<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

รู้จักกับดัชนีความกลัวและความโลภ Fear and Greed ทำไมจึงสำคัญ

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในโลกของการลงทุนมักมีสิ่งที่เรียกว่า “อารมณ์” เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการเทรดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นก็อาจส่งผลให้กลยุทธ์หรือแผนของนักลงทุนที่เตรียมไว้พังทลายอย่างไม่มีชิ้นดี เช่นเดียวกันกับตลาดคริปโตที่มีเครื่องมือชนิดหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “สภาวะอารมณ์” ของนักลงทุนและสภาพตลาด นั่นก็คือดัชนี Crypto Fear and Greed Index หรือดัชนีวัดความกลัวและความโลภในตลาดคริปโตนั่นเอง

โดยตัวชี้วัดนี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่นักเทรดหลาย ๆ คนใช้ประกอบการตัดสินใจการซื้อขายและประเมินสภาพตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง

ตัวอย่างเช่นในเดือนมีนาคม ปี 2020 โรคระบาด Covid-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดการลงทุนแทบทั้งหมดปรับตัวลดลง เกิดแรงเทขายเป็นจำนวนมาก ราคา Bitcoin ร่วงแตะ $4,000 ซึ่งในขณะนั้นตัวชี้วัด Crypto Fear and Greed Index อยู่ในระดับ Extreme Fear หรือความกลัวขั้นสุด 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่แห่เทขายสินทรัพย์ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่ใครอีกหลายคนมองเห็นเป็นโอกาสและเข้าซื้อสินทรัพย์เหล่านั้น ดังคำกล่าวที่นักลงทุนระดับตำนาน Warren Buffet กล่าวไว้ “Be fearful when others are greedy and greedy when others are fearful” จงกลัวในวันที่คนอื่นโลภ และจงโลภในวันที่คนอื่นกลัว

Crypto Fear and Greed Index คืออะไร?

แท้จริงแล้ว Fear and Greed Index หรือดัชนีวัดความกลัวและความโลภ ถูกคิดค้นขึ้นโดยสำนักข่าวอย่าง CNN เพื่อใช้วัดสภาพตลาดของดัชนี S&P 500 เป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงระดับ “ความกลัว” และ “ความโลภ” ของนักลงทุนและตลาด ภายหลังได้รับความนิยมและถูกนำไปใช้กับตลาดการลงทุนหลายแห่ง รวมไปถึงตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเช่นกัน 

ซึ่ง Crypto Fear and Greed Index หรือดัชนีวัดความกลัวและความโลภในตลาดคริปโตจะมีค่าความกลัวและความโลภอยู่ระหว่าง 0-100 แบ่งเป็นระดับได้ดังนี้ 

0-25 (Extreme Fear) หมายถึงสภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความกลัวขั้นสุด

26-49 (Fear) หมายถึงสภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดยังมีความกลัวอยู่

50 (Neutral) หมายถึงสภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

51-74 (Greed) หมายถึงสภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความโลภ

75-100 (Extreme Greed) หมายถึงสภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความโลภขั้นสุด

ระดับเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของนักเทรดและสภาพตลาดได้เป็นอย่างดี ช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจในการซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น 

ความกลัวและความโลภของสภาพตลาดวัดจากอะไร?

ตามข้อมูลจาก Alterantive.me ระบุว่าการคำนวณดัชนี Crypto Fear and Greed Index จะวัดจาก Bitcoin เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งมี 6 ปัจจัยในการคำนวณดังนี้

  1. ความผันผวน (Volatility) 25% – หากราคามีความผันผวนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เข็มชี้วัดวิ่งเข้าสู่ระดับความกลัว (Fear) และความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) มากขึ้นเท่านั้น บ่งบอกถึงความกังวลของตลาด โดยคำนวณจากความผันผวนในอดีต 30 และ 90 วัน
  2. โมเมนตั้มและวอลุ่ม (Market Momentum and Volume) 25% – หากมีปริมาณการซื้อขายมากเท่าไหร ก็จะยิ่งทำให้เข็มชี้วัดวิ่งเข้าสู่ระดับความโลภ (Greed) และความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) มากขึ้นเท่านั้น บ่งบอกถึงความนิยมในตลาด โดยคำนวณจากความผันผวนในอดีต 30 วันและ 90 วัน
  3. โซเชียลมีเดีย (Social Media) 15% – ปัจจัยนี้จะอาศัยการเก็บข้อมูลจาก Twitter ในการพูดถึง Bitcoin เมื่อมีความสนใจและการกล่าวถึง Bitcoin มากขึ้น ค่าความโลภ (Greed) ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นถึงกระแสที่มาแรง
  4. ผลสำรวจ (Survey) 15% – เป็นการร่วมมือกับ strawpoll.com ทำแบบสำรวจสอบถามไปยังนักเทรดและบุคคลทั่วไปในรอบสัปดาห์ แต่ปัจจุบันปัจจัยที่นำมาใช้ในการคำนวณนี้ถูกระงับชั่วคราวเนื่องจากไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร 
  5. ส่วนแบ่งตลาด (Dominance) 10% – เมื่อส่วนแบ่งตลาดของ Bitcoin เพิ่มขึ้น ความเป็นไปได้ที่สภาพตลาดจะเข้าสู่ระดับความกลัว (Fear) ก็จะมีมากขึ้น และเมื่อส่วนแบ่งตลาดของ Bitcoin ลดลง ความเป็นไปได้ที่สภาพตลาดจะเข้าสู่ระดับความโลภ (Greed) ก็จะมีมากขึ้น
  6. เทรนด์ (Trend) 10% – อาศัยข้อมูลจาก Google สำหรับคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ยิ่งมีการค้นหาที่เกี่ยวข้องมากเท่าไหร่ ยิ่งนำไปสู่ระดับความโลภ (Greed) มากเท่านั้น

Extreme Greed ให้ขาย Extreme Fear ให้ซื้อ จริงหรือไม่?

ในปีนี้ที่เป็นปีทองของตลาดคริปโต ดัชนีชี้วัดความกลัวและความโลภได้พุ่งแตะจุดสูงสุดที่ระดับความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) อยู่หลายครั้งและพุ่งแตะจุดต่ำสุดที่ระดับความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) อยู่หลายครั้งอีกเช่นกัน

อ้างอิงกราฟจาก Alternative.me จะพบว่าช่วงต้นปีในไตรมาสที่ 1-2 เป็นช่วงที่นักลงทุนและตลาดอยู่ในระดับความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) จากการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงของราคา Bitcoin ในขณะนั้นแตะจุดสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ $64,000 และหลังจากการปรับฐานครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ทำให้ดัชนีชี้วัดร่วงแตะระดับความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) ซึ่งราคา Bitcoin อยู่ที่ระดับ $30,000

หากใช้แนวคิด “Extreme Greed ให้ขาย Extreme Fear ให้ซื้อ” เราก็จะเห็นได้ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะป้องกันอาการเจ็บตัวของนักลงทุน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการขายในช่วงที่นักลงทุนทั่วโลกและตลาดกำลังมีความโลภจากการทำกำไรของ Bitcoin และค่อยกลับมาซื้อใหม่ในช่วงที่นักลงทุนและตลาดเกิดความกลัว

หากนักลงทุนเข้าซื้อ Bitcoin ในช่วงที่ดัชนีชี้ให้เห็นถึงความกลัวที่ระดับ Extreme Fear ซึ่งราคา Bitcoin อยู่ที่ราว $30,000 – $35,000 เมื่อเดือนก่อน จะทำให้ปัจจุบันนักลงทุนอาจมีกำไรจากการเข้าซื้อครั้งนั้นเกือบ 40% เลยทีเดียว แม้ดัชนีในปัจจุบันจะอยู่แค่ในระดับ Greed ก็ตาม

บทสรุป

นี่อาจเป็นแนวทางง่าย ๆ สำหรับการคาดการณ์และประเมินสถานการณ์ตลาดคริปโต โดยทั่วไปแล้วเมื่อดัชนีความกลัวและความโลภเข้าสู่พื้นที่ความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโอกาสในการเข้าซื้อ และเมื่อดัชนีเข้าสู่พื้นที่ความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) อาจเป็นสัญญาณในการขายเพื่อป้องกันการสูญเสียกำไรจากการร่วงลงของราคาสินทรัพย์

อย่างไรก็ตาม Crypto Fear and Greed Index เป็นเพียงเครื่องมือประกอบการตัดสินใจที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความกลัวและความโลภของนักลงทุนและตลาดเท่านั้น มิได้รับประกันถึงความปลอดภัยในการลงทุน นักลงทุนควรใช้วิจารณญานและศึกษาทำความเข้าใจปัจจัยอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจ