รายงานล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยเผยให้เห็นถึงผลการทดสอบโครงการเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ที่ถูกสร้างโดยธนาคารเอง นามว่า ‘อินทนนท์’ โดยเป็นโครงการทดสอบระบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยการใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ธนาคารกลางเป็นผู้ออก โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ หรือ Distributed ledger technology (DLT) มาใช้ในระบบการชำระเงินของประเทศ
โดย DLT นั้นถือเป็นเทคโนโลยีประเภทแบบการเก็บข้อมูลแบบแยกศูนย์ หนึ่งในนั้นก็คือ Blockchain ที่เราคุ้นเคยกันดี และถือเป็นต้นแบบที่เหรียญคริปโตหลาย ๆ เหรียญบนโลกนี้กำลังใช้มันอยู่นั่นเอง
ทั้งนี้ในระยะที่ 1 คือช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาถึงเดือน มกราคม 2562 จะเป็นการทดสอบโดยการนำเทคโนโลยี DLT มาใช้กับการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยได้รับความร่วมจากธนาคารแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัท R3 และธนาคารพาณิชย์อีก 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ตามที่ทางสยามบล็อกเชนเคยรายงานไปแล้วก่อนหน้านี้
ผลการทดสอบในระยะที่ 1
เทคโนโลยี DLT สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการชำระเงินได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการทดสอบและศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบด้านอื่น ๆ ก่อนที่จะนำมาใช้จริง เช่น ความเสถียรของระบบ ความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น โดยส่วนหนึ่งของรายงานกล่าวว่า
“มีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบ การชำระเงิน ทั้งการลดต้นทุนการบริหารจัดการสภาพคล่อง การขยายเวลาการโอนเงิน และการช าระดุล ระหว่างสถาบันการเงินนอกเวลาทำการ”
ส่วนระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ จะยังคงเป็นการทดสอบการนำเทคโนโลยี DLT มาใช้อยู่แต่จะมุ่งไปที่ 2 ด้านหลักดังต่อไปนี้
- ธุรกรรมซื้อขายและซื้อคืนระหว่างสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ธปท.
- การกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินสำหรับลูกค้า
ก่อนหน้านี้ทางเราได้รายงานไปแล้วว่า ดร.อัมพร แสงมณี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรองสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าโปรเจ็คเหรียญดังกล่าวนั้นจะมีความเป็น decentralized และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมได้ โดยเขากล่าวเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ว่า
“เทคโนโลยี Distributed Ledger นั้นจะสามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมและยังเสริมสร้างความน่าเชื่อถือสูงเพราะทุก ๆ คนจะเห็นข้อมูลที่เหมือนกันนั่นเอง และก็ยังมีตัว Encryption ซึ่งตัว Encryption นี้จะทำให้ทุกคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถทำงานได้ โดยไม่มีต้องมีตัวกลาง”
ทว่าอย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดเผยว่าทางแบงค์ชาติอาจจะต้องใช้เวลาสักครู่หนึ่ง กว่าจะได้นำมาใช้จริง เนื่องจากว่า
“จำเป็นต้องทดสอบขีดความสามารถและศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่มีจำนวนมาก ความปลอดภัยด้านข้อมูล และความเสถียรของระบบโดยรวม”
โครงการดังกล่าวนั้นเป็นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากว่าเป็นโปรเจ็ตด้าน Cryptpocurrency ตัวแรกที่มาจากแบงค์ชาติโดยตรง และด้วยการที่ผลการทดสอบนั้นออกมาเป็นบวก นั่นหมายความว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นการนำเอาเหรียญดังกล่าวมาใช้ช่วยในระบบการโอนเงินทั้งในประเทศไทย และหว่างประเทศก็เป็นได้
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น