ด้วยความที่ Cryptocurrency นั้นเป็นการประสานรวมเทคโนโลยีเข้ากับการเงิน ก่อให้เกิดการเงินออนไลน์สมัยใหม่ที่มีรูปแบบแปลกใหม่น่าสนใจมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่สนใจในเรื่องการเงินนี้นั้นไม่ได้มีเพียงผู้ใหญ่เพียงส่วนเดียว แต่มีเด็กและวัยรุ่นก็ให้ความสนใจมากด้วย และหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการสนใจที่สุดคือการขุดคริปโต เพราะเป็นการหาเงินออนไลน์ที่ทำได้จริง ๆ ซึ่งในบทความนี้ เราจะไปลงลึกว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นสามารถขุดคริปโตเพื่อหารายได้เพิ่มได้อย่างไร
เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีรายงานด้านการขุดคริปโตจาก Cisco บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ว่า: “นักศึกษากำลังใช้ไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยในการขุดคริปโต”
ถึงแม้ เด็กนักศึกษาจะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการขุด เนื่องจากสัญญาหอพักของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักจะเหมารวมค่าไฟฟ้าไปแล้ว ด้วยพลังงาน ‘ฟรี’ นั้น ทำให้เปิดโอกาสในการใช้ริกขุดคริปโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวคือค่าฮาร์ดแวร์ในการขุดเท่านั้น
ฟัง ๆ ไป มันก็ดูเว่อร์เกินจริงที่ นักศึกษาจะได้รับรายได้แบบ Passive Income ที่สามารถนำไปซื้อหนังสือเรียน หรืออาจจะจ่ายค่าเทอมของพวกเขาได้เลย หรือมากกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หลาย ๆ คนไม่ควรมองข้ามไปเลยคือ ไม่มีไฟฟ้าที่ไหนหรอกที่ฟรี หรือไม่มีค่าใช้จ่ายจริง ๆ เพราะสุดท้ายปลายทางยังไงก็ต้องมีคนจ่ายมันอยู่ดี
การขุดคริปโตได้รับความนิยมขนาดไหนในหมู่นักเรียน นักศึกษา ?
อ้างอิงจากรายงานของ Cisco พวกเขาได้ทำการวิจัยข้อมูลการขุดคริปโตทั่วอุตสาหกรรม โดยใช้แพตฟอร์ม Umbrella ในการตรวจสอบเครือข่ายของลูกค้าเขาเพื่อที่จะดูลาดเลาว่า มีใครทำกิจกรรมที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งสามารถดูได้ด้วยว่า ใครขุดคริปโตอยู่
รายงานได้บพบว่า พื้นที่ในเขตมหาวิทยาลัยนั้นมีนักขุดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรม คิดเป็นกว่า 22 เปอร์เซ็นต์ เป็นรองเพียงภาคส่วนของพลังงานและสาธารณูปโภคเท่านั้น
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า รายได้ของนักขุดคริปโตนั้นเริ่มลดลงในปี 2018 เพราะว่าตลาดคริปโตที่เข้าสู่ขาลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนั้นทำให้การขุดคริปโตนั้นได้กำไรน้อยลง แต่ในทางกลับกัน หากดูข้อมูลสถิติจะพบว่า กำลังขุดทั้งหมดในระบบกลับเพิ่มขึ้นแทน ชี้ให้เห็นว่า ยังมีกลุ่มหนึ่งนั้นได้กำไรจากการขุดคริปโตอยู่ พวกเขาเลยขยายกำลังขุดเรื่อย ๆ
นาย Austin McBride นักวิจัยด้านภัยคุกคามของ Cisco ได้อธิบายเทรนด์ดังกล่าวว่า:
“แค่คุณเพียงตั้งริกขุดคริปโตไว้ในห้องของหอพักคุณเป็นเวลา 4 ปี คุณก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัยพร้อมกับเงินก้อนใหญ่แล้ว”
ในขณะที่เปิดริกขุดคริปโตที่หอของมหาวิทยาลัย นักเรียน/นักศึกษาจะสามารถหลีกเลี่ยงค่าไฟเกี่ยวกับการขุดคริปโตได้
“ค่า Difficulty ของเหรียญมากมายกำลังสูงมาก ๆ ในตอนนี้ ซึ่งแปลว่า การขุดคริปโตส่วนใหญ่นั้นเริ่มมีค่าไฟฟ้ามากกว่ารายได้ที่พวกเขาจะได้รับ แต่ถ้าหากวิธีขุดโดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟได้ มันก็ยังเป็นอีกจุดในการทำกำไร”
Vectra บริษัทที่คอยตรวจตราการโจมตีทางไซเบอร์พบว่า การขุดคริปโตและการ Cryptojacking นั้นเป็นที่แพร่หลายมาก ๆ ในมหาวิทยาลัยมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ
รายงานจาก Vectra ยังเผยว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่สามารถตรวจตราเครือข่ายได้อย่างละเอียด และใกล้ชิดเช่นหน่วยงาน IT ขององค์กรใหญ่ ๆ ได้อย่างที่สุดคือแค่ แนะนำนักศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง, ติดตั้งระบบตรวจตราของมหาวิทยาลัย และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอีเมลหลอกลวง, เว็บไซต์น่าสงสัย และโฆษณาเว็บอื่น ๆ
ในบล็อกของ Vectra ได้มีการโพสต์ว่า นักศึกษาที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานฟรีนี้ มองในแง่บวก และคาดหวังว่า มูลค่าของ Cryptocurrency นั้นจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม วิจัยเหล่านั้นไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ว่า มหาวิทยาลัยไหนบ้างที่พวกเขาไปพบข้อมูลมา
ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องยากในการชี้ว่ามหาวิทยาลัยไหนเหมาะสำหรับการขุดคริปโต แต่ดูเหมือนว่า กิจกรรมการขุดคริปโตนี้จะมีความนิยมมาก ๆ ในทุก ๆ มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ข้อมูลของ Vectra ในปี 2019 พบว่า “ความนิยมของการขุดคริปโตในหมู่นักศึกษาและอาชญากรรมพุ่งขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่มีเด็กนักศึกษาจำนวนมาก”
มันง่ายแบบนั้นจริงหรือ ?
หนึ่งในสิ่งที่การขุดในมหาวิทยาลัยนั้นยากกว่าที่อื่น ๆ นั้นมาจากสภาพของที่พัก ที่การขุดคริปโตโดยใช้ริกการ์ดจอนั้นต้องเงียบและต้องอาศัยความรอบคอบมาก ๆ เพราะผู้ตรวจตราอาจได้ยินเสียงรบกวน และเริ่มสอบสวนที่มาได้ นาย Mark D’Aria ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Bitpro ผู้ให้บริการติดตัวเหมืองขุดคริปโตอธิบายว่า:
“ผมคาดเดาว่า เหมืองขุดส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้ดูเหมือนริกขุดคริปโตอย่างที่หลาย ๆ คนคิด แน่นอนว่า เครื่องขุด ASIC นั้นหมดสิทธิ์เลยในการขุดที่นั่นเพราะเสียงที่ดังและความร้อนที่สูงมาก ๆ จนไม่มีใครวางมันในหอพักได้นานแน่นอน หากใครใช้ ASIC ขุด พวกเขาก็คงต้องหาคำอธิบาย เยอะหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นที่ห้องของเขา และคงจะอยู่รอดไม่ได้นาน”
แทนที่จะเป็นริก การขุดส่วนใหญ่ของนักศึกษานั้นจะมาในรูปแบบของ PC แทน คอมพิวเตอร์บางเครื่องก็สามารถสร้างรายได้พอประมาณให้กับนักขุดได้เลย ถึงแม้จะอยู่ในตลาดขาลงก็ตาม เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไฟฟ้า อ้างอิงจากนาย D’Aria ได้กล่าวว่า:
“ริกสำหรับเล่นเกมที่มีการ์ดจอแรง ๆ 1 ใบก็สามารถขุดได้ประมาณ 1 ดอลลาร์/วัน (31.89 บาท/วัน) และการรันโปรแกรมขุดในโน้ตบุ๊กก็สามารถสร้างรายได้หลายเซนต์ต่อวัน ถึงแม้ 1 ดอลลาร์ต่อวันจะดูน้อย แต่ถ้าเกิดพิจารณาปัจจัยว่า ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้ริกเล่นเกมหรือโน้ตบุ๊กเหล่านั้นในการขุด มันคือเงินฟรี ๆ นี่เอง”
นอกจากนี้ การขุดคริปโตด้วยคอมพิวเตอร์นั้นแทบไม่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคนิคอะไรมากมายเลย มันสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่นผ่าน Nicehash ตลาด Cloud Mining คริปโตชื่อดัง ซึ่งสามารถสั่งให้มันขุดคริปโตบนเครืองคอมพิวเตอร์เราในเวลาที่ไม่ได้ใช้งานหรือพักจอได้แบบอัตโนมัติเลย
ประเด็นเหล่านั้นเป็นความจริงอยู่บ้าง โดยนาย Tom (นามสมมุติของนักศึกษาเพื่อคงความนิรนามไว้) นักศึกษาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีได้เล่าผ่าน Cointelegraph ว่า เขารัน Nicehash บนเครื่อง PC ของเขาในการขุด Bitcoin เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนที่จะล้มเลิกไอเดียนี้ เพราะการทำงานที่หนักของ PC และราคาของการ์ดจอที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
“ผมสามารถสร้างรายได้ประมาณ 120 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,827 บาท) ถ้าราคาของ Bitcoin ยังอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ แต่ในตอนนี้ที่ราคาของมันลดลงต่ำมาก ถึงแม้มันจะได้กำไรก็ตาม เพราะไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า แต่การทำงานที่หนักของระบบ พร้อมราคาที่เพิ่มขึ้นของการ์ดจอทำให้ผมไม่อยากขุดมันอีกต่อไป”
Tom ได้ระบุว่า การที่เขาเป็นที่ปรึกษาของผู้ที่พักอาศัยในหอทำให้เขาสามาถเข้าถึงระบบภายในหอได้ เขาเลยสามารถปรับให้มั่นใจได้ว่าชั้นอาคารที่เขาพักอาศัยนั้นมีการใช้เครื่องปรับอากาศที่มากพอสำหรับการขุด
ห้องของ Tom นั้นจะเย็นมาก ๆ ในหน้าหนาว เพราะงั้นการที่มีความร้อนเพิ่มเติมจาก PC ก็ถือว่ามีประโยชน์ในบางครั้งเพราะเขาจะเปิดคอมพิวเตอร์แทนเครื่องทำความร้อน
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี นักศึกษาที่ขุดคริปโตนั้นก็ถูกจับได้อย่างเช่นกรณีของ Ken (นามแฝงเพื่อความเป็นส่วนตัว) ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนาที่ศึกษาฟิสิกส์ประยุกต์ ได้เผยข้อมูลกับ Cointelegraph ว่า เขาได้รับอีเมลจากพนักงานของมหาวิทยาลัยว่า ทีมความปลอดภัยพบ ‘โปรแกรมขุดเหรียญ’ ในอุปกรณ์ของเขา 2 เครื่อง
“เราอยากจะให้คุณลบโปรแกรม หรือใช้สแกนไวรัสในกรณีที่คุณอาจจะไม่รู้ว่า อุปกรณ์กำลังมีโปรแกรมทำงานอยู่ เพราะมันถือว่าเป็น Malware บนอุปกรณ์คุณ”
ในจังหวะนั้นเอง Ken ได้ใช้โปรแกรม Nicehash อยู่จริง และหลังจากที่ปรึกษาชุมชน Reddit ที่เกี่ยวกับการขุด Bitcoin เลยตัดสินใจที่จะใช้ VPN ในการขุด:
“ผมมี VPN อยู่แล้ว และต่อไปผมจะมั่นใจให้มันทำงานทันทีเมื่อเปิดเครื่องและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต พวกเขาจะได้ติดตามผมไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Ken จะสามารถขุดคริปโตได้ ‘หลายร้อยดอลลาร์’ แต่โชคร้ายที่ในช่วงนั้น Nicehash ถูกแฮ็กทำให้เขาเสียคริปโตที่เก็บไว้เกือบทั้งหมด เพราะยังไม่ได้ย้ายคริปโตมาใน Wallet ส่วนตัว
นาย Chris Patridge อดีตนักศึกษาการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์จาก Rochester Institute of Technology (RIT) เผยว่า เขาขุดคริปโตในช่วงที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย ในปี 2015 ถึงกลาง ๆ ปี 2016:
“ผมสงสัยมาตลอดเกี่ยวกับ Bitcoin และดูเหมือนว่า มันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการเรียนรู้”
วิธีการขุดของเขานั้นแตกต่างจาก Tom และ Ken เพราะเขาใช้เครื่องขุด Antminer, BFL Monarch และ Prospero X1 หลายเครื่อง ทำให้ความร้อนจากเครื่องขุดของเขานั้นค่อนข้างสูง
“ไม่มีเครื่องขุดคริปโตไหนพอที่จะเทียบเท่ากับเครื่องขุดในรุ่นปัจจุบันได้เลย และเครื่องขุดส่วนใหญ่ในตอนนั้นก็ Underclocked หรือ Undervolted หรือถูกปรับเปลี่ยนให้เย็นและเงียบกว่าปัจจุบันมาก ในเมือง Rochester ที่อากาศหนาวมาก ๆ เรามักจะเปิดหน้าต่าง 24/7 (ยกเว้นตอนพายุหิมะมา) และวางเครื่องขุดไว้ใกล้ ๆ เพราะไม่งั้นมันจะร้อนเกินไปสำหรับห้องที่เราอาศัยอยู่ เพื่อนร่วมห้องของผมไม่ค่อยโอเคกับมันเท่าไรนัก แต่เขาก็เข้าใจมันได้”
นาย Partridge เล่าว่า เขาไม่เคยถุกจับได้ว่าขุดคริปโตเลย ถึงแม้จะเคยถูกเช็คห้องหลายครั้งก็ตาม เพราะว่า “แทบไม่มีใครสนใจเลย เนื่องจากมันเป็นเพียงเหมืองเล็ก ๆ ผมแค่ถูกมองแปลก ๆ เท่านั้น แต่ไม่มีการสืบสวนอะไรเพิ่มเติม”
ถึงแม้เขาจะไม่ได้ขุดเพื่อเน้นกำไรอะไรมากมาย แต่ในตอนที่เรียนจบ เขาก็มี Bitcoin ประมาณ 0.4 BTC ซึ่งนำไปขายในเวลาต่อมาได้เงิน 6,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 191,000 บาท เขาได้นำมันไปขายเป็นเงินพิเศษ เพราะจำเป็นต้องใช้ในช่วงฝึกงาน หลังจากที่ใช้เงินก้อนในการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตอยู่หลายเดือน เขายังเหลือเงินอยู่อีกหน่อยหนึ่งในการซื้อของไร้สาระทั่วไปอีกด้วย:
“ผมได้ซื้อ Roomba (เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ) อีกด้วย ถ้าเกิดอยู่ดี ๆ ผมสามารถหาเงินจากอินเทอร์เน็ตได้ และจะใช้จ่ายมัน มันต้องเป็น Roomba แน่นอนอยู่แล้ว”
อีกเรื่องที่น่าสนใจจาก นาย Marco Streng ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Genesis Mining หนึ่งในผู้ให้บริการ Cloud Mining ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาได้เคลมว่า ธุรกิจของเขานั้นเริ่มต้นที่หอพักในปี 2013 ซึ่งปฏิเสธที่จะระบุว่าเป็นมหาวิทยาลัยไหน โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ว่าที่ไหนก็เหมือนกันทั้งโลก”
“มันจะมีความรู้สึกเหมือนมีซาวน่าในห้องขนาด 10-13 ตารางเมตรของผม และเสียงก็ดังมาก ๆ เราพยายามที่จะลดเสียงด้วยการนำหมอนไปวางบนเครื่อง และนำมันไปอยู่ใกล้ ๆ หน้าต่างเพื่อที่จะทำให้มันเย็น”
นาย Streng ได้กล่าวว่า ถึงแม้เสียงเครื่องขุดจะค่อนข้างดึงดูดความสนใจของผู้คนรอบ ๆ แต่ดูเหมือนเพื่อนบ้านของเขาจะไม่ได้รู้สึกว่าถูกรบกวนมาก:
“สำหรับผม ผมรู้สึกรำคาญมันมาก แต่ก็คุ้มนะ ผมรู้สึกตื่นเต้น, มีกำลังใจ และในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว มันสร้างเงินให้ผมได้”
ในปี 2014 นาย Streng ได้เล่าว่า ชุมชนนักเรียนในมหาวิทยาลัยเริ่มตั้งริกขุดคริปโตมากขึ้น:
“ข่าวลือเริ่มแพร่กระจายไป การขุดคริปโตเลยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นสูงมาก และบิลค่าไฟฟ้าของหอพักก็พุ่งทะยานขึ้น”
ในจังหวะเดียวกันนั้นเองที่ตลาดคริปโตเติบโต การขุดคริปโตของเขาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนเขารู้ตัวว่าสามารถ ‘เปิดเครื่องขุดนี้จำนวนหลายพันเครื่องพร้อมกันได้’ และดำเนินการในระดับอุตสาหกรรม:
“จากจุดนั้นเอง เลยทำให้ Genesis Mining หนึ่งในบริษัทขุดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้เริ่มทำมันในหอพักและพบโอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้ เพราะไม่งั้นผมคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้แน่ ๆ”
มันถูกกฎหมายและหลักจริยธรรมขนาดไหน ?
