<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ล้ำไปอีก ! ศิลปินใช้ AI สร้างอัมบั้มภาพ ‘นิสิตสาวสุดสวย’ ที่เหมือนจริงจนแทบแยกไม่ออก

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เชื่อว่าหลายคนที่หลงใหลใน “AI” เทคโนโลยีมาแรงของปีนี้ ต้องเคยได้ยินชื่อ AI สุดล้ำอย่าง Midjourney ที่สร้างสรรค์ภาพระดับศิลปินมากฝีมือได้ภายในไม่กี่นาที ด้วยคีย์เวิร์ดเพียงไม่กี่คำที่เราป้อนเข้าไป อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ Midjourney ไม่ได้เป็นเพียง AI ประเภท Generative models เพียงตัวเดียวที่สร้างสรรค์รูปภาพอันน่าตะลึงได้อีกแล้ว

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางเพจ facebook ที่ชื่อว่า “AI Angel Gallery” หนึ่งในเพจโชว์ Gallery รูปภาพสาวสวยที่ Generate ด้วย AI ได้สร้างสรรค์ผลงานในธีม “นักศึกษาสาว” ด้วยโปรแกรม Stable Diffusion WebUI และต่อมาภาพชุดนี้ก็ได้ติดกระแสในโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง

ถ้าหากใครคิดว่าภาพที่ AI สร้างขึ้นจะต้องดูเหมือนกับภาพวาดนั้น ก็ถือว่าเดาผิดไปมากเลยทีเดียว เพราะภาพนักศึกษาชุดนี้เหมือนภาพถ่ายของสาวสวยที่เป็น “คนจริง ๆ” จนคว้าใจชาวเน็ตไปได้ในเสี้ยววินาที

​​

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ Gallery ภาพดังกล่าวมียอดแชร์สูงทะลุหลักพัน ในขณะที่คอมเมนต์เต็มไปด้วยชาวเน็ตจำนวนมากที่แท็กชื่อเพื่อนให้เข้ามาดูสาวสวยในโพสต์นี้ ซึ่งสำหรับใครที่สงสัยว่า “ทำได้อย่างไร” ทางเจ้าของเพจอธิบายเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพชุดนี้ไว้ว่า

“model กับ lora ช่วยกันครับ ใช้ model ChillOutMix และ Lora ชุดนักศึกษาจากที่ mention ไว้ เรื่องคีย์เวิร์ด ก็ทั่ว ๆ ไปได้เลย ลองดูจากรูปสวย ๆ ใน Civitai แล้วดัดแปลงเอาครับ”

แม้ว่าใบหน้าและรูปร่างของนักศึกษาสาวที่สร้างด้วย AI จะดูสวยเป๊ะจนหยุดหายใจ แต่ก็ยังคงสู้ความเป๊ะของชาวเน็ตไม่ได้อยู่ดี เพราะส่วนนิ้วมือในบางภาพมักจะมี 4 นิ้ว หรือ 6  นิ้ว จนหลายคนมาคอมเมนต์แซวกันไป

นอกจากนี้ อาจารย์ตั๊ม พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม ยังเป็นอีกหนึ่งคนที่สังเกตความผิดพลาดในการ Generate รูปภาพของ AI ได้อีกด้วย โดยอาจารย์ตั๊มได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“อย่างไรก็ตาม ai ยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงมีแค่ห้านิ้วถ้าห้าดีกว่าสี่ ทำไมไม่มีหก?? ถ้าหกไม่ดี สามไม่พอเหรอ ทำไมล่ะ ทำมั๊ยยย”

เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพที่สร้างด้วย AI ยังคงมีจุดบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ AI ประเภท Generative models อาจถูกพัฒนาให้สามารถเก็บรายละเอียดของรูปภาพที่สร้างออกมาได้ดียิ่งขึ้น จนการแยกแยะภาพปลอมจาก AI กับภาพของคนจริง ๆ อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

“ต่อจากนี้ไปเราจะแยกรูปภาพว่าของจริงหรือปลอมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ นะ มันสั่งได้เกือบทุกอย่างแล้ว ทั้งหน้าตา เสื้อผ้า ฉากหลัง ท่าทาง และเอาจริง ๆ เรื่องมือเนี่ย ถ้าตั้งใจทำ ก็ทำให้เนียนแบบดูไม่ออกได้ด้วยนะ ไว้จะลองทำให้ดูครับ” เพจ AI Angel Gallery กล่าว

ถ้าหากมิจฉาชีพนำ AI ประเภทนี้มาใช้ เมื่อเหยื่อขอให้มิจฉาชีพส่งภาพชูสองนิ้ว หรือภาพถ่ายคู่กับสถานที่ต่าง ๆ มิจฉาชีพก็อาจสามารถส่งภาพที่สร้างโดย AI ไปเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อก็เป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI จึงควรมาคู่กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยไม่ให้ AI เหล่านี้นำภัยมาสู่มนุษย์ในอนาคต

ที่มา: AI Angel Gallery, Piriya Sambandaraksa