เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 สำนักข่าวเศรษฐกิจ The Standard wealth ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเรื่อง “แฉต้นตอ หายนะ Zipmex บริหารไร้ธรรมาภิบาล” โดยมีคุณศิรัถยา อิศรภักดี หรือคุณเฟิร์น เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในคลิปนี้คุณเฟิร์น ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ Zipmex เกิดปัญหา พร้อมทั้งเปิดเผยคำเตือนจากอดีตพนักงาน Zipmex เกี่ยวกับข้อเสนอคืนเงิน 3.35% ว่าควรทำหรือไม่ ในบทความนี้ Siam Blockchain จะพาไปหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
คุณเฟิร์น กล่าวว่า “อดีตเจ้าหน้าที่เคยทำงานที่ ZIPMEX ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันในกลางปีที่ผ่านมา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ภายใน ZIPMEX โดยเล่าถึงต้นตอสำคัญที่ทำให้ ZIPMEX เกิดหายนะ พร้อมทั้งออกมาเตือนคนที่เป็นลูกค้าของ ZIPMEX เนื่องจากลูกค้า ZIPMEX จะได้รับอีเมลให้โหวตยอมรับข้อเสนอที่จะได้รับเงินคืนมากที่สุดอยู่ที่ 3.35 % โดยอดีตผู้ที่เคยทำงานที่ ZIPMEX เตือนว่าอย่าโหวตยอมรับเด็ดขาด ”
คุณเฟิร์น ระบุถึงหลายประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวว่า “ประเด็นแรกย้อนกลับไป เรื่องของ ZIPMEX ที่เคยเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ZIPMEX ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโตของไทย ได้ระงับการถอนเงินบัญชี ตอนนั้นทำให้เกิดช็อกในวงการคริปโตอย่างหนัก โดยบริษัท ZIPMEX เดินหน้าไปสู่การล้มสลาย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับลูกค้ากว่า 8 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 90 ล้านดอลลาร์”
“หลังจาก ZIPMEX พยายามกู้วิกฤตและการหาเงินคืนลูกค้า ย้อนกลับไปเมื่อว้นที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ZIPMEX ส่งอีเมลไปยังลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นเจ้าหนี้ โดยใจความสำคัญในอีเมลระบุว่า ZIPMEX จะคืนเงินให้สูงสุด 3.35 % ของข้อเรียกร้องที่ได้รับอนุมัติ โดยเงินดังกล่าวจะมาจากสินทรัพย์ที่รวบรวมได้” คุณเฟิร์น กล่าว
“ZIPMEX ได้ให้เหตุผลผ่านการประชุมว่า ข้อเสนอ 3.35 % เป็นสิ่งที่ดีกว่านะ ถ้าจะมีการชำระบัญชีเพื่อปิดกิจการ ซึ่งอาจจะได้เพียง 1.64% เท่านั้น พูดง่าย ๆ คือถ้าได้ 3.35 % ก็น่าจะได้มากกว่า 1.64% เพราะฉะนั้นโหวตให้ได้ 3.35 % มากที่สุดเถอะ ซึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนสามารถโหวตได้จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม เท่านั้น ภายในเวลา 4 โมงเย็นตามเวลาสิงคโปร์ ”
ZIPMEX มีหนี้เพิ่มขึ้น
คุณเฟิร์นกล่าวว่า “อดีตเจ้าหน้าที่เคยทำงานที่ ZIPMEX 2 ราย อยากพูดความจริงกับสื่อ โดยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ZIPMEX มีหนี้เพิ่มขึ้น ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ZIPMEX ในเอเชีย มีเจ้าหนี้ที่มีประกัน 1 ราย แล้วก็มีคู่ค้าอีก 7 ราย รวมหนี้ 5.2 ล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจาก ZIPMEX ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ ZIPMEX เนื่องจากผู้ก่อตั้ง 2 คน คนแรกคือ มาร์คัส ลิม ซึ่งตอนนี้เป็น CEO คนปัจจุบัน และอีกคน คือ ดร.เอกลาภ หรือ ดร.แบงค์ เขาเป็น co-founder 2 คน ที่ได้ร่วมมือกัน จัดตั้ง ZIPMEX ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วจึงมาขยายตลาดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย , ประเทศไทย, อินโดนิเซีย”
