<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

MimbleWimble คืออะไร เมื่อเหรียญ Grin กับ BEAM สามารถถูกส่งหากันได้โดยไม่ต้องใช้ Address

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ดูเหมือนว่าตลาดคริปโตเคอเรนซีนั้นมักจะมีกระแสใหม่ ๆ มาให้นักลงทุนและผู้ใช้งานได้ทดสอบกันอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม CryptoKitties ที่เราได้เห็นกันเมื่อสองปีที่แล้ว รวมถึงเทคโนโลยีที่ Lightning Network ของ Bitcoin ที่ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่สามารถส่งเหรียญหากันได้อย่างรวดเร็วและไม่มีค่าธรรมเนียม ทว่าล่าสุดนั้น ตลาดได้เห็นเหรียญใหม่ที่กำลังกลายเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ซึ่งนั่นก็คือเหรียญคริปโตที่ใช้เทคโนโลยีของ MimbleWimble

MimbleWimble คืออะไร

MimbleWimble คือโพรโตคอลที่ถูกพัฒนาโดยหนึ่งในนักพัฒนาในห้อง Bitcoin developers ที่ใช้นามแฝงว่า Tom Elvis Jedusor (ซึ่งถือเป็นชื่อในเวอร์ชันฝรั่งเศสของลอร์ด โวลเดอร์มอลต์ ในนิยายชื่อดัง Harry Potter) โดยคำว่า MimbleWimble เป็นชื่อคาถาที่ทำให้เหยื่อไม่สามารถพูดออกมาได้ในนิยายดังกล่าว นาย Jedusor ได้ทิ้งลิงค์ของ whitepaper ตัวโพรโตคอลดังกล่าวไว้ โดยมันได้อธิบายถึงการใช้งานมัน, ความสามารถในการ scale และรวมถึงศักยภาพในการทำให้เหรียญ Bitcoin มีความเป็นส่วนตัวสูงมากขึ้น หากนำมันมาใช้อีกด้วย

หากจะทำความเข้าใจตัวโพรโตคอล Mimblewimble ให้ถ่องแท้นั้น จะต้องทำความเข้าใจวิธีในการประมวลผลธุรกรรมของมันก่อน

การประมวลผลธุรกรรมของโพรโตคอล Mimblewimble นั้นถือซับเซ็ทที่อยู่ภายใต้ของการทำธุรกรรมแบบลับ หรือที่เรียกว่า confidential transactions มันถูกคิดค้นแรกเริ่มโดยนักพัฒนา Bitcoin นาม Adam Back โดย confidential transactions นี้จะสามารถทำให้ผู้ส่งเหรียญสามารถเข้ารหัสเพื่อไม่ให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นจำนวนของ Bitcoin ที่ผู้ส่งต้องการจะส่งได้ โดยเรียกวิธีนี้ว่า blinding factors ซึ่งการทำงานของมันก็คือการสุ่มจำนวนที่จะแสดงของเหรียญ Bitcoin ที่ผู้ส่งต้องการจะส่ง และหลังจากนั้น blinding factors ก็จะทำการเข้ารหัสจำนวนตัวเลขของ Bitcoin ที่ต้องการจะส่ง ทว่าจำนวน Bitcoin ที่จะส่งนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ และปลายทางที่ได้รับก็จะได้รับจำนวน Bitcoin ตามที่ผู้ส่งต้องการจะส่งตามปกติ

โดยปกตินั้น ในแง่ของ confidential transactions แบบทั่ว ๆ ไปจะมีเพียงแค่สองฝ่ายที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการ sign ธุรกรรมเหล่านั้น คนอื่น ๆ ทั่วไปจะไม่มีวันรู้ได้เลย อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ สามารถที่จะแน่ใจได้ว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นของจริงได้ด้วยการเปรียบเทียบตัวเลขของ input (ที่ส่ง) และ output (ที่รับ) ว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าหากว่าทั้งสองส่วนนี้เหมือนกัน แปลว่าธุรกรรมดังกล่าวถือเป็นเสร็จสมบูรณ์และถูกต้อง ขั้นตอนดังกล่าวช่วยให้แน่ใจว่าเหรียญนั้น ๆ จะไม่ได้ถูกกดสร้างเองกลางอากาศ และถือเป็นการรักษารากฐานของระบบให้คงอยู่ได้

ที่นี้ลองกลับมาดูที่ธุรกรรมของ Mimblewimble กันบ้าง โพรโตคอลดังกล่าวนั้นมีหลักการทำงานที่คล้าย ๆ กับ confidential transactions แต่ต่างกันตรงที่ผู้ที่ได้รับธุรกรรมนั้นจะเป็นฝ่ายสุ่ม blinding factors ที่ทางผู้ทำธุรกรรมส่งมาให้ ซึ่ง blinding factors ในที่นี้จะถูกใช้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ (proof of ownership) ด้วยผู้รับธุรกรรม และสามารถอนุญาตให้ผู้รับสามารถจ่าย Bitcoin ได้

ข้อสังเกตสำหรับโพรโตคอล Mimblewimble ที่น่าสนใจมีอยู่สองข้อก็คือ

  1. เหรียญที่ใช้ protocol นี้จะไม่มี address หรือที่อยู่ในการส่งเหรียญ
  2. จะไม่แสดงจำนวนเหรียญที่ถูกส่งบน blockchain

นวัตกรรม CoinJoin

นอกจากนี้ ธุรกรรมที่ทำด้วย Mimblewimble นั้นยังได้ผนวกเอานวัตกรรมด้านการเข้ารหัสอีกตัวหนึ่งนามว่า CoinJoin เข้ามาอีกด้วย เทคโนโลยีดังกล่าวถูกเสนอโดยนาย Gregory Maxwell โดย CoinJoin นั้นถือเป็นกลไกการทำงานที่จะทำให้การจ่ายเหรียญจากผู้จ่ายหลาย ๆ คนสามารถรวมกันเป็นหนึ่งธุรกรรมได้ ซึ่งทำให้บุคคลภายนอกรู้ได้ยากขึ้นว่าจำนวนไหนนั้นคือจำนวนที่จะถูกส่งไปหาปลายทางคนไหน ด้วยการทำให้ input และ output ของผู้ส่งและผู้รับดูสับสนมากขึ้น ดังนั้นเมื่อนำเอา MimbleWimble กับ CoinJoin เข้ามาทำงานด้วยกัน จะทำให้ block ธุรกรรมนั้นประกอบได้ด้วย

  • ลิสต์ของ Input
  • ลิสต์ของ Output
  • ข้อมูลของ signature

ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะทำให้สามารถประหยัดเนื้อที่ในการทำธุรกรรมลงไปได้อีก เพราะว่าข้อมูลในด้านอื่น ๆ ของธุรกรรมนั้นไม่มีความจำเป็นต้องถูกเก็บอีกต่อไป มีเพียงแค่ input และ output ด้วยการนำเอาทั้งสองอย่างนี้มาหักล้างกันทำให้ค่าของ input และ output เหลือ 0 ซึ่งแพลทฟอร์ม blockchain ที่ถูกสร้างขึ้นมาบนระบบแบบนี้จะถือว่าสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะแตกต่างจากการยืนยันธุรกรรมบน Bitcoin ที่จะต้องมีการดาวน์โหลดข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นมาเพื่อยืนยัน (full node)

ดังนั้นในแง่ของการประหยัดเนื้อที่ รวมถึงความเป็นส่วนตัวของโพรโตคอล MimbleWimble นั้นก็มีมาให้เห็นกันอย่างง่าย ๆ อยู่แล้ว ด้วยการนำเอาข้อมูลธุรกรรมที่ไม่จำเป็นออกไป จนทำให้ปัญหาด้านการ scaling แทบจะไม่เหลือ เมื่อมีเนื้อที่ต่อบล็อกในการจัดเก็บธุรกรรมที่มากขึ้น รวมถึงการพราง input และ output และการกำจัด address หรือที่อยู่ในการส่งเหรียญออกไป ทำให้มีความเป็นส่วนตัวโดยสมบูรณ์แบบที่แท้จริง

เหรียญ Grin กับ BEAM คืออะไร

โพรโตคอล MimbleWimble นั้นกำลังเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมที่สูงอย่างมาก จนกระทั่งล่าสุดมีเหรียญใหม่ที่เพิ่ BEAM และ Grin ที่มองเห็นข้อดีของโพรโตคอลที่ว่านี้ จนได้สร้างมันออกมา

ทั้งสองเหรียญนี้มีความแตกต่างกันทางด้านระบบเศรษฐกิจภายใน โดย BEAM นั้นจะหัก 20% ของค่าธรรมเนียมไปเป็น block reward ให้กับทีมผู้สร้างเหรียญ ในขณะที่เหรียญ Grin นั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่ม community และการขายผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ระยะเวลาในการปรับโครงสร้างของระบบเหรียญของทั้งสองเหรียญนี้ก็แตกต่างกันเช่นกัน

Grin

เหรียญ Grin นั้นถูกสร้างโดยกลุ่ม community ชุมชนขนาดใหญ่ที่เริ่มการพัฒนามาแล้วตั้งแต่ปี 2016

โดยอ้างอิงจาก Github นั้น นักพัฒนาหลักของโปรเจ็คดังกล่าวชื่อว่า Antioch Peverell, Gary Yu, hashmap, Ignotus Peverell, Quentin Le Sceller, และ Yeastplume

โปรเจ็คเหรียญดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่ม community ตั้งแต่ช่วงที่มีการประกาศเปิดตัว MimbleWimble ตลอดทั้งปี 2016

  • จำนวน block reward อยู่ที่ 60 Grin
  • เวลาบล็อกอยู่ที่ 1 นาที
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมให้กับผู้ก่อตั้ง
  • ไม่มีจำนวนจำกัดของ supply
  • ใช้อัลกอริทึ่ม Cuckoo Cycle PoW
  • เขียนโดยใช้ภาษา Rust

BEAM

เหรียญ BEAM นั้นถูกสร้างขึ้นหลังจากเหรียญ Grin โดยพวกเขาเข้ามาในตลาดตั้งแต่ช่วงมีนาคมปี 2018 โดยจุดที่น่าสนใจของเหรียญดังกล่าวคือ

  • ลดจำนวน block reward ลง 100 BEAM ในปีแรก หลังจากนั้น 50 BEAM, 25 BEAM และลงมาอีกเรื่อย ๆ ในทุก ๆ 4 ปี
  • เวลาเกิด block ใหม่ทุก ๆ หนึ่งนาที
  • มีจำนวน supply จำกัดที่ 262.8 ล้าน BEAM
  • ใช้อัลกอริทึ่ม Equihash PoW
  • ใช้ภาษา C++ ในการเขียน

จุดที่น่าสนใจคือ หน่วยย่อยของเหรียญ BEAM นั้นจะถูกย่อยให้เป็น 100.000.000 Groth ซึ่งตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติกับ Jens Groth หรือนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และนัก cryptographer ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนา zero-knowledge proofs

เปรียบเทียบข้อแตกต่างของทั้งสองเหรียญ

ความนิยมของเหรียญ

ซึ่งก็แน่นอน เหรียญ Grin ที่เปิดตัวก่อนตั้งแต่ช่วงปี 2016 นั้นก็ย่อมที่จะเป็นที่รู้จักมากกว่า BEAM

ทว่าข้อมูลจากเว็บ Coingecko เผยให้เห็นถึงราคาของเหรียญ Grin ที่เคยขึ้นไปแตะ 261.65 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ทว่าก็ร่วงลงมาเรื่อย ๆ และปัจจุบันอยู่ที่ 8.74 ดอลลาร์

ส่วนในแง่ของมูลค่าตลาดรวมนั้น อยู่ที่ 10.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้เหรียญดังกล่าวนั้นอยู่อันดับที่ 199 บน Coingecko

ส่วนเหรียญ BEAM นั้น เหรียญดังกล่าวเคยพุ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 10.03 ดอลลาร์ มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 6.4 ล้านดอลลาร์ ทำให้เหรียญดังกล่าวอยู่อันดับที่ 291

จุดอ่อนของ MimbleWimble

จุดอ่อนของโพรโตคอลดังกล่าวและเหรียญที่ใช้มันนั้นหลัก ๆ คือการไร้ซึ่งสคริปต์ นั่นหมายความว่า Blockchain ของ Grin และ BEAM นั้นไม่สามารถถูกโปรแกรมได้ และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญก็คือทั้งสอง wallet ของผู้ส่งและผู้รับนั้นจะต้องถูกเชื่อมต่อหากันโดยตรงเวลาที่จะทำธุรกรรม (นั่นหมายความว่าทั้งสอง wallet นั้นจะต้อง online ไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้มันยังเป็นไปได้ในการสร้าง spy node เพื่อใช้รับและส่งต่อ (หากไม่ใช่ทั้งหมด) ธุรกรรมแบบเดี่ยว ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า node ดังกล่าวจะสามารถบันทึกธุรกรรมและติดตามว่า input ตัวไหนส่งให้ output ตัวไหนบ้าง ทำให้มันสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปในทันที

ทว่าทางนักพัฒนา MimbleWimble และ Grin อ้างว่าพวกเขาสามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการรวบรวมธุรกรรมทั้งหมดไว้ ก่อนที่มันจะเข้าไปในเครือข่ายการยืนยัน, เพิ่มตัว dummy ของ output ที่ไม่มีเหรียญอยู่เลย, และติดตั้งเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Dandelion protocol นอกจากนี้เทคโนโลยีอย่าง Schnorr signatures และ bullet proofs นั้นก็ยังสามารถทำงานร่วมกับ Grin ได้ด้วย

โดยสรุปนั้นการใช้นวัตกรรมด้านการเข้ารหัสอย่างเช่น confidential transactions และ CoinJoin ทำให้ Mimblewimble กลายเป็นโพรโตคอลที่ทำให้การ scaling เครื่อข่ายนั้นถือเป็นเรื่องง่าย และรวมถึงเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเหรียญที่ใช้ protocol ดังกล่าวด้วย

 

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น