<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ผู้เชี่ยวชาญแนะผู้ออกกฎหมาย Cryptocurrency ในไทย “ศึกษาก่อนลงมือทำ”

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ว่าด้วยเรื่องของกฏหมายเงินดิจิทัล….

พ.ร.ก.เงินดิจิทัลที่เผยแพร่ตามสื่อในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงพอทราบกันดีแล้วว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสนใจและคงเป็นประเด็นต้องพูดถึงคงไม่พ้น เรื่องที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในกลุ่มนักลงทุนคริปโต ก็คือ การเก็บภาษี

ขณะที่มุมมองของกูรูด้านเทคโนโลยีมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่ากฎหมายที่ออกมาไม่ควรปิดกั้นเทคโนโลยีที่กำลังมา  ทางสยามบล็อกเชนได้มีโอกาสสัมภาษณ์กูรูทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในวงการ Blockchain และ Cryptocurrency ในไทยมานาน


คุณต้น สกลกรย์ หรือผู้ก่อตั้งกลุ่มชุมชน Bitcoin Thai Club และอดีต CEO ของบริษัทเกม Gareana กล่าวถึงมุมมองต่อภาษีว่า มันเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายๆ คนมองว่าบิทคอยน์หรือคริปโตเคอเรนซี่อาจจะขึ้นมาอยู่บนดินสักที หลังเมื่อก่อนมองว่าเป็นสิ่งหลอกลวง ซึ่งภาครัฐก็ให้การยอมรับและต้องมีการควบคุม

“เราคาดหวังว่าการออกพ.ร.ก.จะทำให้สตาร์ทอัพในบ้านเรา หรือ ecosystem cryptocurrency เติบโตดีขึ้นกว่าเดิม อย่างที่เคยบอกว่าคริปโตเคอเรนซี่เมื่อก่อนอยู่ใต้ดิน ตอนนี้ขึ้นมาอยู่บนดินแล้วก็อยากให้ถูก regulate อย่างถูกต้อง”

ในขณะเดียวกัน เขามองว่าการเก็บภาษี 15% กับการซื้อขาย ICO นั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เป็นอะไรที่ควรยกเว้นไปเลย เพราะ ico เป็นทางออกใหม่ของสตาร์ทอัพที่อยู่ในประเทศไทยจากเมื่อก่อนที่ต้องไปนั่งขอเงิน VC ตอนนี้ ico ทำให้ง่ายขึ้น ทำให้หลายคนมีทางออกมากขึ้นในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ innovation หรือ internet เพราะมันเปิดกว้าง ใครอยากทำก็ประกาศขาย ico แต่การควบคุมจริงๆ ควรจะควบคุม ico เหล่านั้นมากกว่าการให้ผู้ลงทุนจ่ายภาษี

หรือจะกลับไปขี่ม้าและเขียนจดหมาย?

คุณท๊อป จิรายุส อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Coins.co.th หรือเว็บขายเหรียญ Bitcoin แรก ๆ ของไทย มีมุมมองที่ระบุว่า กฎหมายมักเดินตามหลังเทคโนโลยีตลอดและจากกฎหมายที่ฟังออกมาคร่าวๆ มันไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไหร่ เพราะการออกกฎหมายต้องมีความเข้าใจในด้านของเทคโนโลยี ถ้าคนที่ออกกฎหมายเข้าใจจริงๆ ว่าคริปโตเคอเรนซี่หรือบล็อกเชนมันมาทำอะไร ซึ่งเป้าหมายสำคัญของคริปโตเคอเรนซี่หรือบล็อกเชนคือการเอาตัวกลางออก ลดต้นทุน

โดยเขาได้อธิบายเชิงเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปัจจุบันว่ามีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ Red Flag Act ในศตวรรษที่ 19 ที่รัฐบาลอังกฤษเคยออกกฎหมายเพื่อควบคุมและกำกับรถยนต์ที่ในสมัยนั้น ด้วยการบังคับให้ผู้ใช้รถยนต์ต้องมีวิศวกรและผู้ถือธงแดงคอยนำหน้ารถยนต์เพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บนถนน เนื่องจากว่ารถยนต์ในขณะนั้นยังถือเป็นของที่ใหม่มาก และในศตวรรษที่ 19 การใช้รถม้าเพื่อเดินทางถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็ไม่ต่างจาก cryptocurrency ในตอนนี้เช่นกันที่ยังใหม่มาก และการโอนเงินผ่านธนาคารคือเรื่องปกติ

“เรื่องของกฎหมายอยากให้เป็นอะไรที่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย ตอนนี้โลกของเราขยับเร็วมากๆ เพราะฉะนั้นกฎหมายก็ต้องมีความ flexible ตามเช่นเดียวกัน อย่างเช่นถ้าคุณออกกฎหมายให้คนถือธงนำหน้ารถ มันก็ต้องเป็นอะไรที่เปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว”

เขาเผยว่าความรู้สึกในการใช้ cryptocurrency นั้นไม่ต่างจากการได้ลองเปลี่ยนจากการขี่ม้ามาขับรถยนต์ และจากการเขียนจดหมายมาเขียนอีเมล์แทน ซึ่งความรู้สึกนั้นยากเกินที่จะกลับไปหาของเดิมได้

ข้อเท็จจริงคือภายหลังกฎหมายดังกล่าวในประเทศอังกฤษถูกแบนในปี 1896 และก็ค่อย ๆ หายไปภายในปี 1898 เนื่องจากว่าอัตราการปรับใช้งานรถยนต์ของประชากรในประเทศอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับความต้องการของรัฐบาลในการจำกัดการใช้งานสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “เครื่องจักรแห่งความตาย” ดังกล่าว โดยคุณท็อปเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าเป็น “ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอังกฤษต่อประชาชน”

มองเทคโนโลยีเป็นหลัก ประเทศจะได้ผันตัวเป็นผู้ผลิต ไม่ใช่คอยเป็นแต่ผู้ซื้อ

คุณแบงค์ สถาพน ผู้ก่อตั้งบริษัท Smart Contract Thailand เผยว่า อยากให้มองในแง่ของ ecosystem ที่จะเกิดขึ้นจากการที่สามารถ Enable ตัว crypto economic ขึ้นมา มันจะทำให้มีผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เราสามารถดึงดูด Talent ต่างๆ จากต่างประเทศ จนวันนึงเราอาจสามารถเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี แทนที่จะเป็นผู้ซื้อเหมือนทุกวันนี้

เช่นเดียวกับการออกกฎหมายหวังว่าสิ่งที่ออกมาจะนำพาประเทศไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้ โลกในอนาคตจะเป็นเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยต้นทุนการผลิต หรือวิธี ความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเดิมๆ แต่มันกำลังจะมีวิธีคิดใหม่

“กฎที่ออกมามันหวังดี แต่ไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปกับที่ได้มา มันอาจจะไม่คุ้มกัน ดังนั้นควรมองที่เทคโนโลยีเป็นหลัก ให้กฎเหล่านี้ที่สร้างขึ้นมาสุดท้ายมัน Enable ให้เกิดเทคโนโลยีที่ในวันนึงเราสามารถเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีขายได้ ไม่ใช่เป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีอย่างเช่นทุกวันนี้”

ขอ Public Hearing ฟังเสียงประชาชนบ้าง

คุณแม็กซ์ ธีระชาติ ผู้ก่อตั้ง StockRadars กล่าวว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ของใหม่เกิดมาแต่กฎระเบียบเป็นของเก่า การใช้วิธีแบบเก่ามันอันตรายมากเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แน่นอนกับสิ่งที่มัน Dezentralized ขนาดนี้ ซึ่งอาจจะเสียโอกาสหรือตกรถเวฟใหม่ของประเทศ เพราะถ้าออกกฏเร็วเกินไปแล้วไม่ได้ระวังให้ดี

“ถ้าถูกเร่งรัดด้วยกรอบของเวลา บางทีไม่ชัวร์มันก็ต้องคุมไว้ก่อน เมื่อคุมไว้ก่อน สิ่งที่คุมไว้อาจไม่มีโอกาสกลับมาแก้อีกแล้ว”

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้นึกถึงไทยแลนด์ 4.0 ที่ประเทศไทยพยายามผลักดัน และขอให้ภาพเอกชนได้เข้าไปแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นบ้างว่ากฎหมายที่แท้จริงควรเป็นไปในทิศทางใด

เช่นเดียวกับคุณเอิร์ท ปกรณ์วุฒิ ผู้ก่อตั้ง Bitcoin Center ที่มองว่าอยากให้มีการเรียกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจจริงๆ อาทิ exchange / Trader/ Mining/ ICO ได้เขาไปเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เขาทำ หรือสิ่งที่เขาพบเจอว่าอะไรที่จะส่งผลกระทบกับเขาในกฎหมายเหล่านี้ แล้วกฎหมายแบบไหนที่พอจะแก้ไขปัญหาได้ หรือแม้แต่การควบคุมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ซึ่งกฎหมายที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันไม่ได้มาจากความเข้าใจภาพธุรกิจ เทคโนโลยีนี้มันไม่มีพรมแดน การแก้ปัญหาด้วยการควบคุมกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ให้คนหนีไปที่อื่น สุดท้ายมันไม่ได้แก้ปัญหา มันจะปิดกั้นโอกาสประมาณหนึ่ง

“กฎหมายของบ้านอื่นที่พัฒนาแล้วเขาจะสมมติฐานว่าตัวเองเป็นคนดี จะออกกฎหมายโดยที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่กลายเป็นคนเลว แต่บ้านเราชอบออกกฎหมายโดยที่คิดว่าทุกคนเป็นคนเลว จะห้ามคนทำทุกอย่าง มันจะกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสและส่งผลเสียมากกว่าผลดี”

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain และ Cryptocurrency ดังกล่าวมีขึ้นเมื่อสองวันที่ผ่านมา ก่อนการแถลงข่าวไฟเขียวร่าง พรก. เงินดิจิตอลเมื่อวานนี้

ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน: สุดท้ายแล้วกฎหมาย กฎเกณฑ์  หรือการกำกับดูแล เรื่องเงินดิจิทัล ที่จะออกมาแล้วมีผลบังคับใช้เป็นอย่างไร ก็คงไม่สำคัญเท่ากับการที่หน่วยงานต่างๆ เปิดใจศึกษาทำความเข้าใจ และเรียนรู้ ว่ากระบวนการของเทคโนโลยีตัวนี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร และหวังว่ากฎหมายที่ออกมานั้นจะไม่ปิดกั้นการทำงานของเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกตัวนี้ เพราะมันไม่ได้มาหาเราบ่อยๆ

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น