<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สิงคโปร์กำลังศึกษา DeFi และ CBDC ในภาคธุรกิจและประชาชน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

แม้ว่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันจะมีสถานการณ์น่าเป็นห่วง แต่โดยรวมของตลาดคริปโตก็ยังมีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ และยังมีมูลค่าอีกกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์ที่ถูกล็อคไว้ในโปรโตคอลแบบ DeFi ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้คนและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของคริปโตเคอร์เรนซีและการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) 

ขณะที่ประเทศทั่วโลกต่างเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) มากขึ้นเรื่อย ๆ สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ก็กำลังศึกษาเทคโนโลยีในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต โดยกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มการเงินที่จะรองรับ CBDC ของหลาย ๆ ประเทศในอนาคต พร้อมทั้งยังจับตาดูระบบการเงินแบบ DeFi ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

“DeFi เป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามแอปพลิเคชัน DeFi ส่วนใหญ่ยังมีอายุไม่ถึง 2 ปี ทำให้เรายังไม่ทราบถึงข้อดีข้อเสียที่ชัดเจนของมัน และ MAS กำลังทำการศึกษาระบบการเงินแบบ DeFi อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินศักยภาพสำหรับการนำไปใช้ในวงกว้าง” Tharman Shanmugaratnam ประธาน Monetary Authority of Singapore ตอบคำถามของรัฐสภาเกี่ยวกับ DeFi

โดยขณะนี้ MAS กำลังร่วมมือกับ BIS Innovation Hub Center ในสิงคโปร์และชุมชนธนาคารกลางอื่น ๆ ในโครงการ “Project Dunbar” ที่จะออกแบบ, พัฒนา และทดสอบโมเดล m-CBDC สำหรับการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย CBDC ระหว่างสถาบันการเงิน

ตามข้อมูลจาก BIS Innovation Hub Center เปิดเผยว่า Project Dunbar จะศึกษา Smart Contracts และ multi-CBDCs เกี่ยวกับกลไกและอัลกอริทึมที่จะช่วยให้การจับคู่และการชำระธุรกรรมและเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเรียนรู้จากการพัฒนาบล็อกเชนและ DeFi

ด้วยความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไทย, ฮ่องกงร่วมกับจีน และ BIS Innovation Hub ได้สร้างสะพานเชื่อมระหว่าง multiple-CBDCs สำหรับการชำระเงินข้ามพรมแดน 

“นี่คือศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างชุมชนของธนาคารกลาง ที่จะนำร่องแพลตฟอร์มการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย CBDC ระหว่างสถาบันการเงินในระดับพหุภาคีของโลก” Jacqueline Loh รองกรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวในงาน BIS Innovation Summit 

“ธนาคารกลางที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับแรงผลักดันจากนวัตกรรมชั้นนำของ APAC และการเติบโตของโครงการต่าง ๆ ในภาคส่วน อย่าง Project Ubin ของสิงคโปร์ ตลอดจน Project Inthanon-LionRock ของประเทศไทยและฮ่องกง” Amit Ghosh หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทซอฟต์แวร์ R3 ที่ได้จัดหาแพลตฟอร์มบล็อกเชน Corda สำหรับการวิจัยโครงการ Inthanon-LionRock กล่าวกับ Forkast News

Michael Conn ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทการลงทุนบล็อกเชน Zilliqa Capital กล่าวกับ Forkast News ว่า “ใน Project Ubin รัฐบาลสิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ CBDC ระหว่างสถาบันการเงิน ที่ช่วยให้การชำระเงินหลายสกุลเงินและการชำระเงินข้ามพรมแดนทำได้อย่างรวดเร็ว พร้อมความเสี่ยงและต้นทุนที่ต่ำกว่า และขั้นต่อไปคือการศึกษา CBDC ในภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงระบบการเงินแบบ DeFi”

“การใช้งาน CBDC ในภาคธุรกิจและประชาชนอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินฝากของธนาคาร และที่สำคัญคืออาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร โดยขณะนี้ MAS กำลังศึกษาต้นทุนและประโยชน์ของ CBDC ในภาคธุรกิจและประชาชนอย่างใกล้ชิด และยังไม่ได้ทำการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว” Shanmugaratnam กล่าว