**บทความนี้เป็นบทความแปลเรียบเรียงใหม่รวมทั้งแทรกข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ “Scalability Tradeoffs: Why “The Ethereum Killer” Hasn’t Arrived Yet” ของ Georgios Konstantopoulos บน Medium
สำหรับผู้ที่สนใจในเทคโนโลยี Blockchain หรือ Cryptocurrency อย่าง Bitcoin หรือ Ethereum มาตลอดก็คงประสบกับปัญหาเรื่อง “Scalability” หรือปัญหาค่าโอนแพงและการโอนที่ช้าในระบบของ Cryptocurrency กันมาบ้าง
เนื่องจาก Bitcoin นั้นรองรับธุรกรรมได้เพียง 7 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ทำให้ในบางช่วงที่มีคนใช้งานมาก ๆ ก็จะทำให้ค่าโอนของมันพุ่งไปถึง 0.001 BTC เลยทีเดียว
ส่วน Ethereum ก็รองรับธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเคยได้ยินว่า Ethereum นั้นไม่สามารถแม้กระทั่งที่จะรองรับ Cryptokitties ที่เป็นเกมซื้อขายแมวบน Ethereum ได้เลยด้วยซ้ำ แล้วมันจะเป็นอนาคตของโลกดิจิตอลได้อย่างไร?
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงมี Cryptocurrency มากมายที่พยายามนำเสนอสิ่งที่ดีกว่า เช่น เราอาจจะได้ยินว่ามีบาง Cryptocurrency ที่อ้างว่าสามารถรองรับธุรกรรมได้ถึง 60,000 ธุรกรรมต่อวินาที หรือ IOTA ที่พยายามแนะนำเทคโนโลยี Tangle ที่จะสามารถยกระดับ Blockchain ไปอีกขั้นหนึ่งได้ แล้วทำไมด้วยความสามารถขนาดนั้นมันจึงไม่สามารถแทนที่ Ethereum หรือ Bitcoin ได้?
“เพราะมันมีสิ่งที่ต้องแลกมาเสมอในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด”
Vitalik บิดาแห่ง Ethereum ได้เคยกล่าวถึงการ Scalability ที่จะมีคุณสมบัติอยู่สามอย่างที่ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด กล่าวคือหากทำได้สองอย่างก็จะต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป ซึ่งทั้งสามได้แก่
– Decentralization : ระบบนั้นมีการกระจายอำนาจมากแค่ไหน
– Scalability : จำนวนธุรกรรมที่สามารถประมวลได้
– Security : ความปลอดภัยโดยวัดจากทรัพยากรที่ Hacker ต้องใช้หรือกำลังขุด
ซึ่งตามที่ Vitalik กล่าวไว้คือในปัจจุบัน Blockchain นั้นไม่สามารถที่จะทำทั้งสามสิ่งนี้พร้อม ๆ กันได้ หากเราสร้างระบบ Blockchain ที่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว (Scalability) และมีความปลอดภัยสูง (Security) สิ่งที่ Blockchain จะเสียไปคือความเป็น Decentralized
Cryptocurrency ที่เป็นแบบ Centralized
Ripple
XRP เป็นเงินดิจิตอลที่อ้างว่า “เป็นเงินดิจิตอลที่เร็วที่สุด มี Scalability ได้มากและสามารถทำธุรกรรมที่ไหนก็ได้ในโลก” และยังกล่าวอีกว่า “มันสามารถทำธุรกรรมได้ถึง 1,500 ธุรกรรมต่อวินาทีตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถขยายระบบให้มีความสามารถเท่ากับ Visa ได้”
นี่เป็นความสามารถที่ผู้ใช้ต่าง ๆ อาจจะร้องว้าว เพราะด้วย XRP นั้นธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกส่งอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจำนวน Node (คอมพิวเตอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย) ของ XRP ,Ethereum และ Bitcoin ดังนี้
ตำแหน่งของ Ripple Node 425 แห่งทั่วโลก https://xrpcharts.ripple.com/#/topology
ตำแหน่งของ Bitcoin Node 11690 แห่งทั่วโลก https://bitnodes.earn.com/
ตำแหน่งของ Ethereum Node 32383 แห่งทั่วโลกhttps://www.ethernodes.org/network/1
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า Ripple นั้นมีจำนวน Node น้อยอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือมันทำธุรกรรมได้เร็วแต่ก็ขาดความเป็น Decentralized นอกจากนี้ Ripple นั้นยังเป็น Cryptocurrency ที่ไม่มีการขุด คนทั่วไปไม่สามารถร่วมเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมหรือสามารถตั้ง Node ได้ ทำให้บุคคลทั่วไปจะไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงในการจะอัพเกรดระบบของ Ripple เหมือนในระบบของ Bitcoin หรือ Cryptocurrency อื่นๆที่เป็น Public Blockchain
Masternode Coins
Masternode เป็น Node ที่ลงซอฟต์แวร์ของ Cryptocurrency นั้น ๆ ไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ Node เหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เก็บบัญชี Blockchian แต่ยังทำฟังก์ชั่นอื่น ๆ อีก เช่น
- มีส่วนร่วมกับระบบโดยการโหวตเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ
- ทำให้ธุรกรรมส่งได้รวดเร็วขึ้น (Instant transaction)
- ปกปิดข้อมูลของธุรกรรรม (Private transaction)
ซึ่งระบบ Masternode นี้ถูกใช้ใน Cryptocurrency อย่าง Dash Pivx และ Zcoin โดยการจะติดตั้ง Node เหล่านี้ ผู้ที่จะติดตั้งตัวเองเป็น Node จะต้องวางเงินค้ำประกันจำนวนหนึ่งคล้าย ๆ กับระบบ Proof of stake แต่ต่างกันตรงที่มันมียอดขั้นต่ำ ในขณะที่ Proof of stake นั้นไม่มี และผู้ที่เป็นเจ้าของ Masternode จะได้รายได้ส่วนหนึ่งจากการที่มีส่วนร่วมกับระบบ โดยรายละเอียดเงินค้ำประกันของแต่ละเหรียญมีดังนี้
– Master node ของ Dash ต้องใช้ 1000 Dash หรือคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 20 ล้านบาท
– Master node ของ Pivx ต้องใช้ 10000 Pivx หรือคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 2 ล้านบาท
– Master node ของ Zcoin ต้องใช้ 1000 xzc หรือคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 2.5 ล้านบาท
การมี Node เหล่านี้จะทำให้เกิดระบบการโหวตคล้ายกับระบบประชาธิปไตยในเงินดิจิตอล ทำให้ธุรกรรมสามารถทำได้รวดเร็ว แต่ว่าผู้ที่จะเป็น Node ได้จะต้องมีเงินมหาศาล ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็สามารถตั้งตัวเองเป็น Node ได้ ทำให้ความเป็น Decentralized ของมันไม่มากนัก แต่แน่นอนว่ามันมากกว่า Ripple ตรงที่คนทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมได้หากมีต้นทุนที่มากพอ
แล้ว Cryptocurrency ที่บอกว่าตัวเองจะไม่มีค่าธรรมเนียมเลยล่ะ?
อย่างที่ได้เอ่ยไปตอนต้นว่าในระบบของ Blockchain นั้นไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่า ๆ การจะทำให้ระบบของ Blockchain มีความปลอดภัยนั้นจะต้องมีผู้ยืนยันธุรกรรมที่จะคอยสร้าง Block ใหม่ ๆ ให้แก่ระบบ ซึ่งหากผู้ที่มาคอยตรวจสอบระบบนี้มีน้อยก็เท่ากับว่าความปลอดภัยของระบบจะไม่มี หรือถ้ามีก็จะมีความเป็น Centralized สูงมาก ดังนั้นการที่จะจูงใจให้คนจำนวนมากมาตรวจสอบระบบโดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมให้พวกเขานั้นจึงเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างระบบ Blockchain ที่มีความปลอดภัยโดยไม่มีค่าธรรมเนียม หากทำได้ความเป็น Centralized ของระบบก็จะสูงมาก
แล้วเหรียญอื่น ๆ ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำล่ะ?
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ให้ผู้อ่านนึกถึง Ethereum ก่อน โดยค่าธรรมเนียมในการโอน Ether นั้นมีค่า Gas ประมาณ 21,000 Gas และถ้าหากคุณต้องการทำให้มันสามารถโอนได้อย่างรวดเร็ว ถ้าหากตรวจสอบจาก ethgasstation.info (การหาค่าธรรมเนียมของการทำธุรกรรมของ Ethereum) แล้วคุณตั้งค่า Gas ไว้ที่ประมาณ 50Gwei/ga ผลที่ได้คือค่าธรรมเนียมมันจะอยู่ที่ of 0.00105 Ether.
ถ้าคุณทำธุรกรรมนี้ในวันที่ 13 มกราคม 2018 (1 Ether = $1,400) เท่ากับว่าค่าธรรมเนียมคือ $1.47.
ถ้าคุณทำธุรกรรมนี้ในวันที่ 15 มกราคม 2017 (1 Ether = $0) เท่ากับว่าค่าธรรมเนียมคือ $0.01
จริง ๆ แล้วค่าธรรมเนียมนั้นจะถูกกำหนดจากการที่ว่าในขณะนั้นมีคนทำธุรกรรมมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากผู้ยืนยันธุรกรรมนั้นต่างก็อยากได้ค่าธรรมเนียมหรือค่าแรงในการตรวจสอบธุรกรรมในจำนวนที่สูง ดังนั้นหากมีใครที่ยินดีจ่ายค่าธรรมเนียมสูง ธุรกรรมก็จะได้โอนก่อน ทำให้ค่าธรรมเนียมที่สูงนั้นเกิดจากปริมาณธุรกรรมที่มากขึ้นในเงินดิจิตอล
และหากมีเงินดิจิตอลตัวใดก็ตามที่สามารถมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำได้โดยยังมีความเป็น Decentralized สูงอยู่นั้น แสดงว่ามีปริมาณธุรกรรมไม่มากนัก และด้วยธุรกรรมที่น้อย จะทำให้ผู้ยืนยันธุรกรรมมีน้อยตามมา ผลก็คือความปลอดภัยของระบบก็จะน้อยลงเช่นกัน
แล้วระบบ Consensus ใน Blockchain แบบอื่นๆล่ะ?
ทั้ง Bitcoin และ Ethereum ต่างก็ใช้ระบบ Proof of Work ที่ต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบธุรกรรม แต่ก็แน่นอนว่ามันก็มีระบบ Consensus (การเห็นพ้องต้องกันในระบบ Blockchain) วิธีต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งวิธีที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือ Proof of stake โดย Bitshates หรือ Steem ก็ได้ระบบนี้มาใช้ในนาม Delegated Proof of Stake (DPOS)
โดยระบบ DPOS นั้นจะเป็นระบบที่เหมือนประชาธิปไตยที่ผู้มีส่วนร่วมจะร่วมกันโหวตหาผู้แทนจำนวนหนึ่งไปเป็น Node ที่มีหน้าที่ควบคุมธุรกรรมและระบบทั้งหมด โดยเราสามารถเปลี่ยนแปลงผู้แทน (Delegated) ได้ตามใจชอบ ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่ดีเนื่องจากผู้ที่เป็นผู้แทนนั้นจะต้องพยายามทำอะไรต่าง ๆ ให้แก่ระบบเพื่อแลกกับสิทธิที่จะควบคุมระบบด้วย แต่แน่นอนว่าวิธีนี้ก็มีความเป็น Decentralized น้อยเนื่องจากมีคนเพียงกลุ่มเดียวที่เป็นผู้ควบคุมระบบ แต่ก็จะแลกมาด้วยประสิทธิภาพที่เร็วขึ้นในการทำธุรกรรม
แล้ว Tangle หรือ Hashgraph ล่ะ?
Tangle
IOTA ใช้แนวความคิดที่แตกต่างจาก Blockchain และ Cryptocurrency โดยใช้แนวคิดของ Directed Acyclic Graph (DAG) ที่ชื่อว่า Tangle
ซึ่งแนวคิดคร่าว ๆ ของ Tangle คือ การใช้อุปกรณ์เล็กๆอย่างโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เล็ก ๆ ในการยืนยันธุรกรรมขนาดเล็กที่เรียกว่า Microtransaction และด้วยวิธีนี้จะเท่ากับว่าธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกยืนยันโดยอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันโดยปริยาย
แต่ทว่าธุรกรรมของ Tangle นั้นจะไม่มีการบันทึกเวลาหรือ Timestamp และนั่นเท่ากับว่ามันไม่สามารถสร้าง Smart contract ที่ซับซ้อนได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันมันยังประสบปัญหา Double spending (การที่เงินอาจถูกนำไปใช้สองครั้ง) จากการอ้างอิงถึงสองธุรกรรมก่อนหน้า
https://iota.org/IOTA_Whitepaper.pdf
และด้วยค่าธรรมเนียมที่น้อยมากจึงแทบจะไม่มีแรงจูงใจให้ผู้ที่จะมาสร้าง Node เพื่อเข้าร่วมแก่ระบบ ทำให้ความเป็น Decentralized นั้นน้อยลง
Hashgraph
Hashgraph เป็น Distributed ledgerแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรูปแบบของ Blockchain จะทำงานเชื่อมโยงข้อมูลกันเป็น Block มี Chain เชื่อมต่อกันเส้นเดียว แต่ของ Hashgraph จะทำงานเชื่อมต่อกันเป็น Graph
อย่างไรก็ตาม ทีมของ Hashgraph นั้นยังคงพัฒนาระบบใน Private Network อยู่ ซึ่งมันยังไม่เป็นระบบ Decentralized แม้วิธีการทำงานของมันจะน่าสนใจ แต่ในปัจจุบันมันยังคงอยู่ในจุดเริ่มต้นในการหาวิธีนำไปใช้
สรุป
Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ดีและมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยคุณลักษณะของมันไม่ได้แปลว่ามันจะเหมาะกับการทำงานทุกรูปแบบ โดยเงินดิจิตอลที่มีความเป็น Decentralized ต่ำอย่าง XRP หรือเหรียญที่เป็น Master node ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้งาน เพราะหากนำไปใช้ให้ถูกวิธี ประโยชน์ของมันก็มีมหาศาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain ยังคงอยู่ในจุดเริ่มต้น หากในอนาคตเทคโนโลยีสามารถพัฒนาไปอยู่ในจุดที่เราสามารถทำระบบที่ Decentralized สูง โดยที่ยังคงทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยได้นั้น Blockchain จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกไปทั้งใบได้อย่างแน่นอน
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น