KBGT หรือ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป นั้นเป็นหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่างๆ และปัจจุบันดูแลแอปพลิเคชันกว่า 500 แอปฯ ให้กับธนาคารกสิกรไทย และแน่นอนว่าแอปพลิเคชัน K PLUS ที่เราใช้โอน-รับเงิน สแกนพร้อมเพย์ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านมือถือก็เป็นผลงานของ KBTG เช่นกัน
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ปหรือ KBTG เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะเข้าสู่จุดหักศอกในปี 2567-2568 ซึ่งเทคโนโลยีจะมีการเทคออฟเร็วขึ้น และจากนั้นในช่วงปี 2571 – 2573 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีโควิดเข้ามาเป็นปัจจัยเร่งที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนคาดไว้ ดังนั้น องค์กรที่จะอยู่รอดได้จะต้องปรับตัวให้ทัน
KBTG มีภารกิจในการนำเทคโนโลยีสร้างสรรค์บริการดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นสถาบันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ก้าวทันความต้องการของลูกค้า และพร้อมรับทุกกระแสความเปลี่ยนแปลงจึงได้เดินหน้าทรานสฟอร์มองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยการทรานสฟอร์มเฟสแรก ในช่วงปี 2562-2563 ได้เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างองค์กร ทำความเข้าใจความต้องการของพนักงานในเชิงลึก (Empathy) มองพนักงานเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการทำพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีให้ทันสมัย ทั้งด้านข้อมูล โครงสร้างพื้นฐานและแอปพลิเคชันบริการต่างๆ ที่มีกว่า 400 รายการ ต่อมาในปี 2563 ได้เกิด Innovation Runway ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่องค์กรใช้ในการสร้างนวักตรรมบริการด้วยการทำงานแบบ Agile และสร้างความพร้อมของทีมงานที่จะทำงานได้จากทุกที่
ปัจจุบัน KBTG มีบริษัทเทคโนโลยีในประเทศจีนภายใต้ชื่อ K Tech ซึ่งจะมีการรับสมัครพนักงานด้านเทคโนโลยีเพิ่มอีก 80 คน ส่วนที่เวียดนาม ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจสาขาที่นั้น ทาง KBTG ก็เดินหน้าจัดหาพนักงานด้านเทคโนโลยีที่มีคุณภาพกว่า 100 คน เข้ามาร่วมงาน โดยจะต้องจัดทีมที่เวียดนามภายในไตรมาสสามปีนี้ พร้อมขับเคลื่อนเพื่อการแสวงหาเทคโนโลยีและการพัฒนาบริการดิจิทัลแบงกิ้งสำหรับธนาคารกสิกรไทยในการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งระดับภูมิภาค
เทรนด์เทคโนโลยีที่ KBTG ได้เริ่มเข้าไปสำรวจและเตรียมความพร้อมแล้วก็คือ ระบบการเงินที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาจัดการแทนตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน (Decentralized Finance หรือ DeFi) ทั้งนี้ KBTG ได้จัดตั้ง Kubix บริษัทในกลุ่ม KBTG เข้าไปนำร่องการทำ DeFi ด้วยการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้าง ICO Portal ทางเลือกใหม่ในการระดมทุนหรือลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล(Digital Asset) ซึ่งการระดมทุนดังกล่าวนี้จะดำเนินการโดยการแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบโทเคนดิจิทัล แล้วระดมทุนผ่านการทำ Initial Coin Offering หรือ ICO โดยมี ICO Portal เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุนในตลาดแรก
นั่นความหมายความ Defi ของ KBTG จะเป็น Defi แบบที่มีสินทรัพย์มารองรับ ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ธุรกิจในการระดมทุน และเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน สร้างการเข้าถึงทางการเงิน (Financial Inclusion) ทั้งนี้ KBTG เชื่อว่าการเงินที่มีศูนย์กลางโดยสถาบันการเงิน หรือ CenFi และการเงินแบบ Decentralize หรือ Defi จะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยผู้ให้บริการที่มีความพร้อมที่สุด
นายเรืองโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า KBTG ตั้งเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีแห่งภูมิภาคเต็มรูปแบบ ภายในปี 2568 พร้อมรองรับธนาคารกสิกรไทยที่จะขยายสู่ภูมิภาคด้วยแนวทาง asset light และแบบ digital first ด้วยความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพบุคลากร การรีสกิล ทักษะด้านภาษา และวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายปี 2564 จะมีพนักงาน KBTG ทั่วภูมิภาค เพิ่มจาก 1,500 คน เป็น 1,900 คน
การเคลื่อนไหวของกสิกรในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า เทคโนโลยีของคริปโตอาจจะไม่ใช่การเข้ามา disrupt ภาคธนาคารไปซะทีเดียว แต่ธนาคารใดที่มีการปรับตัวพวกเขายังจะสามารถอยู่รอดได้ต่อไป และเติบโตขึ้นไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีนี้