<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ไขข้อสงสัย “ทองคำ คริปโต” ออก Easy E-Receipt ได้ ต้องลงทุนขั้นต่ำเท่าไหร่ ?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

“ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้งในปี 2567 ในชื่อใหม่ว่า “Easy E-receipt” มาตรการลดหย่อนภาษี กระตุ้นการใช้จ่าย ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป นั่นคือ “ต้องออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร” โดยมีมูลค่าสูงสุดถึง 50,000 บาท

นอกจากหมวดสินค้าและบริการทั่วไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งหมวดสินค้าที่หลายคนยังไม่รู้ว่าสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้เช่นกัน นั่นก็คือ “บริการการซื้อ-ขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุน” ทั้ง “ทองคำ” และ “คริปโทเคอร์เรนซี”

แต่คำถามคือ การลงทุนในทองคำและคริปโทเคอร์เรนซีนั้น จะสามารถลดหย่อนได้เท่าไหร่ และมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง? เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้

ทองคำ – คริปโทเคอร์เรนซี เข้าร่วม Easy E-Receipt

สำหรับทองคำและคริปโทเคอร์เรนซี เข้าร่วมมาตรการ Easy E-receipt เช่นกัน อย่างไรก็ตามทั้งยอดซื้อทองคำ และคริปโทเคอร์เรนซีจะไม่สามารถนำมาคำนวณการลดหย่อนภาษีได้ แต่สามารถนำมาคำนวณได้เฉพาะ ‘ค่าบริการ’ ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขาย ซึ่งในที่นี้ก็คือ

  • ค่ากำเหน็จ จากการซื้อขายทองคำ

สมาคมค้าทองคำกำหนดประกาศค่ากำเหน็จแนะนำไว้ที่ขั้นต่ำ 500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ ซึ่งร้านขายทองนิยมตั้งค่ากำเหน็จที่ 500 – 800 บาทต่อบาททองคำ

หากต้องการลงทุนซื้อทองเพื่อให้มีค่ากำเหน็จถึงเพดาน 50,000 บาท จะต้อง

  • ลงทุนเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 3.42 ล้านบาท สำหรับร้านทองที่คิดค่ากำเหน็จ 500 บาท
  • ลงทุนเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 2.13 ล้านบาท สำหรับร้านทองที่คิดค่ากำเหน็จ 800 บาท

(ราคาทองคำ ณ วันที่ 9 ม.ค. 66 : 34,150 บาท/บาททองคำ)

  • ค่าธรรมเนียมที่ชำระสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ตัวอย่างศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ในไทยที่เข้าร่วมโครงการ Easy E-receipt คือ Bitkub ซึ่งหากต้องการใช้บริการต่างๆ ของ Bitkub เพื่อให้ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเต็มจำนวนที่ 50,000 บาท จะต้อง

  • ซื้อหรือขายคริปโทเคอร์เรนซีมูลค่า 20 ล้านบาท จากการคิดค่าธรรมเนียม 0.25%

สำหรับคริปโทเคอร์เรนซีแต่ละสกุล มีค่าธรรมเนียมการถอนไม่เท่ากัน อาทิเช่น

  • Bitcoin : ต้องถอน Bitcoin มูลค่า 172.41 ล้านบาท
  • Ethereum : ต้องถอน Ethereum มูลค่า 15.63 ล้านบาท
  • Tether : ต้องถอน Tether มูลค่า 6,250 บาท
  • ค่าธรรมเนียมที่ชำระสำหรับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัล และถอนเงินบาท
  • ค่าธรรมเนียมที่ชำระจากการแลกเหรียญเป็นเครดิตค่าธรรมเนียม (Fee Credit)

สำหรับกรณีการแลกค่าธรรมเนียมและการนำเครดิตค่าธรรมเนียมมาใช้ชำระค่าธรรมเนียมนั้น Bitkub ยกตัวอย่างการใช้สิทธิ์ดังนี้

นายจริงใจนำเหรียญ KUB มาแลกใช้เครดิตค่าธรรมเนียม (Fee Credit) เป็นมูลค่า 100,000 บาท ในวันที่ 2 มกราคม 2567 และได้รับโบนัส 20% เป็นเงิน 20,000 บาท

  • นายจริงใจจะได้รับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการใช้จ่ายมูลค่า 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2567
  • ถ้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายจริงใจใช้เครดิตค่าธรรมเนียมดังกล่าวทั้งหมด นายจริงใจจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ 50,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่สามารถลดหย่อนได้
  • หากนายจริงใจไม่ได้ใช้เครดิตค่าธรรมเนียมที่แลกมาเลย ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายจริงใจจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในกรณีนี้

สรุป

การลงทุนในทองคำและคริปโทเคอร์เรนซี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-receipt และต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) เท่านั้น

ทั้งนี้ เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียมการซื้อขายของแต่ละประเภทสินทรัพย์ ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุน ควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีให้ถี่ถ้วน

ที่มา : amarintv