<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Wallet หรือกระเป๋าเก็บคริปโตคืออะไร และมันทำงานอย่างไร?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในบทความนี้ Siam Blockchain จะนำเสนอถึงหลักการทำงานของ Wallet สำหรับเหรียญชนิดต่างๆที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนตู้เซฟสำหรับเก็บเงินดิจิตอลของเรานี้ไว้อย่างปลอดภัย เพื่อสามารถนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆได้

Wallet คืออะไร

Wallet คือ software ที่ทำการบริการ private key ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจไขตู้เซฟเข้าไปหยิบ Bitcoin ของเรามาใช้จ่ายในการโอนไปยัง address อื่นได้

แล้ว Address คืออะไร ต่างจาก Wallet ยังไง

Address คือ ที่อยู่ที่เป็นที่เก็บ Bitcoin เอาไว้ เปรียบเสมือนเลขบัญชี ใน Blockchain นั้น โดย Address จะถูกสร้างมาจาก private key และ Address จะถูกปลดล็อคด้วย private key ตัวที่สร้างมันขึ้นมาเท่านั้น ทำให้ใครก็ตามที่จะเอา Bitcoin จากใน Address นี้ไปใช้จะต้องมี private key ที่ถูกต้อง นั่นแปลว่า private key เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการรักษา Bitcoin หรือเงินดิจิตอลสกุลอื่นๆให้ปลอดภัย เป็นสิ่งที่เราต้องเก็บให้มิดชิดไม่ให้ผู้อื่นได้ไป

เราจะเช็คยอดเงินที่อยู่ใน Address นี้ได้อย่างไร

ไปที่ https://blockexplorer.com

ใส่ Address ที่ต้องการทราบยอดเงินไปในช่อง search ตัวเว็บจะพาเราไปหน้าเว็บแบบด้านบน ที่จะโชว์ว่าที่ Address นี้มี transaction เข้าออกเป็นยังไงบ้าง จำนวนเท่าไร เมื่อไร และยอดปัจจุบันมีเท่าไร

บางคนอาจจะตกใจกับการที่ยอดเงินของเราสามารถถูกใครก็ได้มาเปิดดูแบบสาธารณะ ซึ่งนี่คือสื่งที่ Blockchain ถูกออกแบบไว้ คือ ความโปร่งใสในการทำธุรกรรม เราสามารถเห็นได้ว่าเงินเคลื่อนตัวไปที่ Address ไหน ตรวจสอบได้ มีที่มาที่ไปเพียงแต่ว่าเราจะไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้ารของบัญชี

และถ้าใครที่ศึกษาหลักการของ Blockchain มาบ้าง อาจจะทราบดีว่า ความจริงแล้ว Address ไม่ได้เป็นตัวที่เก็บ Bitcoin ไว้จริงๆ สิ่งที่เก็บ Bitcoin ไว้จริงๆ คือ ตัว ledger หรือบัญชีของ Blockchain ที่ทุกคนถือว่าใครโอนให้ใครเท่าไรกันบ้าง

สมมติ ผมเคยได้รับการโอนมาจำนวน 50 BTC, 20 BTC และ 5 BTC ผมโอนออกไป 40 BTC เวลาที่ต้องการดูยอดรวม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำ

ยอดโอนเข้าของ Address นี้ 50 + 20 + 5 = 75 BTC มาลบกับ

ยอดโอนออกของ Address นี้ 40 BTC

จะเท่ากับ = 75 – 40 BTC = 35 BTC

ทุกการเช็คยอด Bitcoin คือการคำนวณใหม่เสมอ จะไม่มีการเก็บยอดรวมไว้ เพื่อป้องกันการคำนวณจากข้อมูลเก่าที่ผิดพลาด ทำให้โชว์ยอดผิดได้

สรุปการเปรียบเทียบแบบง่ายๆอีกครั้ง

– Address คือ ตู้เซฟไว้เก็บเงิน

– Private key คือ กุญแจไว้ปลดล็อคตู้เซฟ

– Wallet คือ ที่ที่เราเก็บกุญแจและตู้เซฟเอาไว้อย่างปลอดภัย

ทีนี้เรามารู้จัก Wallet แต่ละชนิดกันบ้าง

Hot Wallet (Online Wallet)

Hot Wallet เป็น Wallet ที่สะดวกสบายกับผู้ใช้งานมากที่สุด สาเหตุที่ต้องใช้ชื่อว่า Hot wallet หรือกระเป๋าร้อน นั่นเป็นเพราะลักษณะการใช้งานที่สะดวกรวดเร็ว เหมาะสำหรับการจ่ายเงินแบบเร่งรีบอย่างเช่นในร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า

เนื่องจากมันคือ Online Wallet ที่เราสามารถสมัครใช้บริการแล้วโอนเงินเข้า Wallet Address ได้เลย เวลาจะโอนเงิน Online Wallet นี้ก็จัดการ private key ให้เพื่อนำเงินออกมาโอนได้โดยเราอาจจะไม่เคยเห็น private key จริงๆเลยด้วยซ้ำ และถ้าเว็บนั้นมี HTTPS (ดูได้ที่ url ของเว็บ) ก็จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยในการส่งข้อมูล ในสมัยนี้ เว็บไซต์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บน Cloud ที่มีมาตรฐาน ก็ยิ่งยากที่จะถูก Hacker โจมตี เปรียบเทียบได้ว่า Hot Wallet คือ ธนาคารที่คอยดูแลเงินฝากของเรา

แต่ความสะดวกสบายนี้ก็แลกมากับการที่เราต้องเชื่อมั่นใน Online Wallet นี้ว่าเขาจะไม่ชักดาบโกงเรา แล้วหายไปพร้อมกับ Bitcoin ที่เรามี เพราะกุญแจก็อยู่กับเจ้าของ Online Wallet เขาคิดจะฮุบเอา Bitcoin ไปเมื่อไรก็ได้ จึงต้องเลือก Wallet ที่มีความน่าเชื่อถือ

Cold Storage

Cold Storage เป็นการเก็บ Bitcoin ไว้ในที่ที่อยู่นอกเหนือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น การเก็บ Wallet ไว้ใน USB Thumb Drive หรือ การใช้ Paper Wallet วิธีนี้ เราจะเป็นผู้จัดการ private key เองโดยในกรณีของ USB เราจะเก็บค่าของ private key ไว้ในนั้น ส่วนของ Paper Wallet ตัว private key จะแปะอยู่บนกระดาษ เมื่อต้องการจะใช้ Bitcoin ใน Wallet นี้ ก็จะต้องเอา private key ไปต่อกับคอมพิวเตอร์ที่มีอินเตอร์เน็ตเพื่อไขตู้เซฟเปิดออกแล้วทำการโอน Bitcoin

ข้อดีของมันคือ กุญแจตู้เซฟ หรือ private key จะอยู่ที่ตัวเรา เราจัดการเอง และการที่ไม่ให้อินเตอร์เน็ตมายุ่งกับ private key ของเราก็ป้องกันการถูกไวรัสที่จะมาขโมย private key นี้ได้ แต่จังหวะตอนหยิบออกมาใช้ก็ต้องระวังว่าต้องใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ปลอดภัย และ USB ที่ใช้เก็บก็ต้องปลอดไวรัส

ข้อเสีย คือ ความยุ่งยากในการที่เราจะต้องนำ Cold Storage Wallet นี้มาต่อกับอินเตอร์เน็ตทุกครั้งที่จะใช้งาน ซึ่งขั้นตอนก็มีความซับซ้อนขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์หรือวิธีการที่เราเลือก วิธีที่ง่ายที่สุด น่าจะเป็นการใช้ Online Wallet ชื่อ Mycelium ที่มี option ในการ import private key ของตัวเราเอง ทำให้ใช้คู่กับ Cold Storage ได้ อีกความยุ่งยาก คือ การจัดเก็บ เราต้องมั่นใจว่า Cold Storage นี้จะไม่หาย หรือ ลืมทิ้งไว้ที่ไหน มีผู้ใช้บางคนถึงกับเข้ารหัส private key ของตัวเองแล้วเก็บไว้ในหลายๆที่ เพื่อกันว่าถ้าหายแล้ว เขาจะได้มีตัวสำรองที่เอาออกมาใช้แทนได้ สำหรับเว็บแลกเปลี่ยน Bitcoin บางที่ ถึงกับมีการนำ Cold Storage ไปฝากไว้ในตู้เซฟจริงๆที่ธนาคารเพื่อป้องกันไม่ให้แม้แต่คนไปเข้าถึง Wallet และ Address นี้ได้

Hardware Wallet

Hardware Wallet แก้ปัญหาความยุ่งยากของ Cold Storage โดยการสร้างฮาร์ดแวร์พิเศษที่เก็บ private key ไว้อย่างปลอดภัย และเมื่อต้องการที่จะใช้จ่าย Bitcoin จาก Wallet นี้ ก็แค่เสียบเข้าคอมพิวเตอร์แล้วเข้าโปรแกรม หรือเว็บไซต์สำหรับ Hardware Wallet นี้ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อความปลอดภัย ก็จะสามารถโอนเงินได้ เปรียบเสมือนมีบอดี้การ์ดส่วนตัวไว้เฝ้ากุญแจตู้เซฟของเรา

