<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ส.ส. พรรคก้าวไกลผู้สนับสนุน Bitcoin รอดพ้นคดีถือหุ้นสื่อแล้ว

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 28 ต.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งเพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่อง ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 32 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า สมาชิกสภาพ ส.ส.ของทั้ง 29 คน ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากมิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ 

โดยอ้างอิงจากวีดีโอของ VoiceTV  ในนาทีที่ 1:52:00 ผู้พิพากษาได้กล่าวว่า :

“กรณีผู้ถูกร้องที่ 11 ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 11 ประกอบกิจการบริษัท Bitcoin Center จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจประกอบกิจการในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและความรู้อื่น ๆ  และประกอบกิจการตัวกลางหรือนายหน้าในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน Moblie Application นั้นมิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

ดังนั้นการเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ของนาย  ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผู้ถูกร้องคนที่ 11 จึงไม่ได้สิ้นสุดลง

ทั้งนี้จากคำวินิจฉัยทำให้มีตำแหน่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อว่างลงรับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย แต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปจึงไม่มีบัญชีรายชื่อ ส.ส. ให้เลื่อนขึ้นมา จึงให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่

สำหรับ 32 ส.ส. ฝ่ายค้าน ประกอบด้วย :

อดีตพรรคอนาคตใหม่

1. พล.ท. พงศกร รอดชมภู

2. ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

3. พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์

4. สุรชัย ศรีสารคาม

5. ชำนาญ จันทร์เรือง

6. วินท์ สุธีรชัย

7. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

8. คารม พลพรกลาง

9. วาโย อัศวรุ่งเรือง

10. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

11. ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

12. วิภพ วิริยะโรจน์

13. เบญจา แสงจันทร์

14. สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล

15. ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์

16. กวินนาถ ตาคีย์

17. สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา

18. จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์

19. ปดิพัทธ์ สันติภาดา

20. วรรณวรี ตะล่อมสิน

พรรคเพื่อไทย

21. วิสาร เตชะธีราวัฒน์

22. นิยม ช่างพินิจ

23. จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

24. ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ

พรรคเพื่อชาติ

25. สงคราม กิจเลิศไพโรจน์

26. ลินดา เชิดชัย

27. ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช

28. เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล

พรรคเสรีรวมไทย

29. พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

30. ธนภร โสมทองแดง

31. พัชนี เพ็ชรจินดา

พรรคประชาชาติ

32. กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ

ในขณะเดียวกันทางสยามบล็อกเชนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์เกี่ยวกับความรู้สึกหลังจากรอดพ้นคดีและความคิดเห็นส่วนตัวในเรื่องคริปโตและ Blockchain ดังคำถามต่อไปนี้ : 

สยามบล็อกเชน : คุณเอิร์ธ รู้สึกอย่างไร หลังจากรอดพ้นคดีถือหุ้นสื่อครับ

นาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ : เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะตั้งแต่ต้นก็ไม่ได้กังวลอะไรอยู่แล้วนะครับ เพราะจากแนวทางที่คุยกับทนายและที่ศาลบอกมาตั้งแต่ตอนต้น เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราไม่ใช่สื่อ เราก็ส่งได้เอกสารหลักฐานทางราชการที่ระบุว่าบริษัทเราดำเนินธุรกิจอะไรบ้าง ได้รายได้มาจากอะไรบ้าง ซึ่งมันก็ไม่ได้มาจากสื่ออยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้กังวลอะไร

