ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา DeSci กลายเป็นกระแสร้อนแรงที่ทุกคนพูดถึง หลังจากที่ Binance Labs ประกาศลงทุนใน BIO Protocol ซึ่งจุดประกายให้โทเค็นในกลุ่ม DeSci อย่าง VITA, GROW และ RSC พุ่งทะยานขึ้นอย่างน่าตกใจ
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม DeSci (Decentralized Science) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการและนักวิจัยที่สนใจนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์ งานนี้จัดขึ้นโดย Binance Labs และได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อบุคคลสำคัญในวงการคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Changpeng Zhao (CZ) ผู้ก่อตั้ง Binance และ Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
Decentralized Science (DeSci) คืออะไร?
Decentralized Science หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า DeSci คือ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับใช้กับวงการวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายในการกระจายอำนาจ เปลี่ยนระบบการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์แบบเดิม ๆ ให้โปร่งใส มีส่วนร่วม และเข้าถึงได้มากขึ้น
ในโลกของ DeSci งานวิจัยหรือผลการทดลองต่าง ๆ จะถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขหรือบิดเบือนข้อมูลได้ อีกทั้งยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น สถาบันหรือวารสารวิชาการที่มักมีค่าใช้จ่ายสูง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ DeSci สามารถช่วยให้นักวิจัยที่มีงบประมาณจำกัดสามารถเข้าถึงทุนสนับสนุนจากผู้ที่สนใจโดยตรงผ่าน Smart Contract หรือช่วยให้นวัตกรรมต่าง ๆ ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยการทำงานร่วมกันแบบเปิด
ไม่แปลกใจเลยที่ DeSci กลายเป็นหัวข้อที่ดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการคริปโตฯ อย่าง CZ (Changpeng Zhao) และ Vitalik Buterin ให้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะแนวคิดนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่โลกการเงิน แต่ยังขยายไปถึงการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีที่อาจเปลี่ยนชีวิตของคนทั้งโลก
DeSci จะช่วยเปลี่ยนวงการวิทยาศาสตร์ให้ดีขึ้นได้ยังไง?
ลองนึกภาพว่าโลกวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกำลังถูกปรับเปลี่ยนด้วยพลังของ Web3 โดย DeSci หรือ Decentralized Science จะเข้ามาปฏิวัติระบบเดิม ๆ และแก้ไขปัญหาอยู่เพียบในวงการวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิม (TradSci)
แก้ปัญหาเรื่องเงินทุนกระจุกตัว
ในอดีต เงินทุนวิจัยมักจะกระจุกอยู่ที่บางกลุ่มหรือบางองค์กร แต่ DeSci ใช้กลไกอย่าง Quadratic Donations กับ DAO ที่ช่วยกระจายเงินทุนไปยังโครงการที่คนให้ความสนใจจริง ๆ และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวิจัยได้
การเข้าถึงข้อมูลวิจัยง่ายขึ้น
ถ้าข้อมูลวิจัยทุกชิ้นถูกเก็บไว้บนบล็อกเชน มันจะโปร่งใสและไม่สามารถแก้ไขได้ แถมคนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องผ่านระบบสมัครสมาชิกหรือเสียเงินมหาศาล Smart Contract ยังช่วยควบคุมว่าใครเข้าถึงได้บ้าง ทำให้ทุกอย่างยุติธรรมและปลอดภัยสุด ๆ
แรงจูงใจให้นักวิจัยพัฒนาต่อเนื่อง
DeSci จะมีระบบ Token Rewards ที่ให้รางวัลเป็นเหรียญคริปโต ใครทำผลงานดี ก็ได้รางวัลไป แถมยังมี Reputation Systems ที่ให้เพื่อนร่วมวงการช่วยกันโหวตคะแนนสร้างความน่าเชื่อถือให้กันและกัน นอกจากนี้ การตรวจสอบผลงานวิจัย (Peer Review) ก็โปร่งใสสุด ๆ เพราะทุกอย่างอยู่บนบล็อกเชน ตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย
Use-Case ของ DeSci
1. การตีพิมพ์ทางวิชาการ
ลองนึกภาพนักวิจัยคนหนึ่งที่ค้นพบวิธีใหม่ในการรักษาโรค แต่ต้องรอตีพิมพ์ในวารสารซึ่งใช้เวลาหลายเดือน แถมยังต้องจ่ายค่าเผยแพร่แพงลิ่ว! DeSci จะเข้ามาเปลี่ยนเกมนี้ ด้วยการสร้างคลังข้อมูลวิจัยแบบกระจายอำนาจ นักวิจัยสามารถอัปโหลดงานของตัวเองให้คนทั่วโลกเข้าถึงได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง งานวิจัยนั้นก็ยังอยู่ในระบบอย่างปลอดภัยและตรวจสอบได้
2. การระดมทุนวิจัย
สมมติว่ามีนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการทุนวิจัยเพื่อสร้างวัคซีนใหม่ แต่ไม่รู้จะหาเงินทุนจากไหน DeSci ช่วยให้เขาเปิดแคมเปญระดมทุนผ่าน Crowdfunding โดยใช้ Smart Contract มาช่วยจัดการ ไม่ต้องกลัวเรื่องการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ผู้สนับสนุนยังมั่นใจได้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์จะถูกใช้ในงานวิจัยจริง ๆ แถมยังสามารถให้รางวัลตอบแทนผู้สนับสนุนเป็นโทเค็นหรือผลลัพธ์งานวิจัยที่ช่วยชีวิตคนได้
3. การแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือ
ลองนึกถึงนักวิทยาศาสตร์สองคนจากคนละประเทศที่กำลังวิจัยเรื่องเดียวกัน แต่ไม่รู้ว่าจะร่วมมือกันยังไง DeSci ช่วยให้พวกเขาแบ่งปันข้อมูลในระบบที่ปลอดภัยและโปร่งใส แถมยังมีระบบ โทเคนไนซ์ ข้อมูลวิจัย ทำให้นักวิจัยสามารถสร้างรายได้จากการแชร์ผลงานของตัวเอง เช่น ขายสิทธิ์การใช้ข้อมูลให้บริษัทเทคโนโลยีหรือมหาวิทยาลัย
4. การตรวจสอบโดยเพื่อนร่วมงาน
ปัญหาใหญ่ของงานวิชาการคือกระบวนการตรวจสอบผลงานที่ใช้เวลานานและบางครั้งไม่โปร่งใส DeSci ใช้ระบบบล็อกเชนมาช่วยบันทึกการตรวจสอบจากเพื่อนร่วมงาน (Peer Review) ทุกครั้งลงในระบบ ทำให้ผู้ตรวจสอบได้รับเครดิตตามจริง เช่น นักวิจัย A ส่งงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเข้าไป นักวิจัย B, C, D ช่วยตรวจสอบและบันทึกความคิดเห็น ระบบนี้จะเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้อย่างโปร่งใสและไม่สามารถแก้ไขได้
DeSci ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือทางเทคโนโลยี แต่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักวิจัย ผู้สนับสนุน และผู้คนทั่วโลก
DeSci VS TradSci: อะไรดีกว่า? มาดูเปรียบเทียบกัน
ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันจริง DeSci นี่ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมเลย เพราะมันใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและเพิ่มความน่าเชื่อถือในวงการวิทยาศาสตร์ ทุกข้อมูลหรือบันทึกที่ถูกเก็บไว้จะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เลย เรียกว่าสมบูรณ์และตรวจสอบได้ 100% แต่ถ้าพูดถึงระบบวิทยาศาสตร์แบบเดิม (TradSci) ทุกอย่างยังต้องพึ่งพาสถาบันกลางในการตรวจสอบหรือยืนยันผลการวิจัย ซึ่งบางทีก็มีข้อสงสัยเรื่องความลำเอียงหรือความโปร่งใสอยู่เหมือนกัน นี่แหละจุดที่ DeSci ก้าวขึ้นมาโดดเด่นและแตกต่าง
1.การเข้าถึงและความครอบคลุม
ถ้าเป็น DeSci นี่ต้องบอกว่าชนะเรื่องการเข้าถึงขาดลอย เพราะแพลตฟอร์มนี้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลวิจัยได้แบบเปิด ๆ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องจ่ายค่าสมัครแพง ๆ แต่ TradSci หรือวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิมเนี่ย ยังติดอยู่กับระบบเก่าที่ต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ หรือมีค่าใช้จ่ายมหาศาล กว่าจะเข้าถึงข้อมูลได้
2.ความร่วมมือและนวัตกรรม
DeSci กระตุ้นให้นักวิจัยจากทั่วโลกสามารถแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรได้ง่าย ๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งสร้างพื้นที่ให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้แบบไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่ TradSci ยังติดกรอบของระบบสถาบันหรือองค์กรใหญ่ ๆ ที่บางทีก็ทำให้การร่วมมือกันยุ่งยาก หรือเกิดช่องว่างระหว่างทีมวิจัย
3.การระดมทุนและแรงจูงใจ