ถึงแม้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขุดคริปโต แต่บางมหาลัยเช่น Standord University ก็ได้ทำการเตือนเกี่ยวกับการขุดคริปโตในมหาวิทยาลัยเมื่อเดือนมกราคม 2018 ว่า “ต้องไม่ใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยในการได้ประโยชน์ทางการเงินส่วนตัว” หัวหน้าด้านความปลอดภัยในข้อมูลของมหาวิทยาลัยได้ออกมาบอกว่า:
“การขุดคริปโตนั้นสร้างกำไรได้มาก หากต้นทุนถูกลดลง ซึ่งทำให้เกิดการใช้งานทรัพยากรที่ไม่ถูกหลัก, การใช้คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยแบบผิดวิธี และการใช้เครื่องขุดคริปโตส่วนตัวจากการใช้พลังงานของมหาวิทยาลัย”
จากจุดนั้นเอง ที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัยเริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ทรัพยากรส่วนรวมเพื่อประโยชน์การเงินส่วนตัว เช่น การสร้างกฎการใช้งานคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย RIT
“ห้ามสมาชิกในชุมชน RIT ใช้บัญชีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวในการดำเนินธุรกิจหรือการให้บริการเชิงพาณิชย์หรือการโฆษณาให้กับองค์กรพาณิชย์หรือ..”
กล่าวคือ ในกฎนั้นห้ามไม่ให้ใช้ทรัพยยากรของมหาวิทยาลัยหรือไฟฟ้าของพวกเขาในการขุดคริปโตนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งกฎสำหรับการขุดคริปโตโดยเฉพาะ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาด้านภาษีได้ อ้างอิงจาก นาง Selva Oazelli ทนายความภาษีระหว่างประเทศ ได้อธิบายว่า:
“โดยส่วนใหญ่แล้วค่าไฟฟ้านั้นจะถูกรวมอยู่ในค่าเทอมหรือค่าเช่าอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องตั้งนโยบายขึ้นมาเฉพาะเลยว่าจะอนุญาต หรือไม่อนุญาตการขุดคริปโตในมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาที่ทำการขุดต้องถูกชาร์จค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาอาจเจอปัญหาเรื่องภาษีได้ เพราะมีระบุในกฎหมายไว้ว่า การขุดคริปโตนั้นจะถูกพิจารณาเป็นกิจกรรมที่นับเป็นรายได้ทั่วไปในปีที่ทำการขุด และค่าใช้จ่ายในการขุด เช่นค่าไฟฟ้า จะถูกหักลบรวมไปเพื่อให้ตรงกับรายรับและรายจ่าย”
ในแง่ของหลักจริยธรรมแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวนั้นก็ค่อนข้างซับซ้อน และความคิดเห็นมุมมองก็อาจแตกต่างออกไปสำหรับผู้ที่ขุดคริปโตในมหาวิทยาลัย:
Tom ได้ระบุเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าในการขุดคริปโตว่า:
“ผมจ่ายค่าห้องและไม่มีรายละเอียดอะไรเป็นพิเศษเจาะจงในสัญญาว่า ห้ามใช้ไฟฟ้าเกินเหตุ ผมเลยคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะยังไงผมกต้องใช้ฮีตเตอร์อยู่แล้ว เนื่องจากนักศึกษาไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องได้”
แต่นาย Partridge ได้แย้งว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมหากจะทำในระดับใหญ่:
“ผมคิดว่ามันไม่ถูกหลักจริยธรรมถ้าจะทำการขุดในระดับใหญ่ ๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ค่าไฟฟ้าที่ฟรีสำหรับผม ไม่ได้แปลว่า ค่าไฟฟ้านั้นจะฟรีสำหรับคนอื่น คนส่วนใหญ่ที่เคลมว่าการขุดคริปโตในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องที่ถูกหลักจริยธรรมมักจะไม่คิดถึงอีกตัวแปรหนึ่ง เพราะที่อยู่ของนักเรียนนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อที่จะรองรับการใช้งานไฟฟ้าในจำนวนมหาศาล เพราะจะไม่สามารถรับได้ไหว และอาจทำให้เกิดความเสียหายในทรัพย์สินอย่างหนัก หรือเสียชีวิตได้เลย”
นาย Streng CEO ของ Genesis Mining ได้ให้ความเห็นว่า นักศึกษานั้นสามารถมีส่วนร่วมกับการขุดได้ แต่ไม่ควรที่จะใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย หรือถ้าใช้ก็ควรที่จะจ่ายบิลค่าไฟฟ้านั้นเอง:
“ผลข้างเคียงของกระแสคริปโตนั้นคือ แนวคิดใหม่ที่ใครก็ตามที่อาศัยในห้องเล็ก ๆ สามารถเปลี่ยนไฟฟ้าเป็นเงินได้ ไม่ใช่แค่เพียงสถาบันทางการศึกษาเท่านั้น ที่ผู้คนสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นในราคาเดียวที่คงที่ โดยที่ไม่คำนึงว่าใช้ไฟฟ้าไปเท่าไร ผมคิดว่าผู้ให้บริการเหล่านั้นต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ ผู้อยู่อาศัยจะมาทำการขุดคริปโตด้วย พวกเขาควรรับรู้ในจุดนี้และร่างสัญญาตกลงให้เรียบร้อย”
ท้ายที่สุดแล้ว หากมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังคงมองข้ามการขุดคริปโตในพื้นที่มหาวิทยาลัยอยู่ เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้นักเรียนสามารถสร้างรายได้เสริมสำหรับค่าเบียร์ของพวกเขาได้
นาย D’Aria ได้อธิบายถึงเหตุการณ์นี้ว่า จะยังคงดำเนินต่อไป:
“ผมคิดไม่ออกเลยว่า นักศึกษาที่ไหนจะกล้าปฏิเสธเงินฟรี ๆ เดือนละ 30 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือแม้กระทั่ง 5 ดอลลาร์ต่อเดือน ถึงแม้มันจะเป็นเงินก้อนเล็ก ๆ ของคน ๆ หนึ่ง แต่การขุดคริปโตในหอพักมหาวิทยาลัยนั้นจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นผู้ใหญ่รู้จักกับคริปโตมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะใช้เวลาไม่นานหรอกที่พวกเขาจะรู้ตัวว่า มันง่ายและมีประโยชน์ขนาดไหนที่จะใช้คริปโตที่ขุดได้ในการใช้จ่ายอื่น ๆ”
สำหรับในประเทศไทยนั้น ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า มหาวิทยาลัยในไทยนั้นมีข้อห้ามเกี่ยวกับการขุดคริปโตในหอพักมหาวิทยาลัยหรือไม่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหอพักก็มักจะคิดค่าไฟตามปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ไปอยู่แล้ว เลยอาจทำให้ไม่มีปัญหานี้ แต่หากมีหอไหนจ่ายแบบเหมา ก็อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอื่น ๆ ด้วยเช่น รองรับไฟฟ้าได้ขนาดไหน, มีความเสี่ยงถึงชีวิตหรือไม่หากติดตั้งผิดพลาด, จะรบกวนคนอื่นหรือไม่ ในแง่ของเสียงและความร้อน และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็เรียกได้ว่า เป็นอีกช่องทางที่น่าจับตามอง
รวบรวมข้อมูลจาก cointelegraph
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น