ท่ามกลางความร้อนแรงของราคาคริปโทเคอร์เรนซีที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น สิ่งที่มาแรงไม่น้อยไปกว่ากัน เลยก็คือ การที่นักเทรดคริปโตถูกหลอกลวงให้ลงทุนหรือที่เรียกว่า “Scam”
การหลวงลวงคริปโตดังกล่าวนั้นก็คือ การชักชวนให้ซื้อขายคริปโตผ่านแพลตฟอร์มที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงเป็นเท่าตัวในเวลาสั้น ๆ หรือการหลอกลวงว่า เป็นการระดมเงินเพื่อนำไปสร้างคริปโทที่มาขายฝันไว้ว่าจะเติบโตไปพร้อมคริปโตเคอร์เรนซีสกุลใหม่ของโลก แต่สุดท้ายคนชวนกลับหายตัวและผู้ที่หลงเชื่อต้องสูญเสียเงินไปในที่สุด
กลโกงเหล่านี้เปรียบเหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะวิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ไม่ได้แตกต่างไปจากที่ผ่าน ๆ มา เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราวไปตามกระแสความสนใจของสังคม โดยอาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ และในปัจจุบันการที่มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายขึ้นยิ่งทำให้การหลอกลวงทำได้หลากรูปแบบและหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งที่พบได้บ่อย ก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อผ่านออนไลน์ เช่น เว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย
ล่าสุด มีผู้เสียหายจำนวนมากแจ้งความร้องทุกข์และร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง “สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. 1207” ที่โทรเข้ามาว่า ถูกหลอกให้ซื้อขายคริปโต โดยมิจฉาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทำ “โปรไฟล์ปลอม” ใช้รูปถ่ายที่แสดงหน้าตาหล่อ/สวย เข้ามาทำทีตีสนิท ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเพื่อนหรือเชิงชู้สาว ผ่านทางแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นหาเพื่อน เริ่มจากพูดคุยผ่านแชท ไปจนถึงส่งดอกไม้ ให้ของขวัญจนเหยื่อตายใจ ซึ่งเป็นสัญญาณให้มิจฉาชีพขยับก้าวไปอีกขั้น นั่นคือ การเริ่มด้วยคำถามว่า… “เคยลงทุนในคริปโทไหม?… หากไม่เคยจะสอนให้”
คำถามแนวนี้เริ่มเข้ามาในแชท และชวนซื้อขายคริปโทผ่านแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ของต่างประเทศโดยอ้างว่ากำลังเป็นที่นิยม เพราะทำกำไรได้ดีกว่าในประเทศไทยมาก คล้าย ๆ กับตัวอย่าง 2 รายนี้ ที่ผู้เสียหายได้ร้องเรียนและแจ้งความไว้แล้ว
มิจฉาชีพรายที่ 1
- > เริ่มจากชวนซื้อขายคริปโทผ่านแอปพลิเคชันหนึ่ง ที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง
- > แต่แอปนี้ไม่รับเงินบาท จึงแนะนำให้เปิดบัญชีและซื้อคริปโทสกุลดังใน exchange ต่างประเทศ
- > จากนั้นให้โอนคริปโทที่ซื้อไว้ มาเข้าแอปที่ระบุไว้
- > แนะนำให้ซื้อขายคริปโทตามช่วงเวลาที่บอก โดยอ้างว่าจะได้กำไรมาก
ในช่วงแรกผู้เสียหายลงเงินทีละน้อย และยังสามารถถอนกำไรออกมาได้ตามปกติ มิจฉาชีพก็จะเชียร์ให้ใส่เงินเข้าไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ผู้เสียหายอยากถอนเงินออกมาจากแอป แต่ถอนไม่ได้ และติดต่อมิจฉาชีพรายนั้นไม่ได้อีก
มิจฉาชีพรายที่ 2
- > ขั้นแรกให้เปิดบัญชีคริปโทกับ exchange ในประเทศไทย
- > ให้ซื้อคริปโทสกุลดังเข้า wallet ของเหยื่อเอง
- > จากนั้นให้เปิดบัญชีกับ exchange เป้าหมายซึ่งอยู่ในต่างประเทศ สมมติว่าชื่อ exchange P
- > แนะนำให้โอนคริปโทจาก wallet ในประเทศไปเข้าบัญชีใน exchange P
- > จากนั้นให้นำคริปโทใน exchange P ไปแลกเป็นเหรียญอันใหม่ สมมติว่าชื่อ เหรียญ PT ซึ่งมิจฉาชีพอ้างว่าเหรียญ PT เป็นคริปโทใหม่ที่มีอนาคตไกล
- > มิจฉาชีพแนะนำให้แลกเหรียญ PT สะสมไว้เรื่อย ๆ
จนกระทั่ง เมื่อต้องการถอนเงินออก ปรากฏว่าไม่สามารถถอนเงินได้ และยังพบว่า มูลค่าเหรียญ PT นั้นหายไป เมื่อทวงถามไปยังมิจฉาชีพที่แนะนำ กลับลบแอคเค้าท์ที่พูดคุยออกไปแล้ว และติดต่อไม่ได้อีก
ทั้งนี้ทางก.ล.ต.ได้ขอให้ทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับผู้ที่สนใจซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ให้ระมัดระวังกลโกงสารพัดรูปแบบ จากหลากหลายช่องทางที่อาจเข้ามาถึงเราโดยไม่ทันระวังตัว เพราะมิจฉาชีพมักจะอาศัยจังหวะเวลาหรือช่วงที่เรากำลังยากลำบาก โดยเข้ามาตีสนิท หลอกให้เชื่อใจ แล้วชักชวนให้ซื้อขายคริปโทที่ไม่รู้จัก หรือซื้อขายในแพลตฟอร์มที่ไม่คุ้นเคย
เพราะฉะนั้นหากมีใครมาชักชวนลงทุน หรือ ซื้อขายอะไรก็ตามที่ไม่คุ้นเคยโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงมากในเวลาอันสั้น เราต้องฉุกคิดไว้ก่อนเลยว่า อาจเป็นการหลอกลวง และหากสนใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ ได้จากคอร์สให้ความรู้พื้นฐาน “คริปโท 101” ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และเพจ Start-to-invest ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 – 16.30 น. หรือรับชมย้อนหลังได้ที่ YouTube : ThaiSEC
นอกจากนี้ หากใครไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. sec.or.th หรือทางแอปพลิเคชั่น SEC Check First และหากใครพบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ สงสัยว่าอาจจะหลอกลวงให้ลงทุน สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ “ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” และ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. sec.or.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน