<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

หรือการถูกสั่งปิดของ Voice TV จะเป็นจุดเริ่มต้นของแพลทฟอร์มสื่อแบบ Decentralized?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

การ censorship หรือการสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลบางส่วนที่รัฐบาลไม่อยากให้ถูกเปิดเผยนั้นมีมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่พวกเขานำประเด็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศมากล่าวอ้าง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งนั้นไม่มีใครรู้ว่าการ censorship ในจุดที่ “พอดี” นั้นควรจะอยู่ตรงไหน เมื่อสื่อบางประเภทที่อาจส่งผลด้านลบ (หรือด้านดี?) ต่อคนหมู่มากอาจจำเป็นที่จะต้องถูกกักกั้นไว้ไม่ให้ออกอากาศเช่นภาพยนต์ ‘ผู้ใหญ่’ ที่บางคนกล่าวว่าไม่ควรจะได้รับการเผยแพร่เลยแม่แต่นิดเดียว ในขณะที่บางกลุ่มก็กล่าวว่า “บางประเทศที่เจริญแล้วเขายังเผยแพร่และมีการควบคุมการขายกันเป็นเรื่องปกติ”

แต่ทว่าเรื่องราวเหล่านั้นคงจะไม่ร้อนแรงเท่ากับการ ‘censorship ทางการเมือง’ ที่การถกเถียงว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการ censor นี้คงจะดูไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป แต่คงจะต้องถามว่า “คนกลุ่มไหนได้ผลประโยชน์” จากการกระทำแบบนี้

รายงานจากสื่อกระแสหลักข่าวสดเผยว่า ข่าวช่อง Voice TVนั้น “อาจโดนปิด 15 วัน! ช่วงใกล้เลือกตั้ง อ้างผู้มีอำนาจ ไม่ต้องการ” โดยทางข่าวสดได้มีการอ้างอิงคำพูดของนาย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หรือนักข่าวจากช่อง Voice TV ถึงเหตุการณ์การปิดกั้นการออกอากาศดังกล่าว ว่า “ผู้มีอำนาจ ไม่ต้องการ”

“ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่าไม่กี่วันนี้ทุกท่านจะไม่เห็นผมบนหน้าจอทีวีอีกต่อไป ระยะเวลานานเท่าไรผมไม่ทราบ และจะพบกันในเงื่อนไขไหนก็ไม่รู้ เพราะเหตุการณ์นี้เกิดจากการกดดันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งอ้างว่าคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจต้องการ

ด้วยต้นเหตุที่เป็นแบบนี้ การหายไปไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผมทำอะไรผิดกฎหมายทั้งกฎหมายปกติและกฎหมายของ คสช.ทุกกรณี

สรุปสั้นๆ องค์กรซึ่งใช้อำนาจคุมสื่อเรียกช่องที่ผมเกี่ยวข้องไปพูดคุยถึงรายการวันซึ่งผมไม่ใช่ผู้ร่วมจัด เหตุผลขององค์กรคือรายการวันนั้นมีภาพคุณทักษิณและผู้ชุมุนมเลือกตั้งมากเกินไป…”

กล่าวโดยนายศิโรตม์

ตัดเรื่องการเมืองออกไป และหันมามองที่ผลประโยชน์หลักของประชาชน คำถามที่ตามมาคือการ censorship ในรูปแบบดังกล่าวนั้นจะสามารถถูก bypass ด้วยเทคโนโลยี blockchain ได้หรือไม่

สื่อแบบ Decentralized

หากผู้ที่ติดตามอ่านสยามบล็อกเชนบ่อยจะจำได้ว่าก่อนหน้านี้ทางเราเคยรายงานเรื่องของการเก็บมิวสิควีดีโอเพลงแร็พในตำนาน “ประเทศกูมี” ไว้บนแพลทฟอร์มฝากไฟล์แบบ decentralized นามว่า IPFS ก่อนที่จะนำเอาลิงค์ที่อยู่ไปแปะไว้บน blockchain ของ Zcoin อีกรอบหนึ่ง

Use case ของการเก็บไฟล์ดังกล่าวสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนในประเทศไทยอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากว่าไฟล์ดังกล่าวนั้นจะไม่มีวันถูกลบได้, ไม่มีวันถูกบล็อก address ได้ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ เนื่องมาจากว่า node ที่ใช้เป็นตัวเก็บไฟล์นั้นมีลักษณะเป็นแบบกระจายศูนย์ที่อยู่ทั่วโลก ถ้าหากว่าจะทำการลบไฟล์ ก็ต้องทำการไปไล่ปิด node จำนวน 4,000 กว่า node ทั้งโลกนั่นเอง

นายปรมินทร์ อินโสม หรือผู้ก่อตั้ง Zcoin กล่าวในขณะนั้นว่า

“จะไม่รู้ใครเป็นคนโพส ข้อมูลจะไม่หาย และจะไม่โดนบล็อกเพื่อไม่ให้เข้าถึงครับ เพราะด้วย mint spend ของ zcoin จะไม่รู้ว่า link id บน ipfs นี้มาจากไหนครับ แล้วเป็น public blockchain ทำให้ลบ link ไม่ได้ ส่วน ipfs ก็ทำให้ลบวีดีโอไม่ได้ ซึ่งทั้งคู่เป็น distributed เลย block ไม่ได้”

นอกเหนือจากเว็บฝากไฟล์แบบ decentralized อย่าง IPFS แล้ว ปัจจุบันเรายังได้เห็นโปรเจ็คเกิดใหม่อย่าง livepeer หรือแพลทฟอร์มวีดีโอแบบ decentralized อีกทั้งยังเป็น open-source อีกด้วย ซึ่งแนวคิดหลัก ๆ ของพวกเขานั้นคือการให้ผู้คนอัพโหลดวีดีโอขึ้นไปในเครือข่าย ซึ่งจะเป็นวีดีโอที่ไร้การควบคุมโดยศูนย์กลางใด ๆ นั่นหมายความว่าวีดีโอทุกตัวจะไร้การ censorship นั่นเอง

แนวคิดที่ดีกว่า สำหรับแพลทฟอร์มวีดีโอ หรือสื่อเพื่อประชาชนแบบ decentralied ที่ดีในอุดมคติตามที่ทางสยามบล็อกเชนวิเคราะห์นั้นควรจะประกอบไปด้วย

มีความเป็น Decentralized

กล่าวคือ ไร้ศูนย์กลางหรือ server วีดีโอที่ถูกอัพโหลดขึ้นไปจะได้รับสิทธิเท่าเทียมเหมือนกับวีดีโอทุก ๆ ตัว การกระจายศูนย์ออกมาจะทำให้วีดีโอทุกตัวไม่สามารถถูก censor ได้โดยง่าย เพราะผู้ที่จะทำการ censor นั้นจะต้องไปไล่ปิด node เก็บไฟล์ที่รันอยู่ให้ครบทุกตัว หรือไม่ก็ติดอินเทอร์เนตของคนทั้งประเทศ

มีระบบ Governance ที่ทำงานได้ในตัวมันเอง

Bitcoin มีระบบอัลกอริทึ่มที่เรียกว่า proof-of-work ที่จะทำการจ่ายรางวัลให้กับผู้ที่เสียสละคอมพิวเตอร์มาเป็นนักประมวลผล แม้ว่าระบบดังกล่าวจะมีความเป็น end-to-end ที่สมบูรณ์ แต่ระบบการจัดการภายในนั้นอาจจะยังไม่ดีพอ

กลับมาที่แพลทฟอร์มวีดีโอ ลองจินตนาการว่าหากมันมีความเป็น decentralized มากเกินไป ไร้คนคุม ไม่มีใครลบได้ การนำเอาไฟล์ที่ผิดจริยธรรมขึ้นไปฝากไว้อาจส่งผลเสียต่อระบบ และประชาชนหมู่มากได้ ดังนั้นระบบ governance ที่สามารถควบคุมปัญหาดังกล่าวได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็น decentralization นั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ก่อนหน้านี้ผู้ก่อตั้ง Ethereum นาย Vitalik Buterin เคยออกมาเสนอแนวคิดในเรื่องของการ vote เข้ามาในระบบ โดยจะให้คนหมู่มากทำการโหวตเพื่อตัดสินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่นหากมีใครคนใดคนหนึ่งที่อัพโหลดไฟล์วีดีโอ “การทำอนาจาร” ขึ้นบนระบบ ผู้คนจำนวนมากก็สามารถที่จะโหวตให้ลบวีดีโอดังกล่าวได้ และ smart contract หรือระบบอัจฉริยะก็จะทำการลบวีดีโอนั้นทิ้งไปโดยอัตโนมัติ

ทว่ามันก็ยังมีข้อบกพร่องตรงที่ก่อนที่มันจะถูกโหวตและลบออกนั้น วีดีโอดังกล่าวอาจถูกเผยแพร่ และมีผู้เห็นไปแล้วหลายราย ซึ่งก็ยังไม่สมบูรณ์แบบอยู่ดี ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่าในอนาคตจะมีผู้คิดค้นระบบ governance โดยอัตโนมัติโดยไร้ตัวกลางที่สมบูรณ์แบบได้หรือไม่

สามารถ Scale ได้ง่าย

ข้อเสียของระบบ decentralized ที่จำเป็นต้องพึ่งพา node และ validator ในระบบเป็นจำนวนมากนั้นคือความล่าช้าในการประมวลผล จริงอยู่ที่ปัจจุบันเรายังไม่สามารถเห็นเหรียญคริปโตตัวไหนที่สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ในระดับหนึ่งล้านธุรกรรมได้ต่อวินาทีเลยแม้แต่ตัวเดียว (หากทำได้จริง ก็คงต้องพึ่งพาระบบแบบ centralized)

ซึ่งหากจะทำให้แพลทฟอร์มวีดีโอแบบ decentralized มีความสมบูรณ์แบบนั้น การทำให้มัน scale ได้อย่างง่ายดายจึงเป็นสิ่งจำเป็น คงไม่มีใครที่จะต้องรอการ verify วีดีโอของตัวเองที่ถูกอัพโหลดขึ้นไปบนระบบเป็นวัน ๆ อย่างแน่นอน

ระบบ Incentive เพื่อคอนเท้นต์ที่ดีกว่า

ผู้สร้างวีดีโอ, นักเขียน, ผู้ทำคอนเท้นต์ก็ต้องกินต้องใช้ และการ censor นั้นส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของพวกเขา ดังนั้นระบบ decentralized ที่ดีจะต้องมีการให้ผลตอบแทนที่สามารถจ่ายผ่าน smart contract ได้ ด้วยการสร้าง token เฉพาะของ platform ที่สามารถนำไปเก็งกำไร หรือขายทอดตลาดได้

โดยการจะได้มาซึ่ง token เหล่านี้ นักทำคอนเท้นต์จะต้องผลิตวีดีโอที่ผู้คนสนใจออกมา และอัพโหลดขึ้นไป

ทีนี้ ผู้ที่สนใจจะลงโฆษณาคั่นวีดีโอของนักสร้างคอนเท้นต์ก็จะต้องไปซื้อ token ดังกล่าว ก่อนที่จะ load มันขึ้นไปบน platform ซื้อโฆษณาที่รันอยู่ด้วย smart contract และทำการจ่ายตามยอดดู (CPM) หรือยอดคลิก (CPC) ได้ หรือแม้แต่เลือกที่จะซื้อโฆษณาแบบ P2P ก็สามารถทำได้เช่นกัน

แม้ว่าปัจจุบันโทรทัศน์ยังคงถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากกว่าการชมวีดีโอออนไลน์ แต่ข้อมูลจาก Positioning Mag เผยว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่นั้นเลือกที่จะชมรายการแบบออนไลน์มากกว่าโทรทัศน์ ดังนั้นทิศทางการเปลี่ยนแปลงจากกระแสการชมสื่อด้วยระบบโทรทัศน์เสาอากาศ มาเป็นอินเทอร์เน็ต อาจเสร็จสมบูรณ์แบบ 100% ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ทว่าปัญหายังคงอยู่ที่การ Censor ตัวผู้ทำคอนเท้นต์ ไม่ใช่รายการ?

จริงอยู่ ที่การสั่งปิดที่ตัวสถานี หรือผู้ทำรายการนั้นจะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้มีอำนาจ แต่การมาของอินเทอร์เน็ตและระบบ Blockchain นั้นได้พิสูจน์ให้เห็นมาหลายปีแล้วว่า “ไม่ว่าใครก็สามารถทำตัวเองให้เป็นสื่อได้” ดังที่เราได้เห็นว่ามีเพจเฟสบุ๊คส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตที่สามารถกระจายข่าวได้ รวมถึง WikiLeaks หรือแพลทฟอร์มเปิดโปงรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการทำคอนเท้นต์ แลกกับ Bitcoin ของผู้อ่าน โดยที่เว็บไซต์ของพวกเขาหลุดรอดการ censorship มาได้ตั้งแต่ปี 2006

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Voice TV ที่ถูกพักไม่ให้ออกอากาศ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 พวกเขาได้ถูก กสทช. พักใช้ใบอนุญาต 7 วัน มาแล้ว รวมถึงเมื่อตอนปี 2557 ก็ได้ถูก กอ.รส. สั่งระงับการออกอากาศเช่นเดียวกัน

บทสรุปของการป้องกันการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน นั้น อาจกล่าวได้ว่า

“เมื่อใดที่ทุก ๆ คนได้รับอิสระ และความเท่าเทียม บวกกับความสามารถของการทำตัวเองให้ไร้ตัวตน (Anonymous) ได้สมบูรณ์แบบบนระบบ decentralization เมื่อนั้น censorship ก็คงจะไม่เหลือให้เห็นอีกต่อไป”

ภาพจาก Voice TV

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น