ความแตกต่างระหว่าง Hardware wallet กับ Cold storage คือ Hardware wallet นั้นถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในการเก็บเหรียญคริปโตโดยเฉพาะ มีระบบ UI ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานง่าย ข้อสังเกตอีกข้อคือใน Hardware wallet บางตัวเราไม่ได้เก็บเหรียญคริปโตในตัวของอุปกรณ์ แต่มันทำหน้าที่เปรียบเสมือนสแตมป์ที่ช่วยอนุมัตการถอนเหรียญคริปโตอีกทีหนึ่ง

ข้อเสียของมัน ณ ตอนนี้ คงเป็นราคาที่แพงพอสมควร สำหรับอุปกรณ์ที่ออกแบบมาพิเศษ ซึ่งผู้ผลิตการันตีว่าไม่มีไวรัส และถูกเจาะข้อมูลออกไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะสามารถวิ่งเข้าไปใน Hardware Wallet นี้คือ transaction ของ Bitcoin เพื่อให้ Hardware Wallet นี้ใช้ private key ที่เก็บไว้อย่างแน่นหน้าในการปลดตู้เซฟเพื่อเอา Bitcoin ออกมา

Hardware Wallet ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ TREZOR และ Ledger Nano

สรุปข้อดี/ข้อเสีย

Hot Wallet Cold Storage Hardware Wallet
การจัดเก็บ private key สะดวกผู้ใช้ เก็บไว้ที่ผู้ให้บริการ Wallet แต่เสียงถูกผู้ให้บริการโกง หรือปิดตัวหนี เก็บไว้ที่ตัวเอง บริหารจัดการด้วยตัวเอง ผู้ใช้งานต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของ Wallet เอง เก็บไว้ที่ตัวเอง หรือที่ระบบกระเป๋าเงินที่ผู้ให้บริการ hardware wallet ให้บริการ โดยตัวอุปกรณ์จะจัดการเรื่องความปลอดภัยให้ทั้งหมด
ความสะดวกสบายในการใช้งาน สามารถ login เข้าไปใช้งานได้ผ่านอินเตอร์เน็ตจากทั้ง Desktop หรือ Mobile App จำเป็นต้องต่อเข้าอินเตอร์เน็ต และใช้โปรแกรมที่หยิบ private key ออกมาใช้งานในการโอน ตัวซอฟต์แวร์ที่มากับ Wallet จะทำการจัดการการโอนให้ สำหรับบาง Wallet มีบริการทั้งโปรแกรม Desktop, Mobile App หรือ Website
ความปลอดภัยจากไวรัสและ Hacker ขึ้นอยู่กับระบบรักษาความปลอดภัยของผู้ให้บริการ แต่ส่วนใหญ่มักใช้ Cloud ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาเป็นมาตรฐานอยู่แล้วหรือเว็บไซต์นั้นๆจะเป็นผู้แฮคเสียเอง ปลอดภัยจากการจู่โจมทางอินเตอร์เนตเวลาที่เก็บไว้เฉยๆไม่ได้ใช้งานเพราะไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เนต อุปกรณ์จะถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการโจมตีทุกรูปแบบอยู่แล้ว
ความปลอดภัยจากการสูญหาย มีผู้ให้บริการคอยดูแลให้โดยเก็บข้อมูลในฐานข้อมูล ข้อมูลจึงไม่หาย ยกเว้นฐานข้อมูลของเว็บไซต์นั้นจะโดนโจมตี หรือเว็บไซต์นั้นๆจะเป็นผู้แฮคเสียเอง ผู้ใช้งานต้องดูแลเอง ผู้ใช้งานต้องดูแลเอง
ราคา ส่วนใหญ่ไม่คิดเงินในการเก็บ แต่อาจจะคิดเงินเวลาโอนออกจาก Wallet เสียแค่ค่า transaction fee ยกเว้นว่าจะใช้บริการ Online Wallet อื่น เช่น Mycelium ในการโอนที่อาจจะมีการคิดค่าบริการเพิ่ม มีราคาค่าตัวที่สูงและหลากหลาย ตั้งแต่ 58 euro ไปจนถึง 229 euro และต้องเสียค่า transaction fee เมื่อเวลาโอนเข้าหรือออก

 

ผู้อ่านคงได้ทราบข้อดีข้อเสียของ Wallet แต่ละแบบไปแล้ว ความปลอดภัยของเงินดิจิตอลของเรานั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นแล้วขอให้ผู้อ่านทุกๆท่านพิจารณาตัวเลือก Wallet แต่ละแบบให้ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมให้มากที่สุด