็บรักษาทรัพย์สินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องของลูกค้า การดำรงเงินกองทุน รวมถึงกำหนดการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (outsource) ซึ่งจะนำมาใช้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทให้มีความเหมาะสมมากขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ เช่น การกำหนดสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) การกำหนดคุณสมบัติผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล หลักเกณฑ์การโฆษณาส่งเสริมการขาย การจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (Introducing Broker Agent) และการเปิดเผยรูปแบบการทำธุรกรรมการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
ดูเหมือนว่าหลังจากที่มีการประกาศออกมาจากทางก.ล.ต. เรื่องนี้ก็ได้เป็นที่ฮือฮาในวงการคริปโตไม่น้อย โดยเมื่อนานมานี้กูรูคริปโตชื่อดังของไทยนาย พิริยะ สัมพันธารักษ์ ได้แชร์มุมมองส่วนตัวพร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“ถ้าระบบ Licensing มันสามารถสร้างคุณประโยชน์ใด ๆ ได้จริง ทุกวันนี้ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่ประชาชนมีวินัยบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ด้วย requirement ผลสอบ 95% เพื่อ license การขับรถ แต่ไม่เลย ได้ยินเสียงแว่ว ๆ มาจากงานวันก่อนนี้ว่าปีหน้าไทยอาจมี license สำหรับการวิเคราะห์บิตคอยน์และคริปโตเคอเรนซีแล้วนะครับ ประเทศเราจะเต็มไปด้วยนักวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ ซื้อขายตามได้สบายๆกันเต็มไปหมดเลยย (ประชด)”
ดูเหมือนว่าการประกาศจากก.ล.ต. ในครั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล เพื่อเพิ่มการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนให้ดูมีความเหมาะสมมากขึ้น และช่วยไม่ให้นักลงทุนคริปโตชาวไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกฉ้อโกงจากธุรกิจด้านคริปโตของผู้ประกอบการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีหลายคนที่มองว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้อาจไม่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจคริปโตในไทย ซึ่งเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องราวนี้จะจบลงอย่างไร