<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

อดีตผู้บริหาร Johnnie Walker ชาวไทยพัฒนาระบบจ่ายเงินด้วย Bitcoin เพื่อร้านค้าเล็งใช้ทั่วอาเซี่ยน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ทุกวันนี้เราได้เห็นเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมามากมาย เว็บเทรดและ Exchange ด้านคริปโตก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมามากในทุกวันนี้ เราได้เห็นผู้คนในวงการอื่น ๆ หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ เข้ามาทำธุรกิจทางด้านคริปโตมากขึ้น ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในตัวเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซีนั้นมีมากขึ้นแล้ว

ล่าสุดทางสยามบล็อกเชนได้ทำการสัมภาษณ์ไปยังดร. พาวุฒิ ศรีอัญญากุล (ดร.ผ้า) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด อดีตผู้บริหารแบรนด์บรั่นดีชื่อดัง Johnnie Walker ซึ่งตัวเขาเองก็ได้มองเห็นศักยภาพของคริปโตและได้เริ่มผันตัวมาทำธุรกิจทางด้านนี้โดยตรง

เริ่มต้นรู้จักคริปโต

ส่วนตัวดร. พาวุฒิในตอนนี้ได้นั่งแท่นเป็นผู้บริหารของบริษัทด้านคริปโต โดยเขานั้นจบการศึกษาจนถึงปริญญาเอก สาขา General Management จากมหาวิทยาลัย Singapore Management University และมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจ Nightife & Entertainment และมีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการและการพัฒนา Global Luxury Brands โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาฝ่ายขาย และฝ่ายการตลาด

ดร. พาวุฒิ ศรีอัญญากุล

ด้านดร. พาวุฒิก็เผยในระหว่างการสัมภาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนว่าที่รู้จักอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีได้นั้นก็เพราะได้มีคนมาพูดคุยกับเขาเรื่องโปรเจคลงทุนคริปโตเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะมีมูลค่าจากนั้นก็เริ่มศึกษาเทคโนโลยีเองในภายหลังซึ่งก็ค้นพบว่ามันมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าได้จริง

โลกทุกวันนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนไม่ว่าคุณจะทันสังเกตหรือไม่ ด้านดร. พาวุฒิก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีทั้ง 3 สาขาที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากซึ่งก็คือเทคโนโลยี Blockchain, AI และ Big Data

ส่วนตัวของดร. พาวุฒินั้นมองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมันมีบทบาทในภาคธุรกิจและส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง โดยกล่าวว่า:

“พวก Mobile Device มันสามารถเอามาใช้ร่วมกับการชำระเงินได้ และมันสามารถเอาไปใช้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้”

และเมื่อได้ศึกษาเทคโนโลยีอย่างจริงจังแล้วเขาก็ได้ตัดสินใจเข้ามาทำโปรเจคด้านคริปโตโดยตรงพร้อมชี้ว่าพื้นที่เติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชนยังมีอีกมาก รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ และแม้แต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง Facebook เองก็ก้าวเท้าเข้ามาในอุตสาหกรรมแล้ว

“อุตสาหกรรมนี้น่าสนใจและมีโอกาสโตอีกเยอะ ตอนนี้คือมันยังอยู่ในช่วงยุคบุกเบิกเอง จริง ๆ มันยังไม่เริ่มจริง ๆ จัง ๆ และรัฐบาลกลางทั่วโลกตอนนี้เริ่มศึกษามาเรื่อย ๆ ทั้งสิงคโปร์และจีน คือมีโอกาสโตขึ้นไปอีกมหาศาล แบงก์ชาติแต่ละประเทศให้ความสำคัญเกี่ยวกับคริปโตมากและอนาคตมันมาแน่ ๆ ปีที่แล้วก็มีประชุมจากแบงก์ชาติเอเชียยุโรปเริ่มคุยกันจริงจังเรื่องนี้ ฝั่งเอเชียโดยเฉพาะจีนนี้ยิ่งมีความ Advance”

เปิดตัวธุรกิจ Classe ผู้ให้บริการ Payment ด้วยคริปโต

ธุรกิจด้านคริปโตนอกจากจะเป็น Exchange หรือโบรกเกอร์ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตแล้วยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการเป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงินด้วยคริปโต ซึ่งตอนนี้ก็มีบริษัทที่ให้บริการด้านนี้ซึ่งก็คือบริษัท Classe Pay ที่ทางดร. พาวุฒิก็ได้ผันตัวมาเป็นผู้บริหารของที่นี่

Classe Pay เป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสำหรับการชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีต่าง ๆ โดยธุรกิจของ Classe นั้นจะแบ่งออกมาเป็น 3 ประเภทคือ

  1. Classe Pay เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินด้วยคริปโต ซึ่งระบบของ Classe Pay นี้ก็ซัพพอร์ตเอาคริปโตใหญ่ ๆ มาใช้ชำระเงินได้ เช่น BTC, ETH, USDT และ XRP
  2. Classe Map เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้หา Location ร้านค้าที่รับชำระคริปโตได้ เป็นการให้ข้อมูลลูกค้า สถานที่ โปรโมชั่นและราคา โดยบริการตรงนี้เป็น Value Added Service ให้ร้านค้าที่อยู่ในระบบของ Classe
  3. Classe City เป็นแพลตฟอร์มที่รวม Classe Pay และ Classe Map เข้าด้วยกันเชื่อมต่อกันกับ Smart City ซึ่งมีการเริ่มทำแล้วในเมืองภูเก็ต ทางดร. ภาวุฒิเผยว่าในเมืองภูเก็ตต้องการที่จะสร้าง Smart City อยู่แล้ว ในกรุงเทพนั้นก็มีแต่ยังไม่ได้ทำทั้งเมือง เจาะย่านหลัก ๆ ที่เป็นย่านท่องเที่ยว เช่น ทองหล่อ

ในตอนนี้ฐานผู้ใช้งานของ Classe ก็ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือร้านค้าขายปลีกต่าง ๆ และกลุ่ม Entertainment เช่น ผับ บาร์ คอนเสิร์ต, Food and Beverage, ธุรกิจการท่องเที่ยว และสปา ซึ่ง Classe จะเจาะกลุ่มนี้เป็นหลักให้พวกเขาได้รู้จักเทคโนโลยีและเห็นประโยชน์ของมันว่าสามารถนำมาใช้ชำระเงินได้และมีประโยชน์กว่าการชำระเงินตามวิธีปกติอย่างไร

ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานถัดไปก็คือกลุ่มของผู้ใช้ บุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ ซึ่งเมื่อมีร้านค้าที่รองรับการชำระเงินด้วยคริปโตมากพอแล้ว ฐานผู้ใช้งาน Classe นั้นก็จะเติบโตตามไปด้วย ซึ่งด้านดร. พาวุฒิก็ได้เจาะกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่ผู้ที่มีการทำธุรกรรมมูลค่าเล็กน้อยไปจนกระทั่งถึงกลุ่มที่มีการทำธุรกรรมมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว

ทั้งนี้ในตอนนี้ทาง Classe Pay นั้นคงอยู่ในขั้นตอนการขอ Standard Payment Institute License ในสิงคโปร์

แนวโน้มของอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีในอนาคต

ในช่วงวิกฤตโรคระบาดมันทำให้เรายิ่งเห็นภาพชัดเจนเลยว่าการทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการทำงานมันสามารถทำผ่านออนไลน์ได้หมด เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโลกดิจิตอลนั้นมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนเอามาก ๆ 

ด้านดร. พาวุฒิก็มองว่าการทำธุรกรรมด้วยคริปโตนั้นจะเป็นนิยมมากขึ้นแน่นอน ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่าสินทรัพย์ดิจิตอลมันจะออกมามากขนาดไหน ซึ่งตอนนี้คริปโตใหญ่ ๆ ที่กำลังจะออกมาก็คือ Libra และ Digital Yuan ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มคนสองกลุ่มนี้ก็ร่วมกว่าสามพันล้านคนแล้วจากประชากรทั้งโลก 8 พันล้านคน ทางดร. พาวุฒิก็เชื่อว่าหากสองสกุลนี้ออกมาใช้งาน มันจะมีสกุลเงินใหม่ ๆ และสกุลเงินที่ออกโดยแบงก์ชาติออกตามมาอีกเยอะ

ดร. พาวุฒิ ศรีอัญญากุล

นอกจากนี้เขายังมองว่าอนาคตการชำระเงินของสังคมมันต้องเป็นแบบ Cashless แน่นอน โดยกล่าวว่า:

“อย่างจีนช่วงโควิดเผาเงินสดทิ้ง ใช้ e-wallet ในสวีเดนก็ไม่ใช้เงินสดแล้ว เยอรมันก็ใช้เงินดิจิตอลเยอะ แบงก์ชาติในเอเชียส่วนใหญ่ก็มีเยอะโปรเจคเงินดิจิตอลของแบงก์ชาติ สิงคโปร์ก็มีโปรเจคศึกษาเงินดิจิตอลจากธนาคาร ตัว Libra เองทางสิงคโปร์ก็ได้เข้ามาร่วมผ่านกองทุนของเทมาเส็ก”

อนาคตของคริปโตในมุมมองของดร. พาวุฒินั้นน่าจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในช่วงโควิด คนนิยมสั่งอาหารออนไลน์ ธุรกิจออนไลน์มีความนิยมขึ้น 

“อย่างที่เห็นได้จากช่วงโควิด คนสั่งอาหารออนไลน์ ร้านค้าก็สแกนออนไลน์ ธุรกิจออนไลน์จะบูม พวกธุรกิจทั่วไปจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิตอลมากขึ้น คนจะเริ่มสนใจและหาความรู้ด้านคริปโตบล็อกเชนมากขึ้น พวกนี้จะทำให้มีการใช้งานมากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มคนมากขึ้น ประเทศในเอเชียน่าจะฟื้นตัวเร็ว นักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาเยอะ ซึ่งตรงส่วนนี้น่าจะยิ่งทำให้คริปโตบูมมากขึ้น”

จากอดีตผู้บริหารภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมได้ก้าวเท้าเข้ามาในอุตสาหกรรมฟินเท็คนั้นก็ชี้ให้เห็นได้ว่าในมุมมองของผู้บริหาร ธุรกิจฟินเท็คมีโอกาสเติบโตและเป็นที่นิยมแพร่หลายอีกมาก คาดว่าในอนาคตเราอาจเห็นการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตกลายเป็นวิถีปกติไปเลยก็ได้