<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

มองข้ามวงการ: การชุมนุมประท้วงแบบ Decentralised คือกุญแจจาก Bitcoin ที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เป็นวันที่สองต่อกันแล้วกับการยกระดับการชุมนุมโดยกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยยังคงพยายามอย่าต่อเนื่องโดยไม่ย่อท้อเพื่อเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาต้องการ และหวังว่ารัฐบาลจะรับฟัง

แม้ว่าจะต้องเจ็บหนักการถูกสลายการชุมนุมเมื่อวาน ทั้งทางกายและทางใจ แต่การลุกขึ้นมาประท้วงอีกรอบในวันนี้ทำให้พวกเราได้เห็นแล้วว่าแม้จะล้มแต่กลุ่มประชาชนก็ยังสามารถลุกขึ้นมาสู้ต่อได้อีกครั้ง แต่เป็นการสู้ที่มีความพลิกแพลงมากขึ้น และแตกต่างจากที่เคยมีมาหลาย ๆ ครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้าน cryptocurrency ในไทยนั้นได้ออกมาแสดงความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำเอาแนวคิดการกระจายศูนย์ของ Bitcoin หรือเหรียญคริปโตที่มีประวัติด้านการคืนอำนาจมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริงมานานกว่า 10 ปีสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้ประชาชนได้ไม่มากก็น้อย

นายพงศกร สุตันตยาวลี นักเทรดคริปโตมืออาชีพได้ให้สัมภาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนเกี่ยวกับความเห็นของเขาที่มีต่อการชุมนุมประท้วงของประชาชนในกรุงเทพในวันนี้ ที่มีอยู่หลัก ๆ ทั้งหมดสามจุดด้วยกัน นั่นก็คือแถวห้าแยกลาดพร้าว, อโศก, วงเวียนใหญ่ และอุดมสุข โดยแต่ละที่นั้นก็มีผู้ชุมนุมกันอย่างคับคั่ง แม้ว่าจะไม่มากเท่าของเมื่อวาน แต่ความต่างนั้นก็คือการกระจายศูนย์ไปยังสถานที่สำคัญ ๆ แทนที่จะรวบรวมการชุมนุมไว้ในที่ ๆ เดียว และฝากความหวังไว้กับผู้นำการชุมนุมเพียงไม่กี่คน

“ประท้วงทุกครั้ง องค์ประกอบที่ต้องมีในทุกครั้งคือ แกนนำ, ผู้ประท้วง และ เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ทุกคนที่มาชุมนุมก็ต้องฟังแกนนำว่า จะให้ทำอะไร เดินไปไหน ฟังอะไร เกิดอะไรให้ทำอะไร มองดูราวกับ centralised ทุกอย่างไว้ที่แกนนำเพียงไม่กี่คน

เราจะเห็นว่าการประท้วงมักจะสิ้นสุด หากสามารถจับแกนนำได้ เมื่อผู้สั่งการถูกจับ ผู้ประท้วงก็ต้องสลายตัวกลับบ้านไปในที่สุด

แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้ คือ ไม่มี แกนนำ และ มีการชุมนุมแบบกระจายออกไปตามที่ต่างๆ ทุกอย่าง เป็นเพียงการนัดหมายกันเอง ผ่านสื่อโซเชียล”

หากลองดูรูปด้านล่างในวันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในแต่ละสถานที่ ๆ ม็อบกระจายตัวไปวันนี้มีการมาเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง และไร้แกนนำในการนำหน้าแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากการชุมนุมของเมื่อวานที่แยกราชประสงค์ที่มีเพียงแค่จุดเดียว และง่ายต่อการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนายพงศกรกล่าวต่ออีกว่า

การชุมนุมที่ลาดพร้าว 17 ตุลาคม 2563 ภาพจากเพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
การชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ 17 ตุลาคม 2563 ภาพจาก Apichat Napattanakij
การชุมนุมที่อุดมสุข 17 ตุลาคม 2563 ภาพจาก Twitter

“สิ่งนี้ผมมองว่าน่าสนใจ เพราะการประท้วงครั้งนี้ ดูจะใกล้เคียงกับ decentralised เมื่อไม่มีศูนย์สั่งการ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องมี protocol ในการประท้วงเดียวกันให้ได้ และทุกอย่างเกิดขึ้นจริงได้ จากการที่เราสามารถเชื่อมโยงกันผ่าน internet ฉะนั้น หากการประท้วงดำเนินไปด้วยระบบนี้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำให้การประท้วงยุติได้เพราะไม่มีแกนนำให้จับกุม และเมื่อผู้ชุมนุมสร้าง protocol ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะสลายการชุมนุมไปอย่างไร แต่ protocol ยังคงอยู่ ก็จะเกิดการนัดรวมตัวกันได้ทุกวันและตลอดไปจนกว่าสิ่งที่เรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง

นับว่าเป็นอีกครั้งในประเทศไทยที่เราได้ใช้การสื่อสารทำให้เกิดประโยชน์ในลักษณะนี้ หากมองย้อนกลับไปในอดีต ก็ต้องคิดถึง ม๊อบมือถือ ที่คนสีลมติดต่อกันผ่านมือถือเพื่อออกมาแสดงพลัง ถือเป็นวิวัฒนาการ ด้านประท้วงที่น่าจับตามอง”

ปัจจุบันเทคโนโลยี blockchain ของ bitcoin นั้นมีลักษณะเป็นเหมือนกับตัวเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมและช่วยยืนยันธุรกรรมไปพร้อม ๆ กัน โดยใครก็ได้สามารถที่จะมาเป็นผู้ช่วย “รัน node” หรือเปิดโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันธุรกรรมบนเครือข่ายได้

เมื่อมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามา ‘โกง’ ตัวเลขการทำธุรกรรมบนเครือข่าย Bitcoin ก็จะมีผู้เปิด node จำนวน 10,000 กว่า node ทั่วโลกที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยยืนยันความถูกต้อง และแก้ไขตัวเลขที่ผิด ให้กลับมาถูกอีกครั้ง และหากใครต้องการที่จะพังทลายเครือข่าย Bitcoin ลงก็จะต้องทำการปิด node เหล่านั้นทั้งหมดพร้อมกันทั่วโลก นั่นเอง

และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำไมมันถึงยังยืนหยัดและท้าทายอำนาจรัฐบาลทั่วโลกได้มาจนถึงตอนนี้ และยังไม่มีใครเคยโค่นมันลงสำเร็จ เพราะหากพวกเขาปิดไป 1 node อีก 9,999 node ก็ยังคงรันต่อได้ และเครือข่ายก็ยังคงอยู่ไม่ไปไหน เพราะกุญแจหลัก ๆ ก็คือ

“ความเป็น Decentralised หรือการกระจายศูนย์อำนาจนั่นเอง”

การรวมศูนย์อำนาจ VS การกระจายศูนย์อำนาจ

คริปโตจะช่วยทวงคืนประชาธิปไตย?

นายพงศกรยังกล่าวอีกด้วยว่า cryptocurrency นั้นจะมีโอกาสที่จะช่วยทวงคืนความเป็นประชาธิปไตยให้กับประชาชนได้ หลัก ๆ เป็นเพราะว่าแนวคิดว่าเป็น decentralised ที่ไม่ต้องมอบอำนาจให้ใครเป็นใหญ่สักคน แต่ปล่อยให้ระบบนั้นรันได้ด้วยตัวมันเองภายใต้กรอบของกฎเกณฑ์ที่ทุกคนช่วยกันตั้ง หรือพูดง่าย ๆ คือระบบที่ไม่ต้องไปไว้วางใจใครอีกต่อไป โดยเขากล่าวว่า

“มองว่าคริปโตเคอเรนซี่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจแนวคิดของ decentralized ว่า มีระบบที่สามารถทำให้เราเป็นเจ้าของในสิ่งที่เราควรจะเป็น ควบคุมสิ่งต่างๆผ่านระบบที่ไม่ต้องมีคนควบคุม เมื่อไม่มีคนควบคุม ทุกอย่างจะดำเนินไปตามระบบที่เขียนไว้ในกฏหมาย และ เมื่อนั้นประชาธิปไตย ที่ทุกคนต้องการ จะทำโดยประชาชน เพื่อ ประชาชน อย่างแท้จริง ครับ”

แม้ว่าการชุมนุมแบบ decentralised ในวันนี้จะส่งผลทำให้หลาย ๆ คนมองว่ามันเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการทวงคืนประชาธิปไตย แต่นายพงศกรก็ยังมองว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าเทคนิคดังกล่าวจะทำให้พวกเขาได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยเขาเสริมว่า

“คงต้องประเมินว่า ความสำเร็จ มองจากมุมไหน หากความสำเร็จมองจากข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมต้องการ ผมคิดว่ายังเร็วไปที่จะคาดการณ์ได้ในตอนนี้

แต่หากมองว่าการประท้วงโดยมีลักษณะ decentralised นั้นช่วยให้การประท้วงสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะ ไม่ต้องพักค้างคืน ไม่ต้องมีต้นทุนในการดำเนินประท้วง ไม่ต้องมีท่อน้ำเลี้ยงใด ๆ ทำให้ผู้ประท้วงได้มาออกมาประกาศสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากสิ่งที่เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ จะเกิดเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างและเชื่อมกันเป็นเครือข่าย หรือ network effect เมื่อนั้นสิ่งที่อยู่ในข้อเรียกร้องของการออกมาแสดงพลังคนนี้จะมีความแข็งแรงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต ครับ”

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพลังของการกระจายอำนาจนั้นมีศักยภาพมากกว่าที่หลาย ๆ คน เพราะยิ่งอำนาจถูกกระจายออกไปเป็นจำนวนที่มากเท่าไร ยิ่งตามมาด้วยความแข็งแกร่งที่ยากต่อกร เนื่องจากว่าทุกคนนั้นถูกเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า internet อยู่แล้ว ดั่งคำกล่าวที่ติดปากของผู้ใช้งาน Bitcoin มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ซึ่งนั่นก็คือ

“vires in numeris”

หรือภาษาละตินที่แปลเป็นไทยว่า “ความแข็งแกร่งที่มาพร้อมกับจำนวน” ดังนั้นแม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจุดหนึ่งจะถูกสลายไป แต่กลุ่มอื่น ๆ ก็จะยังคงสานต่อการเรียกร้องนั้น ๆ และมีแนวโน้มว่าจะผุดกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ด้วย ตราบใดที่ทุกคนยังคงเชื่อในระบบ decentralised