<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

แบงก์ชาติไทยร่วมมือกับธนาคารกลางยักษ์ใหญ่โลกเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแล้ว

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ดูเหมือนว่าโครงการสกุลเงินของธนาคารจะเริ่มมีความคืบหน้าให้เห็นบ้างแล้ว โดยล่าสุดในวันนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ประกาศว่า CBUAE และ PBC DCI ได้เข้าร่วมโครงการ Inthanon-LionRock ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศที่ริเริ่มโดย ธปท. และ HKMA

โดยหลังจาก CBUAE และ PBC DCI เข้าร่วมโครงการแล้ว พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อโครงการจาก Inthanon-LionRock1 เป็น Multiple Central Bank Digital Currency (m-CBDC) Bridge Project หรือเรียกว่า m-CBDC Bridge ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ณ ฮ่องกง

โครงการ m-CBDC Bridge นั้นเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาที่ผ่านมาระหว่าง HKMA และ ธปท. ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายอำนาจ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาใช้ในการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมหลายสกุลเงินและทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ผลสำเร็จของโครงการ m-CBDC จะสามารถนำไปใช้กับธุรกรรมของภาคธุรกิจที่มีทั้งสกุลเงินในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในอนาคตโครงการ m-CBDC Bridge จะมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากธนาคารกลางอื่น ๆ ทั้งในเอเชียและภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อร่วมกันศึกษาศักยภาพของ DLT ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งในด้านประสิทธิภาพและต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ธนาคารกลางที่เข้าร่วมโครงการจะประเมินผลการทดสอบ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำโครงการ m-CBDC Bridge มาใช้จริง ในการโอนเงินระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และตลาดทุนต่อไป

ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าพวกเขากำลังมองหาโอกาสในการนำเอาเทคโนโลยี smart contract มาใช้ร่วมกับสกุลเงินดิจิทัลที่พวกเขากำลังพัฒนา และล่าสุดพวกเขาก็เริ่มศึกษาความเป็นไปได้สำหรับกรณีการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลร่วมกับธนาคารกลางยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ทั่วโลก ดังนั้นไม่แน่ว่าในเร็ว ๆ นี้เราอาจจะได้เห็นธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง