หลังจากที่ประเทศไทยได้รับกฎหมายพระราชกำหนดด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดดูเหมือนว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกมาเผยถึงกฎเกณฑ์และแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ว่านี้แล้ว โดยหลัก ๆ นั้นจะเป็นการปกป้องนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนในเหรียญ ICO
โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์หลักของทาง ก.ล.ต. นั้น แนวทางดังกล่าวมาจากความคิดเห็นจากสาธารณชนในหลายช่องทางทั้งทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (focus group) โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “เพิ่มความชัดเจนสำหรับผู้ต้องการออกไอซีโอ ตัวกลางที่เกี่ยวข้อง และผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงหรือถูกเอาเปรียบ รวมทั้งช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและป้องปรามการฟอกเงิน”
ผู้ออก ICO ต้องโปร่งใส
รายงานจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. นั้นยังเผยว่าผู้ที่ต้องการจะออกเหรียญ ICO เป็นของตนเองนั้นจะ “ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลต้องชัดเจน มีการเปิดเผยชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด) มีหนังสือชี้ชวน และมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ”
นอกจากนี้การเสนอขาย “ต้องทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ไอซีโอพอร์ทัล) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งไอซีโอพอร์ทัลจะทำหน้าที่คัดกรองโครงการและทำความรู้จักตัวตนและสถานะผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน” ทว่ารายงานไม่ได้เผยว่าปัจจุบันมีผู้คัดกรองโครงการ ICO Portal ใดบ้างที่ได้รับเลือกจาก ก.ล.ต. แล้ว
ที่สำคัญเว็บ Exchange หรือ “ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล” จะ “ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด” อีกด้วย
จำกัดรายย่อย
รายงานยังเผยถึงประเภทของนักลงทุนอย่างผู้ลงทุนสถาบัน, ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ, กิจการร่วมลงทุน ที่สามารถร่วมลงทุน ICO ได้โดยไม่มีการจำกัดวงเงิน ทว่านักลงทุนรายย่อยนั้นจะสามารถซื้อได้รายละ “ไม่เกิน 3 แสนบาท นอกจากนี้ วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด” อีกด้วย
นอกจากนี้ในรายงานยังได้มีการจำแนกเหรียญ ICO ออกจาก “utility token” ประเภทอื่น ๆ อย่างเช่น “เหรียญในเกมส์หรือ แต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการ” โดยจะไม่ได้รับการควบคุมภายใต้ พ.ร.ก. นี้
ข้อสรุปดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทาง ก.ล.ต. จัดงานรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนเมื่อเดือนที่ผ่านมา
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น