เมื่อพูดถึง “วันวาเลนไทน์” หลายคนอาจนึกถึงดอกกุหลาบ การ์ดบอกรัก หรือของขวัญแทนใจ แต่สำหรับบางคน วาเลนไทน์อาจหมายถึง “โชคลาภ” และ “เงินก้อนโต” เหมือนเรื่องราวของ คู่รักชาวอเมริกันที่สามารถทำกำไรจากลอตเตอรี่เกือบพันล้านบาท
ย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 2000s เจอรรี่ และ มาร์จ เซลบี (Jerry & Marge Selbee) คู่รักวัยเกษียณจากรัฐมิชิแกน ค้นพบช่องโหว่ในระบบลอตเตอรี่ของรัฐ โดยพวกเขาไม่ได้ใช้โชคช่วย แต่กลับใช้หลักการ คณิตศาสตร์เชิงสถิติ ในการคำนวณหาความได้เปรียบในการลงทุน
วันหนึ่งเจอร์รีสังเกตเห็นโฆษณาสลากกินแบ่งของรัฐ “หวยส้มหล่น” (Windfall state lottery) ซึ่งแตกต่างจากลอตเตอรี่ปกติทั่วไปที่แจ็กพอตจะสะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ถูกรางวัลใหญ่ แต่เกมนี้มีเงื่อนไขว่า หากแจ็กพอตสะสมถึง 5 ล้านดอลลาร์และไม่มีผู้ถูกรางวัล ระบบจะ “โรลดาวน์” กระจายเงินรางวัลไปยังรางวัลรอง เช่น รางวัลเลข 5 หรือ 4 ตัวตรงก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ นี่คือช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เขาเห็นโอกาสทอง
หลังจากสังเกตเห็นเงื่อนไขพิเศษของเกม เจอรรี่เริ่มคำนวณและพบว่า หากซื้อสลากจำนวนมากในช่วงโรลดาวน์ โอกาสทำกำไรจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะแทนที่เงินรางวัลทั้งหมดจะไปที่แจ็กพอต มันถูกกระจายลงมาให้กับรางวัลรอง ซึ่งหมายความว่า ถ้าเขาซื้อสลากมากพอ เขาจะมีโอกาสถูกรางวัลเล็กๆ หลายครั้ง จนทำให้มูลค่ารวมของรางวัลที่ได้รับมากกว่าทุนที่ลงไป
เมื่อตระหนักว่าการซื้อลอตเตอรี่เยอะ ๆ ช่วยให้เขาได้เปรียบ เจอรรี่จึงตัดสินใจนำเงินส่วนตัวมาเริ่มทดลองเล่นก่อน ปรากฏว่าเขาทำกำไรได้จริง จากนั้นเขาจึงโน้มน้าวให้ มาร์จ ภรรยาของเขา และเพื่อนๆ มาร่วมลงทุน ต่อมา พวกเขาก่อตั้งบริษัทเล็กๆ เพื่อระดมทุนจากคนรู้จักและเพิ่มจำนวนเงินลงทุนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยบางครั้งพวกเขาจะซื้อสลากเป็นมูลค่ามากถึง 8 แสนดอลลาร์ (ประมาณ 28 ล้านบาท) ในการเล่นแต่ละรอบ
กลยุทธ์ของเจอรรี่และมาร์จนั้นไม่ได้อาศัยโชคเข้ามาช่วย แต่เป็นการใช้คณิตศาสตร์และสถิติในการวางแผนซื้อสลากอย่างเป็นระบบ พวกเขารู้ว่าการเล่นลอตเตอรี่โดยหวังแจ็กพอตเพียงอย่างเดียวมีโอกาสชนะต่ำมาก จึงเลือกมุ่งเป้าไปที่รางวัลรองแทน โดยเลือกเล่นเฉพาะรอบที่เกิด “โรลดาวน์” ซึ่งเป็นช่วงที่แจ็กพอตสะสมถึงจุดที่เงินรางวัลจะถูกกระจายลงมาสู่รางวัลรอง การเล่นในช่วงนี้ทำให้พวกเขาได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะรางวัลรองมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากเงินสะสมที่ไม่ได้ถูกแจ็กพอตใหญ่
นอกจากนี้ พวกเขายังใช้กลยุทธ์ กระจายตัวเลข เพื่อเพิ่มโอกาสชนะให้มากที่สุด โดยแทนที่จะซื้อเลขชุดเดิมซ้ำๆ พวกเขาซื้อเลขหลายชุดที่แตกต่างกันเพื่อให้ครอบคลุมตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสได้รับเงินคืนจากหลายรางวัลเล็กๆ รวมกัน แม้จะไม่ถูกรางวัลแจ็กพอตเลย แต่การถูกรางวัลรองหลายครั้งก็สามารถทำกำไรได้
ที่น่าสนใจเมื่อรัฐมิชิแกนปิดเกม Winfall ลงไป เจอรรี่และมาร์จก็ยังไม่หยุดแค่นั้น พวกเขาพบว่า รัฐแมสซาชูเซตส์มีกฎลอตเตอรี่ที่คล้ายกัน พวกเขาจึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปเล่นที่นั่น ด้วยการใช้กลยุทธ์เดิม แต่ปรับให้เหมาะสมกับกติกาของรัฐนั้นๆ โดยลงทุนเพิ่มขึ้นให้มากกว่าเดิมและทำกำไรได้ต่อเนื่อง
การเล่นลอตเตอรี่อย่างมีระบบ ทำให้พวกเขาฟันกำไรไปมากกว่า 26 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 994 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้เริ่มเป็นกลายที่สนใจมากขึ้น รัฐบาลก็เริ่มเข้ามาตรวจสอบและในที่สุดก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎลอตเตอรี่เพื่ออุดช่องโหว่นี้ เรื่องราวของพวกเขาจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจ จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2022 ชื่อว่า “Jerry & Marge Go Large”
สุดท้ายคุณคิดว่าลอตเตอรี่ในปัจจุบันยังมีช่องโหว่แบบนี้อยู่อีกหรือไม่? ถ้าคุณพบช่องทางที่คล้ายกัน คุณจะกล้าลงทุนแบบเจอรรี่และมาร์จหรือเปล่า?
ที่มาภาพจาก : latimes