ตามรายงานจากสื่อข่าว PPTV ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีร้านทองในประเทศไทยปิดกิจการไปกว่า 4,000 ร้าน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งส่งผลให้ราคาทองแพงขึ้น ในขณะที่ผู้ต้องการซื้อทองกลับมีจำนวนน้อยลง โดยคนส่วนใหญ่ต้องใช้หนี้ และใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่มีเงินมาซื้อทอง จนทำให้ร้านทองทยอยปิดตัวลง
รายงานระบุว่า ถึงแม้ร้านทองจะยังมีกำไรจากการขายทอง แต่เมื่อเทียบกับยอดขายที่ลดลง ทำให้มีรายได้ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสวนทางกับต้นทุนด้านอื่นที่ต้องแบกรับ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบริหารจัดการร้าน ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้ว ก็อาจไม่คุ้มทุน จนต้องเลิกกิจการ ขณะที่บางรายเป็นธุรกิจในครอบครัว แต่กลับไม่มีทายาทสนใจสานต่อ จนกลายเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเลิกกิจการ
อัตราเติบโตของนักลงทุนคริปโตไทยเพิ่มขึ้น 12,400% ใน 9 ปี
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลของคนไทย ปี 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่าคนไทยมีความสนใจในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2557 มีคนไทยเพียง 6 หมื่นคนเท่านั้นที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ในปี 2566 นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกลับมีจำนวนมากถึง 7.5 ล้านคน
จากข้อมูลของ ก.ล.ต. สามารถสรุปได้ว่าอัตราการเติบโตของจำนวนนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลของคนไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 12,400% ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยหันมาสนใจการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสความนิยมของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงการเข้ามากำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย