<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

แบงก์ชาติปรับวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท แต่ทำไมชาว Crypto ยังยิ้มได้

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อไม่นานมานี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากปรับวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งถูกเปิดเผยครั้งแรกโดยนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท เกิดจากการมีที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้เก็บข้อมูลว่ามีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนประเภทของบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน

ตั้งแต่การก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากตั้งแต่ปี 2551 เราจะเห็นว่าการคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากนั้นลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 25 ล้านบาท มาเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาทเมื่อปี 2562 จนกระทั่งเหลือเพียงไม่เกิน 1 ล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝากทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินของไทยภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 12 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง

ทำไมถึงควรมองทางเลือกอื่น ๆ ในการฝากเงิน?

ในอดีตหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าการฝากเงินกับธนาคารนั้นดีที่สุด เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ป้องกันการสูญหาย และได้รับดอกเบี้ยในทุก ๆ ปี แต่เนื่องด้วยการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบันนั้นอาจจะทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องกลับมาคิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง

นับตั้งแต่การก่อตั้งธนาคารในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2447 จนมาถึงปัจจุบันได้มีธนาคารที่ปิดกิจการหรือยุบรวมกับธนาคารอื่นกว่า 28 ธนาคารด้วยกัน

อีกทั้งเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงไปรวมกว่า 250 สาขานับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ตอนนี้เรากลับต้องมาคิดกันใหม่แล้วว่าธนาคารนั้นยังเป็นสถาบันที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้อีกหรือไม่ ไม่ว่าจะทั้งในแง่การฝากเงินและการลงทุน

หากใครที่มองทางเลือกอื่น ๆ ไว้ เช่น ทอง ก็อาจจะบอกได้เลยว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว แต่ถ้ามองในมุมมองเดียวกับกับการฝากเงินไว้ในธนาคารแล้วนั้น ยังมองได้ว่าทองขาดฟังก์ชันอีกหลายอย่าง เช่นความสะดวกในการขนย้าย, ความโปร่งใสในเรื่องของที่มาและที่ไป และไม่ได้รับดอกเบี้ยประจำปี

รูปภาพจาก goldprice.org

คริปโทเคอร์เรนซี่จะเข้ามาเหนือสถาบันทางการเงิน

ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี่ ที่มีเทคโนโยีเบื้องหลังอย่างบล็อกเชน และหากให้พูดว่า crypto นั้นน่าสนใจกว่าทองหรือการฝากเงินในธนาคารอย่างไร ก็คงต้องเล่าไปที่ระบบต่าง ๆ ก่อน

อย่างที่ทราบกันดีว่าคริปโทเคอร์เรนซี่นั้นเป็นระบบการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง (Decentralized Finance) ซึ่งแตกต่างจากธนาคารที่เป็นระบบการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized Finance) และคริปโทเคอร์เรนซี่นี่เองที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต

ฝากเงินดิจิทัลระยะยาวดีไหม?

หลายปีที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้ามาลงทุนและศึกษาเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี่ แต่ในวันนี้เราจะมานำเสนอการฝากเงินดิจิทัลให้เป็นทางเลือก

การฝากเหรียญทั้งหมดในแพลทฟอร์มต่าง ๆ เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า Software Wallet หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ที่จะเก็บเหรียญต่าง ๆ ไว้ ซึ่งบางคนอาจจะเรียกว่า Hot Wallet เนื่องจากเป็นกระเป๋าที่สามารถใช้ทำธุรกรรมระยะสั้น ๆ ได้ดี โดยกระเป๋าเงินเหล่านี้นั่นเองที่จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาทำให้หากเทียบกับความปลอดภัยในระยะยาวแล้วนั้น อาจเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะถูกโจรกรรมผ่านทางออนไลน์จากแฮกเกอร์ได้

