เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาแฟนเพจเฟซบุ๊กของ Beartai เพจสำนักข่าวด้านเทคโนโลยีชื่อดังของเมืองไทย ได้ลงคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ “ท๊อป จิรายุส” ผู้ก่อตั้ง Bitkub ในประเด็นถึงภัยคุกคามของเทคโนโลยีควอนตัวคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบมหาศาลต่อวงการคริปโต และคุณท๊อปก็ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้เป็นอย่างมาก
ในระหว่างการสัมภาษณ์ คุณท๊อปกล่าวว่า หากเทคโนโลยีควอนตัม ดำเนินการตามกฎของมัวร์ (Moore’s law) ที่ระบุว่าพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์จะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุก ๆ สองปี หมายความว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะพร้อมใช้งานในอีก 12 ปีข้างหน้า ซึ่งในวันที่ควอนตัมพร้อม เทคโนโลยีบล็อกเชนจะถูกทำลายทันทีและไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งมีสาเหตุหลักแบ่งออกได้เป็นสองด้าน
ในด้านแรกคุณท๊อปได้พูดถึง cryptographic hash function ที่เป็นสมการในการขุด Bitcoin นั้นจะเสียสมดุลเนื่องจากจะมีบุคคลหนึ่งมีพลังในการประมวลผลมากกว่าบุคคลอื่นหลายพันหลายแสนเท่า เหมือนเป็นคนเดียวที่เอาชนะคนทั้งโลกได้ ดังนั้นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวก็จะเป็นผู้ชนะขุดได้ Bitcoin อยู่เสมอในทุก ๆ 10 นาที ดังนั้นเขาจะสามารถทำอะไรก็ได้ส่งผลให้ระบบนิเวศโดยรวมเกิดการรวมศูนย์ทันที
วิธีการดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากการนำควอนตัมคอมพิวเตอร์มาใช้งานกับ Shor’s Algorithm ที่มีเป้าหมายในการแยกตัวประกอบของจำนวนเต็ม ที่มีประสิทธิภาพและมีความเร็วอย่างมากมาใช้ถอดรหัส cryptographic hash function
ถัดมาคือด้านการโอน Bitcoin ซึ่งคุณท๊อประบุว่าทุก ๆ Bitcoin Address นั้นจะประกอบไปด้วย Private Key , Public Key , และ Digest ของกระเป๋า wallet ซึ่งโดยปกติแล้ว Private Key จะไม่เปิดเผย แต่จะเป็นการนำ Digest มาเทียบกับ Public Key เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม แต่เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถใช้อัลกอริทึมของโกรเวอร์ (Grover’s Algorithm) ในการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) ย้อนประวัติการทำธุรกรรมไปค้นหา Private Key ได้ ส่งผลให้คนที่ถือครองควอนตัมคอมพิวเตอร์เห็น Private Key ได้ทั้งหมด หมายความว่าเขามีสิทธิที่จะสูบเงินของใครก็ตามออกจากกระเป๋าได้ตลอดเวลา เว้นแต่กระเป๋าเงินดังกล่าวจะไม่เคยมีประวัติการทำธุรกรรมเลยก็อาจจะรอดจากการโจมตี
ทั้งนี้แม้ความเป็นไปได้จะน่ากลัว แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลขนาดนั้นเพราะการเจาะเข้า Bitcoin นั้นถือเป็นเรื่องเล็กเป็นอย่างมากหากเทียบกับการเจาะเข้าระบบยิงขีปนาวุธ หรือหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งสามารถทำได้เช่นกันผ่านเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากมีการโจมตีเกิดขึ้นคริปโตก็ไม่น่าจะเป็นเป้าหมายแรกของการโจมตีแน่นอน
มากไปกว่านั้นในการที่จะรับมือเทคโนโลยีนี้ ทั่วโลกก็ได้มีการวิจัย Anti quantum computing หรืออีกชื่อ Post-quantum cryptography (PQC) ขึ้นมาเช่นกันเพื่อหาทางรับมือภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีตัวเดียวกันแต่นำมาประยุกต์ใช้อีกรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายเช่นหากจะป้องกันดาบที่เข้ามาโจมตีเราสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันด้วยโล่ที่ทำจากวัสดุเดียวกันนั่นเอง ดังนั้นเราสามารถวางใจได้ว่าการมาของควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ที่มา : Facebook