<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับเกณฑ์เก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าของผู้ประกอบการคริปโต

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งรวมถึงการเก็บรักษาเงิน และการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปจัดหาประโยชน์ให้แก่ลูกค้า เพื่อยกระดับการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ก.ล.ต. มีนโยบายที่จะยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจ) ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจด้านการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทรัพย์สินของผู้ซื้อขายที่เก็บรักษาไว้กับผู้ประกอบธุรกิจมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน รวมทั้งมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ

ก.ล.ต. จึงเสนอออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติ ดังนี้

1) การเก็บรักษาทรัพย์สินประเภทเงิน โดยการดำเนินการถอนหรือโอนเงินในบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ให้เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจอนุมัติ หลักการมอบอำนาจลงนามแบบหลายบุคคล (multi-sign) และหลักการตรวจสอบถ่วงดุล ทำนองเดียวกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล

2) การเก็บรักษาทรัพย์สินประเภทเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่นำทรัพย์สินของลูกค้ารายหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายอื่นหรือบุคคลอื่นใด รวมทั้งต้องมีการสอบทานทรัพย์สินลูกค้าเพื่อความถูกต้องและเป็นปัจจุบันทุกวันทำการ

3) การนำทรัพย์สินของลูกค้าไปจัดหาประโยชน์ โดยห้ามนำเงินของลูกค้าไปหาดอกผลด้วยวิธีการอื่นนอกจากฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่สามารถตกลงกับลูกค้าเพื่อกำหนดอัตราดอกผลที่จ่ายให้แก่ลูกค้าได้โดยต้องไม่เกินอัตราที่ได้รับจริงจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ห้ามนำไปหาดอกผลซึ่งรวมถึงการให้บุคคลอื่นยืม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับ

ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=739 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] และ [email protected] จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2564


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์