<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ย้อนรอยมหากาพย์ Libra – Diem โปรเจกต์เหรียญคริปโตของ Meta ที่เจ๊งไม่เป็นท่า

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน Meta บริษัทแม่ของ Facebook ภายใต้การนำของ Mark Zuckerberg เคยมีไอเดียที่จะเปิดตัวเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของตัวเองแต่ก็ต้องเผชิญอุปสรรคมากมายจนสุดท้ายก็ต้องล้มเลิกโปรเจกต์ไปในที่สุด โดยในบทความนี้สยามบล็อกเชนจะพาทุกท่านมาย้อนรอยว่าโปรเจกต์ดังกล่าวเริ่มต้นได้อย่างไร และทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Meta ถึงไม่สามารถดันโปรเจกต์ขึ้นมาได้สำเร็จ

การมาของบล็อกเชน

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ที่ทาง Facebook ได้ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งทางบริษัทก็ได้สนใจมันมากเพราะคาดว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย และได้ทำการว่าจ้าง Morgan Beller หนึ่งในผู้ที่ศึกษาเรื่องบล็อกเชนจนชำนานเข้ามาร่วมทีม

1 ปีถัดมาในปี 2018 ทีมวิจัยบล็อกเชนก็ได้เติบโตและต้อนรับสมาชิกใหม่อย่าง David Marcus เข้ามาและเริ่มพัฒนาโปรเจกต์บล็อกเชนตัวแรกของ Facebook ซึ่งในปี 2019 ก็ได้มีการประกาศชื่อ ออกมาอย่างเป็นทางการในนามของ “Libra”

Libra : ความทะเยอทยานของ Facebook

สำหรับจุดมุ่งหมายของการสร้าง Libra นั้นทางผู้พัฒนาต้องการให้มันกลายเป็นสกุลเงินใหม่ของโลกที่สามารถใช้งานได้ง่าย รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สามารถรองรับการใช้งานโดยคนนับพันล้าน ผ่านการใช้แพลตฟอร์มสื่อโซเซียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook (ในช่วงเวลานั้น)

ตัวโปรเจกต์นั้นถูกกำหนดไว้ว่าจะถูกรันโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Libra Association เพื่อสร้างความไว้วางใจ, ความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้ และกระตุ้นให้เกิดการยอมรับทั่วโลกจนกลายเป็นกระแสหลัก โดยองค์กรดังกล่าวประกอบไปด้วยพาร์ทเนอร์หลายราย อาทิ Andressen Horowitz , Coinbase, Spotify, Lyft, Uner, Shopify

ต่อมาในปี 2020 แม้สถานการณ์โควิดยังคงตึงเครียดแต่ทาง Libra ก็ยังไม่ล้มเลิกโปรเจกต์แต่อย่างใด อีกทั้งยังได้จับมือกับ Swiss Financial Markets Supervisory Authority (FINMA) ในเดือนเมษายน เพื่อสร้างระบบการชำระเงินที่ครอบคลุมทั้งโลกอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ยิ่งเสริมแรงให้กับ Libra ที่เดิมได้กลายเป็นบล็อกเชนแบบเปิดที่ต้องอาศัยการอนุญาต (open permissioned blockchain) ซึ่งบล็อกเชนประเภทนี้จะอนุญาตให้แก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าร่วมในเครือข่าย ซึ่งต่างจากบล็อกเชนสาธารณะ (public blockchain) ที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้ การเลือกใช้บล็อกเชนแบบนี้ช่วยให้ Libra สามารถควบคุมความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของระบบได้ดียยิ่งขึ้น

มากไปกว่านั้น Libra ยังได้บูรณาการ framework ที่แข็งแกร่งสำหรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเงินและการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งเครือข่าย ช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน เป็นต้น และในเวลาไล่เลี่ยกันทาง Libra ยังได้เพิ่มฟังก์ชันการทำงานที่จำเป็นสำหรับ Stablecoin ที่ Peg กับสกุลเงินเดียวเข้าไปอีก ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลต่ออนาคตของโปรเจกต์ Libra  เป็นอย่างมาก

โดนหมายหัวจนต้องเปลี่ยนรีแบรนด์เป็น Diem

แน่นอนว่าโปรเจกต์ดังกล่าวหากเสร็จสมบูรณ์จะสร้างผลกระทบมหาศาลขึ้นทั่วทั้งโลก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Libra ถูกหน่วยงานกำกับดูแลเพ่งเล็งเป็นพิเศษ จนกระทั่งจุดหนึ่งทาง Libra ก็จำเป็นที่จะต้องหยุดการพัฒนาไว้ชั่วคราวเนื่องจากถูกเพ่งเล็งโดยหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลสหรัฐฯ 

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 และได้ส่งผลให้พาร์ทเนอร์หลายรายต้องยอมจำนานและถอนตัวออกไปจากโปรเจกต์ เนื่องจากกังวลว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งบริษัทที่ถอนตัวออกไปประกอบไปด้วย Visa, MasterCard, eBay, Stripe และ Mercado Pago

เพื่อยุติความวิตกกังวลนี้ตัวของ Mark Zuckerberg จึงได้ให้การต่อสภาสหรัฐ ฯ ว่าทาง Facebook จะขอถอนตัวออกจาก Libra Association เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจและให้โปรเจกต์สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามกรอบการดูแลของหน่วยงาน 

จนกระทั่งต่อมาในเดือนธันวาคม 2020 ทาง Libra Association จึงได้ตัดสินใจรีแบรนด์ตัวเองเปลี่ยนชื่อเป็น Diem และเปลี่ยนแนวทางของโปรเจกต์เป็นการออกเหรียญ Stablecoin แทน พร้อมกับว่าจ้างทีมงานชุดใหม่เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมา ทว่าทีมชุดใหม่นี้ก็อยู่ได้ไม่นานนัก

ความฝันพังทลาย 

ด้วยความพยายามที่จะฟื้นคืนชีพให้กับโปรเจกต์ Diem ได้ติดต่อไปยังพาร์ทเนอร์หลายรายให้ช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ออกเหรียญให้ ซึ่ง Silvergate Bank ก็ได้เสนอตัวเข้ามาทำหน้าเป็นผู้ออกและจัดการเหรียญให้กับ Diem จนเวลาล่วงเลยไปถึงกันยายน 2021 Bertrand Perez ซีโอโอของบริษัทก็ได้ประกาศขอถอนตัวจาก Diem เช่นเดียวกันกับหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกโปรเจกต์อย่าง David Marcus ที่ได้ลาออกจาก Meta ด้วยเช่นกันในเดือนพฤศจิกายน

แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องจบลงในเดือนมกราคม 2022 เพราะทางสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Diem เริ่มทยอยขายสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อคืนเงินให้แก่นักลงทุน เพราะโปรเจกต์นั้นล่าช้าเป็นอย่างมากและเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย และไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่อ้างไว้ได้

รายงานเปิดเผยว่าทาง Silvergate ได้เป็นคนซื้อสินทรัพย์ของ Diem ทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์ อันเป็นผลให้ทาง Diem ประกาศปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจาก Diem ที่ล่มสลายแล้วตัวของ Silvergate ก็ยังได้ล่มสลายในเวลาต่อมาด้วยเช่นกันอันเป็นผลพวงมาจากการล่มสลายของเว็บเทรด FTX ภายใต้การนำของ Sam Bankman Fried ในปีถัดมา