แต่ก็ยังมีกระเป๋าเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Hardware Wallet ซึ่งเป็นการเก็บรักษาเหรียญต่าง ๆ รวมถึง Private Key ที่ใช้ในการเข้าถึงและยืนยันข้อมูลธุรกรรมแบบออฟไลน์ในอุปกรณ์ที่คล้ายกับแฟรชไดร์ฟหรือทัมไดร์ฟ ซึ่งทำให้การฝากเงินในระยะยาวนั้นปลอดภัยได้มากกว่า แม้ว่าเหรียญต่าง ๆ เหล่านั้นจะยังคงอยู่ในบล็อกเชนก็ตาม นั่นเองทำให้เราไม่จำเป็นต้องไว้ใจธนาคารหรือใครก็ตามในการฝากเงินหรือเก็บเหรียญของเราเลย รวมถึงไม่ต้องกังวลเรื่องการคุ้มครองเงินฝากอีกด้วย

หากเริ่มต้นด้วยการฝากเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่มีความมั่นคงอย่าง BTC และ ETH ที่หากมองถึงอัตราก้าวหน้าในระยะยาวตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วนั้นจะเห็นว่าบิทคอยน์มีการเติบโตของราคาตั้งแต่ 13 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC ในปี 2012 จนมาถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ราคากว่า 63,000 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมถึง ETH ที่ราคาต่ำสุดที่ 0.42 ดอลลาร์ต่อ 1 ETH ในปี 2015 จนมาถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ราคากว่า 4,380 ดอลลาร์ต่อ 1 ETH ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากให้นับเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วนั้นก็จะอยู่ที่ 484,515% และ 1,042,757% ตามลำดับ หรือหากจะมองให้เห็นภาพมากขึ้นมันก็เปรียบกับการที่คุณซื้อของชิ้นหนึ่งด้วยราคา 416 บาทเมื่อ 10 ปีก่อนและสะสมมันไว้ก่อนที่ของชิ้นนั้นจะมีมูลค่า 2,016,000 บาทในปัจจุบัน

ราคา Bitcoin ตั้งแต่ปี 2011 – ปัจจุบัน จาก tradingview
ราคา Ethereum ตั้งแต่ปี 2015 – ปัจจุบัน จาก tradingview

แต่นั่นก็เป็นเองก็เป็นการถือระยะยาวมาตลอด 10 ปีโดยที่ไม่มีการขายออกเลยแม้แต่เหรียญเดียว ซึ่งหากมองถึงความผันผวนเฉพาะช่วงปีนั้น ๆ ก็อาจจะบอกได้เลยว่าถือเป็นความเสี่ยงที่เราต้องกลับไปศึกษาอย่างรอบคอบเลยทีเดียว

ฝากเงินกับ Stablecoin ที่ผลตอบแทนมากกว่าธนาคาร

หากว่าเรามองหา crypto ที่มีความผันผวนน้อยและมีความน่าเชื่อถือพอ ๆ กับเงินดอลลาร์ก็คงจะหนีไม่พ้นสกุลเงินดิจิทัลอย่าง USDT USDC และ BUSD ซึ่งเราจะเรียกสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ว่า Stablecoin และเหรียญเหล่านี้นั่นเองที่หลายคนมองว่าเหมือนกับการฝากเงินดอลลาร์ไว้ในธนาคาร  

แม้ว่าทั้ง 3 เหรียญนั้นจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐฯ เสมอแต่ก็ย่อมมีความแตกต่างกันโดยได้รับการรับรองและการตรวจสอบบัญชีที่แตกต่างกัน 

โดยทาง USDT ถูกออกโดยบริษัท Tether และได้รับการรับรองจากธนาคาร Deltec ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมาย ประกอบกับขาดการตรวจสอบบัญชี ทำให้นักลงทุนบางส่วนมองว่าไม่โปร่งใส 

ในขณะที่ USDC ถูกออกโดยบริษัท Circle ที่ได้รับการหนุนหลังจาก Coinbase และได้รับการรับรองจากหลายองค์กรและสถาบันการเงิน เช่น Goldman Sachs หรือ FinCEN และยังได้รับการตรวจสอบบัญชีทุกเดือน 

รวมถึง BUSD ที่ได้รับการพัฒนากับแพลทฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Binance ที่ได้รับการอนุมัติและควบคุมโดยกระทรวงบริการทางการเงินแห่งรัฐนิวยอร์ก อีกทั้งยังได้รับการตรวจสอบบัญชีจาก Withum ในทุกเดือนอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

โดยเราสามารถฝาก Stablecoin ไว้ในแพลทฟอร์มแลกเปลี่ยนหรือกระเป๋าเงินอย่าง Binance หรือ Coinbase ซึ่งพวกเขาจะให้ผลตอบแทนโดยคิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อปี (APY) อยู่ที่ 2% ถึง 6% ต่อปี ซึ่งหากเทียบกับการฝากเงินไว้กับธนาคารที่มอบดอกเบี้ยให้ปีละ 0.125% ถึง 1% ต่อปีนั้นถือว่ามากกว่าถึง 2 – 48 เท่าเลยทีเดียว

หากฝากเงินเกินกว่า 1 ล้านบาท?

อีกทั้งทุกธุรกรรมทางการเงินและกระเป๋าเงินจะถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน ซึ่งทำให้สามารถสบายใจและลดความกังวลเกี่ยวกับเงินที่จะหายไปหรือแม้กระทั่งลืมรหัสผ่านการเข้าใช้เองก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะไม่สามารถการันตีได้ว่าพวกเขาจะอยู่ยืนหยัดเคียงข้างคุณตลอดไปเหมือนธนาคาร และไม่มีเงินประกันในกรณีที่บริษัทต้องปิดตัวลง หรือเมื่อ platform Centralized ถูกแฮ็ค แต่จงจำไว้เสมอว่าในโลกของ crypto นั้น ทุก ๆ คนสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะถือเหรียญอะไร และจะโอนออกไปไหนก็ได้โดยที่ไม่ต้องกรอกเอกสารใด ๆ ให้ยุ่งยาก อีกทั้งยังมีความสะดวกรวดเร็วอีกด้วย

การเงินที่ไม่เหมือนเดิมด้วยกระแสมาแรงอย่าง Decentralized Finance (DeFi) 

รูปภาพจาก envato elements

เทคโนโลยีในปัจจุบันแทบจะก้าวหน้าไปไวกว่าโลกที่หมุนรอบตัวเองแล้ว โดยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้เกิดเทคโนโลยีต่าง ๆ ขึ้นมาตลอดเวลาในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ รวมถึงเทคโนโลยีทางด้านการเงินก็เช่นเดียวกัน

ในอดีตหากเราต้องการที่จะกู้ยืมเงิน จำนอง หรือแม้แต่การโอนเงิน เราจะต้องเดินทางไปยังธนาคารเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แต่หากเป็น DeFi แล้วหล่ะก็เพียงมีมือถือหรือคอมที่สามารถเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถทำได้แล้ว ทำให้อาจจะมองได้ว่า DeFi นี้จะเข้ามาแย่งงานธนาคารในอนาคต

แน่นอนว่าการทำธุรกรรมทางการเงินนั้นล้วนแต่จะต้องใช้ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยธนาคารได้เข้ามาเป็นตัวกลางที่น่าเชื่อถือ แต่ในปัจจุบันก็ได้มี Smart Contact เข้ามาตอบโจทย์ซึ่งแทนความเชื่อใจจากธนาคารโดยตัวกลางที่เชื่อถือได้และสามารถตรวจสอบได้เสมอ ซึ่งทำให้ลดค่าธรรมเนียมและความล่าช้าจากการดำเนินการอีกด้วย

สมัยก่อนหากเราจะต้องทำการกู้ยืมเงินจำนวนมาก เราอาจจะใช้เวลารอเป็นเดือนหรืออาจจะนานกว่านั้นเป็นปี รวมถึงเสียเงินค่าเอกสารและค่าดำเนินการมากมาย ซึ่งหากกลับมามองแล้วอาจจะไม่คุ้มกับการที่จะต้องมาเสียเวลาและเสียเงินอย่างไม่ควรเป็นเลยด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ DeFi ต้องเข้ามาทำให้ระบบต่าง ๆ มีความรวดเร็วรวมถึงมีค่าธรรมเนียมการดำเนินการที่น้อยเมื่อเทียบกับธนาคาร หรือหากแต่ว่าคุณเป็นนักลงทุนที่ต้องการเงินปล่อยเงินกู้นั้นก็สามารถที่จะทำได้

เช่นเดียวกันกับการฝากเงินที่ธนาคารเมื่อเราฝากเงินจำนวนมากไปกับธนาคาร แล้วธนาคารก็สามารถที่จะนำเงินนั้นไปปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้ได้ในดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของเรา ทำให้เมื่อกลับมาพิจารณาแล้วนั้นเราอาจจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบให้กับธนาคาร แต่หากว่าเรานำเงินจำนวนนั้นไปอยู่ในระบบ DeFi ที่ขับเคลื่อนด้วย Smart Contact ที่จะเป็นคู่สัญญาที่เชื่อถือได้และได้รับผลตอบแทนเต็มจำนวนโดยไม่ถูกหักจากตัวกลาง

ด้วยสิ่งนี้เองทำให้เราสามารถมองได้ว่า Decentralized Finance นั้นเหมือนกับธนาคารที่มีตัวตนอยู่จริงด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่าบล็อกเชน รวมถึงมีฟังก์ชันต่าง ๆ เหมือนกับธนาคารซึ่งถูกและรวดเร็วกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ DeFi ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับระบบธนาคารในปัจจุบันได้ก็คือระบบ Collateral หรือหลักประกันในการกู้ยืม กล่าวคือคุณสามารถใช้บ้านหรือที่ดิน และรถเพื่อทำการจำนองกับธนาคารเพื่อรับเงินกู้ได้ ในขณะเดียวกันสำหรับ DeFi นั้นสิ่งนี้ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากว่ามันไม่ได้ถูกรองรับโดยกฎหมาย อีกทั้งมันยังมีความเป็น decentralized จึงทำให้สินทรัพย์ที่ถูกจับต้องได้ยากต่อการนำไปจำนองบน DeFi

แต่กระนั้น หากตัดเรื่องนี้ออกไป DeFi ถือเป็นอีกแหล่งที่น่าดึงดูดในด้านการฝากเงินเพื่อกินดอกเบี้ยมากกว่าธนาคาร

ความน่ากังวลกับ DeFi

รูปภาพจาก envato elements

เทคโนโลยี DeFi เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ๆ ในปัจจุบัน รวมถึงมีความซับซ้อนและความเฉพาะตัวอยู่มาก ทำให้คนทั่วไปทำความเข้าใจได้ยาก ดังนั้นจึงทำให้ต้องผ่านการศึกษาข้อมูลมาเป็นจำนวนมากและละเอียด แม้ว่าตลอดที่ผ่านมาราคาของเหรียญที่เกี่ยวข้องกับ DeFi นั้นจะมีการปรับราคาขึ้นสูงมาก แต่ก็ยังมีการโจรกรรมต่าง ๆ เช่น Rug pull, NFT scam และ Fake ICOs เป็นต้น นั่นเองทำให้การศึกษาโดยละเอียดนั้นลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือการฝากเงินนั้นล้วนแต่ต้องแบกรับความเสี่ยงของเงินนั้นด้วยตัวเอง รวมถึงจะต้องศึกษา ใส่ใจ ให้ความสำคัญและอัพเดตตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เท่ากันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา