มีรายงานว่าแผนกผู้จัดการด้านธุรกิจของธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBoC) กำลังออกจดหมายถึงผู้ให้บริการด้านการจ่ายเงินในกรุงปักกิ่งหยุดให้บริการนักลงทุน cryptocurrency เมื่อวานนี้
รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์นามว่า Securities Times โดยมีใจความว่าให้ผู้ให้บริการด้านระบบจ่ายเงินเริ่มทำการสืบสวนสอบสวนกิจกรรมด้านการซื้อขาย cryptocurrency ที่กำลังทำผ่านแพลทฟอร์มของพวกเขา โดยหากค้นพบนั้น ให้บริษัททำการปิดบัญชีดังกล่าวได้ทันที อ้างอิงจากเอกสารของทางการจีน
ที่สำคัญคือ เอกสารดังกล่าวยังมีการบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการด้านการจ่ายเงินเหล่านี้รายงานต่อรัฐบาล และดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา
หลายฝ่ายเชื่อว่าเอกสารล่าสุดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการการแบนการซื้อขายเหรียญ cryptocurrency บนแพลทฟอร์มแบบ centralized ที่ริเริ่มโดยนาย Pan Gongsheng หรือรองผู้ว่าฯธนาคารกลางแห่งประเทศจีน
สำนักข่าวอีกแห่งหนึ่งในประเทศจีนนาม Economic Observer ได้คอนเฟิร์มจากหน่วยข่าวกรองจากทางธนาคารกลางว่าเอกสารดังกล่าวนั้นมีความน่าเชื่อถือและเป็นความจริง
แผนกผู้จัดการด้านธุรกิจนั้นถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ภายใน PBoC โดยทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางด้านการเงินในประเทศ
Securities Times รายงานว่าเอกสารดังกล่าวยังบังคับให้ทางผู้ให้บริการด้านการเงินทำตามคำสั่งที่ว่านี้ และแม้ว่าข้อบังคับดังกล่าวจะมีการระบุแค่ผู้ให้บริการในกรุงปักกิ่ง แต่เอกสารที่ว่านี้ยังได้สั่งให้พวกเขาขยายผลการสืบสวนไปยังสาขาอื่น ๆ ด้วย
ปัจจุบัน มันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านโยบายล่าสุดของทางรัฐบาลจีนจะมีผลต่อตลาด cryptocurrency มากน้อยแค่ไหน หลังจากที่พวกเขาประกาศแบนการระดมทุนผ่าน initial coin offerings เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลทำให้นักลงทุนในประเทศต้องดิ้นรนหาวิธีใหม่ในการซื้อขาย โดยส่วนใหญ่พวกเขาหันไปซื้อขายผ่าน OTC แทน
นอกจากนี้ อดีตเว็บเทรดเหรียญ Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง OKCoin และ Huobi ที่เคยประกาศปิดตัวไปแล้วนั้น กลับมาเปิดให้บริการตลาดแบบ P2P ที่ให้นักลงทุนสามารถมาโพสโฆษณาซื้อขาย Bitcoin ได้เหมือนกับของ Localbitcoins โดยธุรกรรมการแลกเปลี่ยนนั้นมักจะถูกทำผ่านบัญชีธนาคารของผู้ซื้อและผู้ขาย หรือแพลทฟอร์มของผู้ให้บริการด้านการจ่ายเงินชื่อดังอย่าง Alipay และ WeChat
นอกจากนี้ แพลทฟอร์มที่ได้รับความนิยมในการใช้พูดคุยเพื่อซื้อขายเหรียญคริปโตอีกหนึ่งตัวในประเทศจีนนั้นก็คือ Telegram เนื่องจากว่าระบบแชทดังกล่าวจะใช้วิธีการเข้ารหัส ทำให้แม้แต่รัฐบาลหรือผู้สร้างแอพก็ไม่สามารถแอบดูบทสนทนาของผู้ใช้งานได้ แม้ว่าแอพดังกล่าวจะถูกบล็อกการเชื่อมต่อในประเทศจีนก็ตาม แต่พวกเขาก็สามารถใช้ VPN เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น