หลังจากที่มีรายงานจากบางกอกโพสต์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีเนื้อหาว่าบริษัทในไทยที่ออกเหรียญ STO นอกประเทศอาจผิดกฎหมายนั้น ล่าสุดนางทิพยสุดาได้ออกมาชี้แจงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความเข้าใจผิดของผู้สื่อข่าวและการตีพิมพ์ข่าวดังกล่าวแล้ว
โดยอ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนนั้น เธอเผยว่าปัจจุบัน “STO เป็นคำที่เกิดมาในประเทศที่ยังเถียงกันไม่จบว่า token บางอย่างเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ ช่วงหลังๆ ผู้ออกยอมรับไปเลยว่า token ของตัวเป็นหลักทรัพย์ ก็ทำตามเกณฑ์หลักทรัพย์”
ปัจจุบัน แม้ว่าเราจะได้เห็น พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลที่คลอดออกมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่นั่นก็ครอบคลุมแค่เฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น ICO และเหรียญดิจิทัลอีกแค่ไม่กี่ตัว ทว่าสำหรับเหรียญดิจิทัลที่เป็นหลักทรัพย์นั้น นางทิพยสุดากล่าวว่า
“ไทยไม่มีปัญหาชนิดนี้ เพราะเรามี พรก. ที่กวาด token มาหมด เว้นแต่มันเป็นหลักทรัพย์อยู่แล้ว ดังนั้นก็ต้องมาดูว่า token ที่จะออก ให้สิทธิ์แบบไหน ถ้ามีปันผลมี voting ก็เป็นหุ้น ถ้ามีดอกเบี้ยมีคืนเงินต้นก็เป็นหุ้นกู้ ก็เป็นหลักทรัพย์”
ซึ่งนั่นหมายความว่าบริษัทที่มีความประสงค์จะออกเหรียญ token ในประเทศไทยนั้น นางทิพยสุดากล่าวว่า “ก็มาดู ถ้าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลก็ทำตามเกณฑ์นั้น ถ้าเป็นหุ้นหรือหุ้นกู้ก็อาจจะติดเพราะเกณฑ์ปัจจุบันอาจจะยังไม่รองรับ ต้องมาดูแก้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตั้งใจจะทำอยู่”
ส่วนในเรื่องของคนไทยที่ไปจดจัดตั้งที่ต่างประเทศนั้น นางทิพยสุดาได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า
“ถ้าผู้ออกเป็นบริษัทที่จัดตั้งประเทศอื่น (ต่อให้คนไทยเป็นคนตั้ง) และไปเสนอขายที่ประเทศอื่น (ต่อให้คนไทยวิ่งไปซื้อ) ก็ไม่อยู่ใต้กำกับเรา”
โดยสรุปนั้น ทางก.ล.ต. จะเป็นผู้ดูรูปแบบและตัดสินใจในแง่กฎหมาย กล่าวคือหากรูปแบบการเปิดระดมทุนไปตกอยู่ที่ พรบ. หลักทรัพย์ บริษัทที่อยู่ในไทยต้องทำตามเกณฑ์หลักทรัพย์ ซึ่งแม้ว่าตอนที่ทาง ก.ล.ต. คลอดเกณฑ์เดิมออกมาอาจจะไม่ได้คำนึงเรื่องกระบวนการแบบ digital เลย แต่ก็จะดูและแก้ให้
ส่วน “การไปออกใน ตปท. โดยบริษัทตั้งใน ตปท. – ก.ล.ต. ห้ามไม่ได้”
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น