สส. พรรคกล้าวไกลผู้สนับสนุน Bitcoin อัด ก.ล.ต. ไทย หลังออกกฎเกณฑ์ห้ามเว็บเทรดลิสต์เหรียญ 4 ประเภท
ภายหลังจากที่ ก.ล.ต. ไทยได้ออกมาประกาศเปิดตัวแนวทางการห้ามไม่ให้เว็บกระดานเทรดเหรียญคริปโตในไทยลิสต์เหรียญคริปโตทั้งหมด 4 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วยเหรียญ Meme, เหรียญ Fan Token, เหรียญ NFT และเหรียญ native token ของเว็บเทรดแล้วนั้น ล่าสุดดูเหมือนว่า สส. ผู้ให้การสนับสนุน Bitcoin ชื่อดังในไทยก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว
โดยอ้างอิงจากเฟสบุคของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล หรือ สส. บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลนั้น เขาได้ออกมากล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการประกาศของทาง ก.ล.ต. ที่มีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเขากล่าวว่า
“เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.64 เว็บไซต์ราชกิจจา ได้เผยแพร่ ประกาศของสำนักงาน กลต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่11) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2564/E/126/T_0009.PDF เนื้อหาโดยรวม คือการ ‘ห้าม’ ไม่ให้ exchange นำเหรียญ 4 ประเภท ขึ้นสู่กระดานซื้อขาย คือ
- Meme Token
- Fan Token
- NFT
- เหรียญที่ exchange ออกเอง
ประกาศนี้ มีปัญหาอยู่หลายจุด ซึ่งผมจะลองไล่เรียง ปัญหาที่ผมเห็น ดังนี้
[ ไม่มีความชัดเจน ]
ความไม่ชัดเจน สุ่มเสี่ยงให้กฎเกณฑ์ไม่มีมาตรฐาน และขึ้นอยู่กับ ‘วิจารณญาณ’ ของ กลต. ใน ข้อ 1-2 ที่ระบุไม่ให้ exchenge นำ Meme token และ Fan token ขึ้นกระดานซื้อขาย โดย นิยามทั้ง 2 ข้อไว้ว่า Meme token คือ ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจน หรือ ไม่มีสิ่งใดรองรับ โดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชี่ยล Fan Token คือ เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล
ดูคร่าวๆ อาจจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ ของ กลต. คือ ไม่อยากให้ list เหรียญมั่วๆขึ้นกระดาน โดยเจาะจงไปยังเหรียญ Meme เช่น Dogecoin , Shiba Token และกลุ่ม Fan Token ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงปีที่ผ่านมา
แต่คำถามคือ ใครเป็นคนกำหนดว่า เหรียญในบ้างที่ห้าม? เส้นแบ่งของนิยามดังกล่าวอยู่ตรงไหน?
เช่น คำว่า “ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจน” – เหรียญอย่าง Dogecoin และ Shiba ก็มี Whitepaper นะครับ สุดท้าย ใครจะเป็นคนระบุว่า Whitepaper นั้น มีวัตถุประสงค์ หรือ สาระ ชัดเจนหรือไม่
“ไม่มีสิ่งใดรองรับ” – Bitcoin ก็ไม่มีสิ่งใดรองรับ และตัว Bitcoin เอง ก็เป็น Open source ที่ใครก็สามารถนำ code ไปสร้างเหรียญใหม่เองได้ อย่าง Dogecoin เอง ก็เป็นการแก้ไข Code มาจาก Luckycoin ซึ่งแยกออกมาจาก Litecoin ซึ่งก็แยกออกมาจาก Bitcoin อีกทีนึง .. อะไรคือเส้นแบ่งของคำว่า “ไม่มีสิ่งใดรองรับ” ของ กลต.
“ราคาขึ้นอยู่กับกระแสโซเชี่ยล” – ถ้าวันนึง Elon Musk หรือบุคคลมีชื่อเสียงอื่นๆ เชียร์เหรียญใดๆขึ้นมา จะเข้าข่ายข้อนี้หรือไม่
“เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล” – หากวันนึงมี Superstar สักคนนึง ออกเหรียญที่มี Utilities มีวัตถุประสงค์สาระชัดเจน แต่คนเข้าไปซื้อเพราะความ ‘ชื่นชอบส่วนบุคคล’ จำเป็นจะต้องห้ามซื้อขายเหรียญนี้หรือไม่
ถึงแม้ว่าส่วนตัวผมเองไม่เห็นด้วยกับการแบนใดๆ แต่ผมก็เข้าใจว่าเหรียญประเภท Meme token , Fan Token นั้นมีความเสี่ยงสูงมากๆ
แต่หากว่าจะมีการห้ามจริงๆ ผมเห็นว่าการจะจำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ ควรจะมีความชัดเจนของนิยามความหมาย ให้ผู้อยู่ภายใต้การควบคุมนั้นเข้าใจตรงกัน และที่สำคัญ การออกกฎเกณฑ์ หรือ กฎหมายใดๆ ผู้ที่ออกกฎควรจะมีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆอย่างชัดเจน
ผลที่จะตามมาจากความคลุมเครือของกฎเกณฑ์คือ ผู้คุมกฎจะสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองในการตีความได้ตามอำเภอใจ
[ความไม่เข้าใจ]
ในข้อ 3 การห้ามนำ NFT ขึ้นซื้อขาย ..ผมคิดว่าข้อนี้มีปัญหามากๆ
ประการแรก NFT คือ สินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล ที่ไม่สามารถทดแทนได้ และการซื้อขายโอนถ่ายกันคือการยืนยันกรรมสิทธิ์ บนระบบ Blockchain…. ที่ผ่านมา เคยมีการประมูลซื้อขาย NFT หลายชิ้น ในราคาที่สูงลิ่ว เช่น ภาพต้นฉบับของ meme หมาชิบะ Dogecoin หรือ ภาพต้นฉบับของ meme ดังอย่าง disaster girl
อันที่จริง ผมก็ไม่เข้าใจ ว่าซื้อกันแพงขนาดนั้นทำไม ก็คงเหมือนกับหลายคนก็อาจไม่เข้าใจคนที่ซื้องานศิลปะแพงๆ .. ไม่เข้าใจคนสะสมการ์ดนักบาส ที่ซื้อขายพลาสติกใบเล็กๆกันในราคาแพงๆ .…
แต่ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด มันก็เป็นความเต็มใจจะจ่ายของผู้ซื้อเอง การที่เราไม่เข้าใจมัน และอาจจะมองว่ามันแพงเกินจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะมีใครไปห้ามซื้อขายสิ่งนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ เราก็แค่ไม่ซื้อมันเท่านั้นเอง
อีกประการคือ ความที่เป็น Non-Fungible ลักษณะของการซื้อขาย NFT จะใกล้เคียงกับ Marketplace มากกว่าเป็นกระดานเทรดแบบเหรียญทั่วๆไป
การนำมาซื้อขายบน Exchange แน่นอนว่า จะต้องมีการระบุตัวตนของผู้ขาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อ .. และในโลก Decentralized เป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย NFT กัน .. ดังนั้น การประกาศห้ามนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการผลักให้สินทรัพย์ที่ต้องการควบคุม ลงไปอยู่ในตลาดมืดแทน
ประการที่สำคัญที่สุด คือ NFT นั้น เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่มีศักยภาพจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก และในต่างประเทศก็เริ่มมีการเปิดตลาด NFT แล้ว .. เมื่อมีการห้ามซื้อขาย NFT .. “ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเกิดการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีด้านนี้ในประเทศไทย”
[ปิดกั้นโอกาส]
ในข้อที่ 4 การห้ามซื้อขายเหรียญที่ Exchange ออกเอง ซึ่งผมมองว่านี่เป็นการปิดกั้นโอกาสให้เกิดการแข่งขัน ทั้งภายในและภายนอก สาเหตุเพราะ
- ที่ผ่านมา เคยมี exchange ในเมืองไทย ที่ออก Token ในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว และถ้าดูในรายละเอียด เหรียญที่ออกมาก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการ ‘ระดมทุน’ … ประกาศ กลต. ฉบับนี้ ทำให้ exchange รายอื่นๆ จะไม่สามารถทำแบบนี้ได้อีก ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเลยก็ตาม … หรือหากต้องการออกเหรียญ อาจจะต้องหันไประดมทุนในรูปแบบของ ico ที่ต้องขออนุญาต กลต. เป็นกรณี ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยาก และต้นทุนที่สูง และจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่มี พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ก็ยังไม่เคยมีการออก ico ในประเทศไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว ประกาศนี้จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดภายในประเทศที่ชัดเจน
- ในประกาศกล่าวถึง การทำตาม whitepaper ของเหรียญ ซึ่งเหรียญของ exchange ทั้ง2ราย ที่ออกมาแล้วนั้น ก็ได้กล่าวถึงการทำ NFT เมื่อมีการห้ามซื้อขาย NFT ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่ทั้ง2ราย จะสามารถทำตาม whitepaperได้
- การออกเหรียญโดย exchange นั้น เป็นสิ่งที่ทำกันอย่างกว้างขวางในทั่วโลก หลังจากมีประกาศนี้ขึ้น หมายความว่า exchange ในไทย จะไม่สามารถออกเหรียญแบบนี้ได้อีกต่อไป ในขณะที่ exchange ต่างชาติ ยังคงทำได้ปกติ .. และ exchange ไทย ก็ยังสามารถ list เหรียญ ของ exchange ต่างชาติ ขึ้นในกระดานซื้อขายได้ด้วยซ้ำ เพราะไม่เข้าข่าย 4ข้อในประกาศใน กลต. นั่นหมายความว่า หลังจากนี้ exchange ไทย สามารถช่วยขยาย ecosystem ของ exchange ต่างชาติได้ แต่จะไม่สามารถออกเหรียญ เพื่อขยาย ecosystem ของตัวเองได้เลย
สรุปสุดท้าย ผลที่จะเกิดขึ้นจากประกาศ กลต. ฉบับนี้ คือ จะเกิด ความไม่ชัดเจนในนิยาม ซึ่งอาจเกิดปัญหาในกรณีที่ exchange มองว่าเหรียญนั้น ไม่ใช่ meme token แต่ กลต.อาจเห็นไม่ตรงกัน
จะทำให้ตลาด NFT ในประเทศไทยหยุดชะงัก และไม่สามารถเติบโตได้ ผลักให้ผู้ที่สนใจ ออกไปอยู่ในตลาดต่างประเทศแทน
และโดยรวม จะทำให้บรรยากาศการแข่งขันของธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย ที่ถูกจำกัดด้วยข้อห้ามมากมาย จะยิ่งแข่งขันในเวทีโลกได้ยากขึ้นไปอีก .. สุดท้ายแล้ว เรากำลังผลักทั้งผู้ประกอบการ และ ผู้ลงทุน ให้ออกไปอยู่ในตลาดต่างประเทศ ที่ไม่ได้ถูกควบคุม และตลาดในไทยจะกลายเป็นเพียงปลายทางสำหรับนำเงินสดออกมาเท่านั้น
เท่าที่ผมเคยฟังคำชี้แจงจาก กลต. ที่ผ่านมา จนถึงกรณีนี้ ผมมีความรู้สึกว่า ทาง กลต. เอง ไม่ได้เข้าใจถึงเทคโนโลยี ไม่ได้คำนึงถึงโอกาส แต่กำลังเล่นบท “กำกับดูแล” อย่างเดียว .. และผมก็ไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่า บทบาทการ “กำกับดูแล” นั้น เป็นไปด้วยวัตถุประสงค์ในการ “คุ้มครองผู้ลงทุน” อย่างที่กล่าวอ้าง … หรือแค่ผลักภาระให้ผู้ลงทุน ออกไปลงทุนบนที่ที่ไม่อยู่ในการกำกับของตน กันแน่
ในขณะที่โลกกำลังหมุนอย่างรวดเร็วและไม่รอใคร คนกลุ่มนึงจะวิ่งตามให้ทันโลก ในขณะที่คนอีกกลุ่มกลับพยายามฉุดรั้งโลก ให้หมุนช้าเท่ากับตัวเอง ..… และน่าเสียดาย ที่ “อำนาจ” ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มหลัง”
เป็นที่ทราบกันดีในวงการคริปโตว่านายปกรณ์วุฒินั้นเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีคริปโตและ blockchain ตัวยง โดยก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้ก่อตั้ง Bitcoin Center Thailand และยังเคยแนะนำให้ภาครัฐนำเอาเทคโนโลยี blockchain มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสอีกด้วย