คุณเฟิร์นกล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ZIPMEX ในประเทศไทยใหญ่ที่สุด ตอนนี้มีเจ้าหนี้ที่เป็นคู่ค้า 1 ราย แล้วมีเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าที่ไปลงทุนใน ZIPMEX จำนวน 83,298 ราย หรือว่าประมาณ 83,300 ราย ซึ่งหนี้ตอนนี้รวมกัน 98 ล้านดอลลาร์ และเจ้าหนี้ 98 ล้านดอลลาร์เริ่มมีข้อสงสัยใน ZIPMEX เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงที่ ZIPMEX มีปัญหาตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีหนี้อยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ทำไม ZIPMEX ถึงมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 50% ของมูลค่าหนี้เดิม ซึ่งเป็นมูลค่ารวมกว่า 90 ล้านดอลลาร์ หนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากไหน ”
คุณเฟิร์นระบุว่ามีการสอบถาม CEO ของ ZIPMEX ไป แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับมา ซึ่งแหล่งข่าวคาดว่า น่าจะมาจากการที่ ZIPMEX ใช้เงินมาเพื่อทำการฟื้นฟูกิจการ เช่นมีการจ้างทนาย หรือว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ถือเป็นเงินจำนวนที่ค่อนข้างมากถึง 30 ล้านดอลลาร์
วิกฤตของ ZIPMEX เกิดขึ้นได้อย่างไร

คุณเฟิร์นกล่าวว่า “ก่อนตลาดคริปโตจะแตก มีเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ โอกาสของ ZIPMEX ที่เกือบจะขายกิจการได้แล้ว มีคนมาสนใจลงทุนคือบริษัทสัญชาติอเมริกา อย่าง coinbase โดย coinbase ตัดสินใจเข้ามาลงทุนใน ZIPMEX ด้วยเงินลงทุนมูลค่าประมาณ 700 ล้านดอลลาร์ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็น CS , FTX หรือว่า luna เกิดขึ้น ทำให้การตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนของ coinbase นั้นถูกยกเลิกไป เนื่องจากไม่ตัดสินใจมาลงทุนใน ZIPMEX แล้ว ดังนั้นพอข้อตกลงถูกยกเลิก ZIPMEX ก็ไม่มองหาดีลใหม่ ๆ ”
“อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนรายหนึ่งที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนใน ZIPMEX คือ BABEL FINANCE แต่นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ CS กับ BABEL FINANCE ต้องยื่นล้มละลาย เพราะไม่สามารถหาเงินมาคืนเจ้าหนี้อย่าง ZIPMEX ได้ เมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ZIPMEX ก็ไม่ถอนเงินที่ลูกค้าฝากไว้ใน Zwallet ออกจาก BABEL เลยแม้แต่น้อย” คุณเฟิร์นกล่าว
คุณเฟิร์นเล่าต่อว่า “ ในทางตรงกันข้ามยังมีการเพิ่มเงินบางส่วนเข้าไปเพิ่มด้วย ทั้ง ๆ ที่ เริ่มมีสัญญาณของปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สัดส่วนเงินลงทุนที่เข้าไปอยู่ใน BABEL แทนที่จะเข้าไปอยู่ใน ZIPMEX มีจำนวนมาก เอาออกมาไม่ได้ จึงกลายเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ”
ปัญหาที่แท้จริงของ ZIPMEX ที่ฝังรากมาตั้งแต่แรกคืออะไร
คุณเฟิร์นกล่าวว่า “ปัญหาที่แท้จริงของ ZIPMEX คือ บริษัท ZIPMEX ไม่มี ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความเสี่ยงที่ไม่ดีพอ , ความโปร่งใสในการจัดการปัญหา หรือแม้แต่ปัญหาในด้านการสื่อสารที่น้อยมาก หลังเกิดวิกฤตแทบจะไม่เห็นการสื่อสารจาก ZIPMEX เลย”
หาก CS กับ BABEL FINANCE สามารถจัดการการฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ ทำให้จะสามารถมีเงินลงทุนก้อนหนึ่งมาคืนเจ้าหนี้ได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าหนี้ของ CS กับ BABEL FINANCE คือ ZIPMEX นั่นก็แปลว่า ZIPMEX ยังมีโอกาสได้เงินคืนจาก CS กับ BABEL FINANCE อยู่

พอไปดูตัวเลขของการซื้อขายในกระดานเทรดของบริษัท ZIPMEX และ BABEL FINANCE มีผู้บริหารงานบางส่วนได้ถอนเงินออกจาก Zwallet ของตัวเอง มูลค่าหลักสิบล้านดอลลาร์ ก่อนจะเกิดปัญหาขึ้นไม่นาน
ZIPMEX จูงใจให้เจ้าหนี้โหวต yes คือการยินยอมรับเงินสูงสุด 3.35 %

คุณเฟิร์นกล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดว่า CS กับ BABEL สามารถได้รับเงินคืน , ฟื้นฟูกิจการสำเร็จหรือมีคนเอาเงินมาลงทุน แล้วได้เงินคืนกลับมายัง ZIPMEX สิ่งที่น่าสนใจคือ เงินในส่วนที่เกิดจาก 3.35 % คือ 96% กว่าจะไปไหน ? ใครจะเป็นคนจัดการ ? เพราะที่ผ่านมา ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล หรือ ธรรมมาภิบาล ในการดำเนินกิจการหลังจากเกิดปัญหาแทบจะเป็นข้อสงสัยกันอยู่ของสังคม”
คุณเฟิร์นกล่าวว่า “ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหนี้ ตัดสินใจโหวต No คือไม่รับข้อเสนอของทาง ZIPMEX ซึ่งถ้ามีการโหวต No มากกว่า 50% ความโปร่งใสอาจถูกหยิบขึ้นมาทำให้เกิดขึ้นได้ จากการที่เจ้าหนี้จะมีโอกาสจัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมา คณะกรรมการกลุ่มนี้มีหน้าที่จัดตั้งทนายเพื่อเป็นตัวกลางที่จะเข้ามา ซึ่งทนายไม่ได้มีส่วนได้เสียใด ๆ กับทาง ZIPMEX ทนายจะเข้ามาค่อย ๆ ตรวจสอบข้อมูล แล้วเข้าไปล้วงลึกว่าเกิดอะไรขึ้น”
คุณเฟิร์นกล่าวว่า “ไม่ได้มีการการันตีว่าเมื่อโหวต No แล้วจะได้รับเงินมากกว่า 3.35 % แต่ถ้าหากโหวต No อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้คนที่มีอำนาจในการตรวจสอบเป็นตัวกลางมากขึ้น แต่ทนายนั้นก็ถูกว่าจ้างมา และได้รับเงินจากทาง CEO คือคุณมาร์คัส ลิม ซึ่งทำให้การสอบถามข้อมูล ความโปร่งใสต่าง ๆ ทำได้ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากไม่ได้ความร่วมมือจากทนายเท่าไหร่ และปัจจุบัน CEO อย่างคุณ เอกลาภ ลาออกจากการเป็น CEO ZIPMEX ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้วด้วย”
คุณเฟิร์น ได้อธิบายถึงการโหวต โดยกล่าวว่า “โหวต yes คือเห็นด้วย เจ้าหนี้จะได้รับเงินคืนสูงสุด 3.35 % นั่นหมายความว่า แม้ ZIPMEX จะได้เงินมามากน้อยแค่ไหนก็จะได้ 3.35 % ซึ่งอาจได้น้อยกว่านี้ก็ได้ เนื่องจากพอไปดูสินทรพย์ที่มีอยู่ตอนนี้ เงินเหลือน้อยมากไม่ถึง 1 % ที่จะคืนให้กับลูกหนี้ได้
ส่วนโหวต No คือไม่เห็นด้วย หากปริมาณการโหวตมากพอ เกิน 50% ทำให้ผู้ที่เป็นลูกค้าของ ZIPMEX ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งมีผู้เสียหายที่มีพอร์ตการลงทุนสูงถึงหลายสิบล้านดอลลาร์ ออกมาเปิดเผยว่า มีการตั้งทนายเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ซึ่งเขายินดีที่จะเป็นคณะกรรมการให้ตั้งทนายกลางเข้ามาตรวจสอบทั้งหมด
แต่ถ้าไม่โหวตก็จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะไม่มีบทบาทในมิติของการดำเนินงานหลังจากนี้ และจะไม่ได้รับเงิน 3.35 % ซึ่งการไม่โหวตก็อาจจะเท่ากับโหวต No ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการโหวตในท้ายที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผลการโหวต หลังวันที่ 6 ธันวาคม ดังนั้นในฐานะเจ้าหนี้ทำได้สองอย่าง คือ โหวต yes หรือโหวต no
หากเพื่อนต้องการฟังคลิปฉบับเต็มของ THE STANDARD WEALTH สามารถเข้าฟังเพิ่มเติมได้ที่ : youtube