DeSci มีจุดเด่นที่กลไกการระดมทุนแบบกระจายอำนาจ เช่น DAO หรือ Quadratic Donations ซึ่งช่วยให้นักวิจัยได้รับทุนอย่างยุติธรรมตามคุณภาพงาน แถมยังมีแรงจูงใจเป็นรางวัลที่ชัดเจน แต่ฝั่ง TradSci ยังต้องพึ่งสถาบันใหญ่ ๆ ที่บางครั้งเงินทุนถูกกระจายแบบไม่สมดุล หรือมีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนทำให้นักวิจัยเสียเวลาไปมาก
ตัวอย่างโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ DeSci
BIO(BIO Protocol)
BIO Protocol เป็นโปรเจกต์ที่มาแรงสุด ๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจาก Binance Labs เป้าหมายหลักของโปรเจกต์นี้คือ การสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยระดมทุนและส่งเสริมความร่วมมือในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและ DAO มาเป็นตัวช่วยสำคัญ
จุดเด่นคือ BIO Protocol โฟกัสไปที่การแก้ปัญหาใหญ่ ๆ อย่างโรคหายาก งานวิจัยด้านอายุยืน และการแช่แข็ง (Freezing) เพื่อรักษาสภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ที่ยังเป็นความท้าทายของวงการ โดยตอนนี้เครือข่ายของ BIO Protocol มีถึง 7 BIO DAOs ที่ครอบคลุมตั้งแต่การแช่แข็ง สุขภาพสตรี ไปจนถึงเรื่องสุขภาพจิต
แถมยังมีระบบโทเคนของตัวเอง ซึ่งสามารถใช้เป็นแรงจูงใจในระบบได้อีกต่างหาก งานนี้ใครที่สนใจเรื่องสุขภาพและการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเปลี่ยนโลก ต้องติดตาม BIO Protocol ไว้เลย เพราะโปรเจกต์นี้มีของดีที่พร้อมจะปฏิวัติวงการวิจัย
VitaDAO (VITA)
VitaDAO เป็นโปรเจกต์ที่มาแรงไม่เบาในสายงานวิจัยเกี่ยวกับการยืดอายุขัย ล่าสุดพวกเขาระดมทุนได้มากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แถมยังได้รับการลงทุนจาก Pfizer Ventures อีกด้วย! โปรเจกต์นี้ยิ่งเป็นที่พูดถึงมากขึ้นหลังจาก Vitalik โชว์ผลิตภัณฑ์ชะลอวัยตัวแรกของ VitaDAO ชื่อ “VD001” ให้ CZ ดูในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาหารเสริมสเปอร์มิดีนเข้มข้นจากธรรมชาติที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงาน อย. ของไทย
ความพีคอยู่ที่ราคาเหรียญ VITA ที่พุ่งแรงสุด ๆ โดยมีการเพิ่มขึ้นสูงสุดรายวันถึง 82.4% ราคาล่าสุดอยู่ที่ 3.12 ดอลลาร์ พร้อมมูลค่าตลาดที่ทะลุ 80 ล้านดอลลาร์ เรียกว่าพุ่งเกือบ 3 เท่าในสัปดาห์เดียว ใครที่สนใจทั้งงานวิจัยล้ำ ๆ และโอกาสลงทุน บอกเลยว่าต้องจับตา VitaDAO ให้ดี
ResearchHub (RSC)
RSC คือโทเคนของแพลตฟอร์ม ResearchHub ที่ Brian Armstrong ผู้ก่อตั้ง Coinbase เป็นคนสร้างขึ้นมา จุดประสงค์หลักคือการให้รางวัลกับผู้ใช้ที่ช่วยสร้างสรรค์เนื้อหางานวิจัยดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความใหม่ ความคิดเห็น หรือการรีวิวผลการทดลองที่เพื่อนร่วมงานทำไว้
ทุกครั้งที่โพสต์อะไรดี ๆ หรือมีคนกดไลก์ให้ คุณจะได้รับโทเคน RSC เป็นเหมือนแต้มสะสมที่ไม่ใช่แค่รางวัลธรรมดา เพราะมันแสดงถึง “ชื่อเสียง” และ “อิทธิพล” ของคุณในชุมชน ResearchHub ยิ่งมี RSC มาก ก็ยิ่งได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ให้เครื่องหมายรับรองเนื้อหาสำคัญ แก้ไข หรือจัดการกับเนื้อหาที่ไม่ค่อยโอเค เพื่อช่วยให้แพลตฟอร์มนี้มีมาตรฐานสูงขึ้น
สรุปง่าย ๆ RSC ไม่ใช่แค่โทเคนทั่วไป แต่มันถึงขั้นเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นและการยอมรับในวงการวิจัยออนไลน์กันเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้ DeSci อาจไม่ใช่แค่เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองและปฏิบัติต่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มันชวนให้เราตั้งคำถามถึงความเท่าเทียม ความโปร่งใส และการเข้าถึงที่ควรมีในวงการนี้ หาก DeSci สามารถแก้ไขปัญหาที่เราพูดถึงได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเงินทุน การเปิดการเข้าถึงข้อมูล หรือการลดข้อจำกัดในระบบวิทยาศาสตร์แบบเดิม โลกวิทยาศาสตร์ในอนาคตอาจไม่เพียงแค่ยุติธรรมขึ้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่เราทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง