นอกจากกระแสที่มาแรงอย่าง DeFi ในปีนี้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ NFT หรือ Non-Fungible Tokens แล้วมันคืออะไร? ทำไมผู้คนถึงสนใจกันมาก ไม่เว้นแม้แต่มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกอย่างนาย Elon Musk
ความโด่งดังของ NFT จะกลบความสนใจใน DeFi หรือ Cryptocurrency หรือไม่ วันนี้ทาง Siam Blockchain จะพาไปทำความรู้จักอย่างเจาะลึกและไขข้อข้องใจถึงกระแส NFT ที่มาแรงอยู่ในขณะนี้
ทำความรู้จักกับ Non-Fungible Token (NFT)
Non-Fungible Token (NFT) คือ Token ที่มีความเฉพาะตัวไม่สามารถถูกทำซ้ำหรือคัดลอกได้ เป็นเหรียญดิจิทัลที่ตรึง “ผลงาน” ไว้กับ “Token” ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ การ์ตูน เพลง คลิปวิดีโอ การ์ดสะสม ไอเทมเกม งานศิลปะ หรืออื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน
ซึ่งจะเป็นผลงานดิจิทัลในรูปแบบ “สินทรัพย์เหรียญดิจิทัล” ที่อยู่บนโลกออนไลน์บนระบบของ “Blockchain” โดยมีเงื่อนไขเฉพาะตัวคือจะไม่มีสิ่งใดมาทดแทนผลงานชิ้นนั้นได้และเป็นผลงานดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลกเท่านั้น
ด้วยความที่มีชิ้นเดียวบนโลก ทำให้ผู้ครอบครองสามารถอ้างสิทธิ์และเป็นเจ้าของได้เพียงคนเดียว แม้ว่าจะมีการก็อปปี้หรือทำสำเนาบนโลกออนไลน์แต่ก็สามารถตรวจสอบบนระบบบล็อกเชนได้ว่าเจ้าของที่แท้จริงคือใคร ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ หรือถูกซื้อขายโดยใครบ้าง
อีกทั้ง NFT ยังสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลจากการขายผลงานบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน หากผู้ซื้อถูกใจในผลงานศิลปะ ก็สามารถทำการประมูลเพื่อเป็นเจ้าของได้เพียงคนเดียว
ปัจจุบันตลาด NFT มีมูลค่าสูงกว่า 250 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งนักสะสมผลงานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ผ่านแพลตฟอร์ม Opensea, Rarible, Nifty Gateway, SuperRare, Foundation, Enjin Marketplace และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมาย
ทำไมกระแส NFT ถึงมาแรงและมีมูลค่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง?
แท้จริงแล้ว NFT ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เป็นกระแสโด่งดังในช่วงนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของตลาด Cryptocurrency จึงทำให้ผลงานศิลปะดิจิทัล (Digital Arts) ถูกขโมยการอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของและถูกนำไปใช้งานต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยทางระบบ NFT จะสามารถเปิดให้ทุกคนแปลงผลงานดิจิทัลเป็น NFT ได้ ซึ่งตัวอย่างผลงานชื่อดังได้แก่ Everyday: The First 5000 Days
ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานศิลปะดิจิทัลที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินถูกถ่ายทอดบนโลกออนไลน์ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5,000 วัน ตั้งแต่ปี 2007 รังสรรค์ผลงานโดย Beeple ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 69 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.1 พันล้านบาท
แม้ว่าผลงานศิลปะดิจิทัลในโลกออนไลน์จะไม่สามารถจับต้องได้จริง แต่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับตลาดแห่งนี้เป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนรวมกว่า 250 ล้านดอลลาร์
ซึ่งอีกหนึ่งเหตุผลมาจากความชื่นชอบและคุณค่าทางจิตใจต่อผลงานนั้น ๆ เช่น การสะสมการ์ดนักกีฬา ไอเทมภายในเกม ลายเซ็นบุคคลสำคัญ รูปศิลปะ เป็นต้น ทำให้เกิดการประมูลซื้อขายที่มีมูลค่ามหาศาลได้
อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนศิลปินทางอ้อมด้วย ซึ่งบรรดาผู้ที่มีเงินและพึงพอใจในผลงานก็พร้อมควักกระเป๋าจ่ายได้อย่างสบาย
เหล่าคนดังช่วยขับเคลื่อนตลาด NFT
ตลาด NFT ได้เติบโตไปอีกขั้นเมื่อมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลกอย่างนาย Elon Musk ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า
“ผมกำลังขายเพลง NFT นี้ผ่าน NFT”
แต่แล้วเมื่อมีผู้สนใจเป็นจำนวนมากด้วยยอดกดไลก์ทวีตดังกล่าวกว่า 2.4 แสนครั้ง นาย Elon Musk กลับเปลี่ยนใจไม่ขายผลงานชิ้นนี้ซะอย่างนั้น
“อันที่จริงรู้สึกไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ในการขายสิ่งนี้ ขอผ่านไปก่อนละกัน” เขากล่าว
และล่าสุดกลายเป็นทางด้าน Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Twitter ที่ได้เปิดประมูลรูปแคปเจอร์ “ทวีตครั้งแรก” ของเขาบนแพลตฟอร์ม
โดยงาน NFT นี้ถูกประมูลขายไปที่ 2.9 ล้านดอลลาร์โดยนาย Sina Estavi ซึ่งเป็น CEO บริษัทด้าน Blockchain ในมาเลเซีย
ฟองสบู่จะเกิดขึ้นในเร็วนี้หรือไม่?
จากการที่มูลค่าตลาด NFT เติบโตอย่างรวดเร็วและผลงานบางชิ้นมีมูลค่าหลักล้านดอลลาร์ ทำให้หลายคนมองว่าตลาดแห่งนี้อาจกลายเป็นฟองสบู่ที่พร้อมจะระเบิดได้ในเร็ววัน
อีกทั้งมูลค่าของมันก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย และยังมีปัญหาการขโมยผลงานไปทำในรูปแบบ NFT แล้วอ้างชื่อเป็นผู้สร้างผลงานนั้น ก่อให้เกิดช่องโหว่มากมายที่เจ้าของผลงานที่แท้จริงไม่รู้ตัว
เนื่องจากระบบ NFT เปิดให้ใครก็ตามที่มีผลงานสามารถแปลงเป็นดิจิทัลและนำไปขายในตลาด NFT ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ กว่าจะรู้ตัวก็โดนสวมรอยเป็นเจ้าของผลงานที่ถูกขายในตลาดไปเสียแล้ว ดังตัวอย่างรูปประกอบด้านล่าง
นั่นก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลในสภาวะฟองสบู่ของตลาดแห่งนี้ อย่างไรก็ตามนี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นก็เป็นได้ เนื่องจากตลาดแห่งนี้ยังมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมาก และไม่จำกัดเพียงแค่ผลงานศิลปะเท่านั้น