<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ผู้ก่อตั้ง Zipmex ต้องการช่วยเป็นกระบอกเสียงให้นักเทรด Crypto ในไทยเรื่องภาษี

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อไม่นานมานี้ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Zipmex ได้เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า Zipmex จะขอเสนอตัวเป็นกระบอกเสียงแทนนักลงทุนในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทย พร้อมเข้าไปพูดคุยกับกรมสรรพากรเพื่อสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนตอวิธีการจัดเก็บภาษีคริปโตและเสนอแนะข้อเสนอของชุมชน

เอกลาภระบุว่า ความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการคำนวณและจัดเก็บภาษีคริปโตที่ออกมาจากกรมสรรพากรในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาก่อให้เกิดเสียงตอบรับเชิงลบจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก แม้การจัดเก็บภาษีจะไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่ภาครัฐควรมีความชัดเจนว่าจะมองคริปโตเป็นสินค้าหรือสินทรัพย์ เหมือนเช่นการจัดเก็บภาษีคริปโตในต่างประเทศ

ทั้งนี้นายเอกลาภระบุเพิ่มเติมว่า

“ถ้าจะมองว่าคริปโตเป็นสินค้าก็คิดเป็น Withholding Tax ไป แต่นี่เรามองเป็นสินทรัพย์ด้วยจึงจัดเก็บ Capital Gain Tax อีก แต่ Capital Gain Tax ก็ไม่เหมือนในประเทศอื่นที่เขาแยกจากภาษีรายได้บุคคล ไม่ใช่คิดเฉพาะจากกำไร ส่วนขาดทุนเอามาหักลบกันไม่ได้ ผมคิดว่าการคิดแบบนี้เป็นการคิดภาษีที่ผิดหลักการ จริยธรรม และผิดจากหลายตำราเลย” 

เอกลาภยกตัวอย่างการจัดเก็บภาษีคริปโตในต่างประเทศว่า จากที่ติดตามมาพบว่าไม่ค่อยมีประเทศใดที่มองคริปโตเป็นสินค้าที่ต้องหักภาษี อาจมีอินโดนีเซียที่มองเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ประเทศส่วนมากจะมองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสกุลเงิน 

โดยในสิงคโปร์ปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีทั้งส่วนที่ Capital Gain Tax และ Withholding Tax เว้นแต่กรณีที่เป็น Security Token จึงจะตีความว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องเสียภาษี ส่วนในออสเตรเลียและสหรัฐฯ แม้จะมี Capital Gain Tax แต่ถ้าผู้ลงทุนถือครองคริปโตมากกว่า 12 เดือน สามารถหักเป็นส่วนลดได้ 50% และยังนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบได้ด้วย ซึ่งต่างจากไทยที่นับแต่กำไร

“การคิดภาษีเฉพาะที่มีกำไรในลักษณะ Growth Income Tax ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับภาครัฐอาจต้องถามตรงๆ เลยว่าเก็บภาษีตรงนี้เพื่อไม่อยากให้วงการดิจิทัลเกิดหรือเปล่า ปิดกั้นหรือเปล่า ถ้าเขาบอกว่าปิดกั้นก็ต้องบอกเลยว่าแล้วคุณให้ใบอนุญาตผมมาทำไม คงต้องคุยกันตรงๆ” 

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเข้าใจว่าสถานการณ์โควิดทำให้รัฐบาลขาดรายได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี โดยเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจะประกาศเก็บภาษีขายหุ้นที่ล้านละ 1,000 บาทไป แต่โดยส่วนตัวมองว่าการหาเงินเข้ารัฐยังมีวิธีการที่ดีกว่านี้ เช่น ถ้ารัฐสนับสนุนวงการสินทรัพย์ดิจิทัลให้เกิดขึ้นในเมืองไทย จะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็น FDI ได้อย่างมหาศาล เกิดการจ้างงานในประเทศ คนไทยมีทักษะเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดีขึ้น ต่างชาติก็เสียภาษี นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้หน้าตาในการเป็น Digital Asset Hub ซึ่งโดยรวมแล้วรายได้ที่จะเกิดขึ้นน่าจะมากกว่าการจัดเก็บภาษีคริปโต

“ต้องยอมรับว่าตลาด Digital Asset ในปีที่ผ่านมาโตมากๆ คนรุ่นใหม่เข้ามาเยอะ รัฐบาลอาจมองว่ามันยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ มีการ Scam การ Rug Pull มีปัญหาเยาวชนไม่เรียน ลาออกมาเทรด แต่การตอบสนองด้วยการเก็บภาษีอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลเองก็มีมาก สังคมดิจิทัลไทยก็มีศักยภาพที่จะเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนเช่นกัน ไม่อยากมองเป็นภัยอันตรายอย่างเดียว” 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้ฟังคลิปวิดิโอดังกล่าวทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ได้รับทราบถึงแนวทางการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในมุมมองของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการจัดหมวดหมู่ของคริปโทเคอร์เรนซี่ว่าจะอยู่ในหมวดหมู่ใดซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันและรอบทสรุป ส่งผลให้ชุมชนคริปโตจำนวนมากเฝ้ารอการพูดคุยระหว่าง Zipmex และกรมสรรพากรที่กำลังจะถึงว่าจะมีแนวโน้มออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งทาง Siamblockchain จะติดตามและรายงานให้ชุมชนทราบเป็นระยะ ๆ 

ที่มา : THE STANDARD