สยามบล็อกเชน : ตอนนี้ คุณเอิร์ธคิดยังคงกับวงการ Bitcoin และคริปโตในไทยครับ 

นาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ : จากตอนที่ผมยังอยู่ในวงการ ตอนนั้นวงการคริปโตก็มีความคึกคักมาก ด้วยราคา Bitcoin ด้วยตลาดคริปโตของโลก และอะไรหลาย ๆ อย่างที่ ก็ทำให้ตลาดในไทยคักคึก แต่พอเรามีกฎระเบียบออกมา ประกอบกับช่วงที่ราคา Bitcoin ร่วงหนักก็ต้องยอมรับว่า วงการคริปโตในไทยซบเซาไปในระดับหนึ่ง แล้วก็ด้วยความที่มีกฎระเบียบเยอะ มันทำให้การระดมทุน การเกิดใหม่ของธุรกิจเกี่ยวกับด้านนี้ในประเทศไทย มันยากขึ้นและแน่นอนว่ามันทำให้บรรยากาสดูซบเซา แต่ตอนนี้พอราคา Bitcoin มันฟื้นตัวกลับขึ้นมา แน่นอนมันก็คึกคักตามกลไกตลาด ช่วงนี้ก็ดีขึ้นครับ แต่ผมมองว่าอาจยังไม่เท่ากับเมื่อ 2 ปีก่อน

สยามบล็อกเชน : คุณเอิร์ธคิดว่าแนวโน้มด้านกฎหมายเกี่ยวกับบริษัทด้านฟินเทค และ blockchain ในไทย จะพัฒนาไปในทิศทางไหนต่อครับ 

นาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ : จริง ๆ แล้วทางพรรคได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ เยอะพอสมควร ผมจะแยกเรื่องฟินเทคกับ Blockchain ออกจากกันก่อนนะครับ คือต้องยอมรับว่า Blockchain ตอนนี้มันยังดูล้ำเกินไปสำหรับการออกกฎหมาย อันนี้จากการประเมินนะครับ เพราะว่าเวลาเราร่างกฎหมายอะไรแล้วเสนอสภา มันจะต้องผ่านกฤษฎีกาฝ่ายกฎหมาย ซึ่งบางอันถ้าสมมติว่าเค้าไม่เข้าใจหรือว่าเค้ากังวลว่ามันจะเกิดปัญหาขึ้น เค้าก็จะไม่ผ่านให้เรา เค้าก็จะมีการตีตก เพราะฉะนั้นมันต้องเกิดการรับรู้ของผู้คนในวงกว้างก่อน แต่จากแนวโน้มที่ผมได้เข้าไปนั่งอยู่ในสภางบประมาณ ก็สังเกตเห็นว่า หลาย ๆ หน่วยราชการเริ่มพยายามจะเสนอของบโปรเจคที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างแล้ว ซึ่งถ้าทางหน่วยงานราชการเขานำร่องมาแล้วมันเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา ต่อไปมันอาจจะง่ายขึ้น และเมื่อมันไปถึงจุดนั้น มีกฎหมายด้าน Blockchain มารองรับ บริษัทเอกชนจะทำได้ดีกว่าราชการแน่นอน ส่วนในด้านฟินเทคมันอาจจะมีหลายส่วนที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับ Blockchain มันยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินค่อนข้างเยอะ ซึ่งอันนี้คิดว่า หากเราหาปัญหาให้เจอแล้วรู้ว่าควรแก้ตรงไหน มันยังพอเป็นไปได้

ก่อนหน้านี้สยามบล็อกเชนได้รายงานไปแล้วว่านายปกรณ์วุฒิ นั้นเป็นผู้สนับสนุน Bitcoin และเทคโนโลยี Blockchain โดยในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาเขาได้ขึ้นอภิปรายในสภาเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยที่กำลังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากกฎหมายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในไทย โดยเขากล่าวในช่วงเวลานั้นว่า :

“ทุกแพลทฟอร์มที่เราใช้เป็นแพลทฟอร์มของต่างชาติทั้งหมดนะครับ ถ้านี่คือสงครามนะครับ ผมสรุปได้เลยครับว่าเราใกล้จะแพ้เต็มที่ละ”

 นอกจากนี้นาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ยังเป็นเจ้าของเพจ Bitcoin Center Thailand ซึ่งผู้ให้บริการด้านศูนย์การเรียนรู้และศึกษาด้าน Bitcoin แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่ภายหลังจากนั้นดูเหมือนว่าเพจดังกล่าวนั้นจะปิดตัวลง ทำให้หลายคนคาดว่านาย ปกรณ์วุฒิ นั้นอาจจะไม่ได้ทำธุรกิจนี้ต่อหรือเป็นเพราะเขาได้ผันตัวไปเป็นนักการเมืองแล้วนั่นเอง