เมื่อวานนี้เราได้เห็นการประกาศของบริษัทมหาชันยักษ์ใหญ่ในไทยอย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)(GULF) ที่ต้องการจะเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านเว็บกระดานเทรดคริปโตระดับโลกอย่าง Binance
สิ่งนี้สร้างความตกใจและเซอไพรส์ให้กับนักเทรดคริปโตทั้งในไทยและต่างประเทศพอสมควร เนื่องจากทั้งสองบริษัทนี้ต่างก็ดำเนินธุรกิจไปคนละทิศทาง ฝั่งหนึ่งก็เป็นด้านพลังงานไฟฟ้า ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นด้านการเงินโลกใหม่
เราได้เห็นอารมณ์ตลาดคริปโตในไทยที่ปะปนกันไปเมื่อวานนี้ ไม่ว่าจะเป็น FUD ที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศว่าการมาของพวกเขาจะเป็นการมาท้าชนกับเจ้าตลาดอย่าง Bitkub โดยตรง ในขณะที่บางส่วนก็มองว่านี่คือจุดจบของพวกเขาในการใช้บริการ Binance เพื่อเทรดในตลาดที่มีความเสรี
บางคนถึงกับเครียดและมองว่าการร่วมมือกันครั้งนี้อาจส่งผลกระทบด้านการจ่ายภาษีของนักเทรดคริปโตโดยตรง ซึ่งถือเป็นการราดน้ำเกลือลงบนแผลที่หลาย ๆ คนกำลังกลัวมาตั้งแต่ต้นปี
แต่หากลองมอง และคิดวิเคราะห์ดูจริง ๆ แล้วนั้น จะพบว่าการมาเปิดตลาด Binance ในประเทศไทยนั้น อาจจะมีทั้งข้อดี และข้อเสีย (สำหรับคนบางกลุ่ม และแน่นอนสำหรับอีกบางกลุ่ม) ที่ปะปนกันไป และวันนี้เราจะมาลองดูกันว่าสิ่งเหล่านั้น มีอะไรบ้าง
ใบอนุญาตสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยที่มีมาตั้งแต่ 2018
ปัจจุบันเรามีเว็บกระดานเทรดคริปโตที่ได้รับใบอนุญาตสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกกฎหมายจาก ก.ล.ต. ไทย หลัก ๆ ก็ประมาณ 6 เจ้าด้วยกันซึ่งประกอบไปด้วย Bitkub, Satang Pro, Bitazza, Zipmex, Upbit และ Z.com
หากลองดูให้ดีแล้วจะพบว่าใบอนุญาตของเว็บเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน นั่นก็คือกระดานเทรด (Exchange) และโบรคเกอร์ (Broker) ซึ่งมีเพียงแค่ Bitazza ที่ถือแบบที่ 2 เท่านั้น
ใบอนุญาตประเภท Exchange จะทำให้ผู้ถือสามารถเปิดกระดานซื้อขายในลักษณะการซื้อขายระหว่างลูกค้าที่เข้ามาสมัครเว็บด้วยกันเอง ในที่นี้ก็คือลูกค้าที่อยู่ในไทย เช่นในกรณีของ Bitkub ที่ให้ผู้คนมาตั้ง order และ match กันบนกระดานของพวกเขา
ในขณะที่ใบอนุญาตประเภท Broker นั้นจะทำให้ผู้ถือใบอนุญาตเป็นตัวแทนนายหน้าให้ลูกค้าในไทย สามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับคู่ค้าที่มีแหล่งเงินทุนอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งในกรณีของ Bitazza นั้นคือการ match order ของลูกค้าในไทย เข้ากับ order ของผู้ให้บริการด้านสภาพคล่อง โดยใช้หลักการ best execution
แม้จะดูคล้าย ๆ กัน แต่ความแตกต่างก็มีมากอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เราคาดการณ์ได้ก็คือ หาก Binance ตบเท้าก้าวเข้ามาในไทย พร้อมเกาะไหล่ Gulf เพื่อมาขอใบอนุญาตสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยนั้น โอกาสที่พวกเขาจะขอใบอนุญาต Broker นั้นมีค่อนข้างที่จะสูงกว่า Exchange เนื่องจากปัจจุบันสงคราม Exchange ในไทยนั้นแทบจะเป็น Red Ocean แล้ว การมาแย่งโวลลุมนักเทรดในไทยที่ Brand Loyalty สูงดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องลงทุนในด้านเวลาที่นาน
แต่หากเว็บ Binance เวอร์ชันไทย (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า Binance.co.th) ได้รับใบอนุญาต Broker แล้วล่ะก็ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาได้เปรียบก็คือการนำเอาสภาพคล่องจากตัว Binance.com เข้ามาช่วยเสริม และนั่นหมายความว่านักเทรดที่อยู่บน Binance.co.th จะได้รับ match order จากสภาพคล่องที่มาจากเว็บกระดานเทรด Binance.com
ดังนั้นหากจะวิเคราะห์แล้ว การเคลื่อนไหวแบบนี้ดูจะเป็นลักษณะที่วินวินสำหรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งทาง Binance ที่ต้องการจะทำ Localization (การไล่เปิดสาขาประจำประเทศ) รวมถึงความต้องการเสริมสภาพคล่องให้กับเว็บหลักของพวกเขา และการหา partner ที่สามารถพูดคุยกับ Regulator ได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ทาง GULF เองที่ต้องการจะก้าวเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ก็ไม่อยากลงทุนในส่วนของเวลาเพื่อสร้างทุกอย่างใหม่ตั้งแต่เริ่ม
แล้วรายย่อยอย่างพวกเราล่ะ?
คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันจะส่งผลอย่างไรต่อนักเทรดรายย่อยที่หาเช้ากินค่ำอย่างพวกเราบ้าง?
อยากให้ลองมองเคสตัวอย่างของ Binance.US หรือตลาด Binance ที่เข้าไปเปิดในประเทศสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ดู
ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีความเข้มงวดที่สุดในโลก และเป็นหน่วยงานที่แม้แต่บริษัทด้านการเงินหรือหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศต่างก็ไม่อยากมีปัญหาด้วย เนื่องจากการเป็น Super power ของโลก หากมีปัญหากับ SEC ก็เท่ากับมีปัญหากับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง
Changpeng Zhao รู้ดีว่าตลาดสหรัฐฯ นั้นใหญ่ขนาดไหน และเขาไม่ต้องการที่จะพลาดเม็ดเงินก้อนนี้ไป ครั้นจะให้ลูกค้าสหรัฐฯเข้ามาใช้บริการตัว Binance.com ก็เสี่ยงมากเกินไป ดังนั้นการยอมเข้าร่วมขอใบอนุญาต BitLicense ของสหรัฐฯ จึงเป็นเพียงทางออกเดียว
รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เงินไหลออกนอกประเทศ ดังนั้นจึงมีการแบ่งแยกลูกค้ากันอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือ Binance.US ที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับประชาชนสหรัฐฯ เท่านั้น ในขณะที่ Binance.com ก็คือเว็บที่พวกเรารู้จักกันดี ซึ่งลูกค้าสหรัฐฯ จะถูกจำกัดให้ใช้งานได้แค่ตัว .US เท่านั้น แต่จะไม่สามารถใช้ตัว .com ได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าจุดเด่นของ Binance.com นั้นคือตัวเลือกของเล่นด้านการลงทุนที่หลากหลาย รวมถึงความยืดหยุ่นในการใช้งาน (แค่เปิดบัญชีไม่ต้อง KYC ก็สามารถเทรดได้แล้ว) การโดนกีดกันไม่ให้ไปใช้ตัว .com จึงดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องที่หลายคนแฮปปี้นัก
เมื่อต้องอยู่ภายใต้ใบอนุญาตเดียวกัน ส่งผลทำให้ Binance.US ต้องเล่นกฎเกณฑ์เดียวกันกับเว็บกระดานเทรดคริปโตตัวอื่น ๆ ในสหรัฐฯ ไม่สามารถหยิบยื่นบริการให้กับลูกค้าแบบ 100% หากเทียบกับที่ตัว Binance.com มี
ข้อมูลจาก Coingecko เผยให้เห็นถึงโวลุมการซื้อขายคริปโตในสหรัฐฯ ที่แบ่งตามเว็บกระดานเทรด โดยจะเห็นว่าเจ้าตลาดนั้นยังคงเป็นเจ้าถิ่นจากสหรัฐฯ Coinbase ที่เปิดมานานก่อน Binance.US มาก รองลงมาก็คือ Kraken ในขณะที่ Binance.US นั้นอยู่อันดับที่ 3
ดังนั้นหากศึกษาจากเคสดังกล่าวนี้แล้ว จึงอาจทำให้พวกเราคาดการณ์ได้ว่า การมาของ Binance.co.th อาจไม่ใช่เรื่องที่คนไทยชอบกันนัก เนื่องจากว่าพวกเราจะถูกบังคับให้มาใช้ตัว .co.th แทนที่ตัว .com และจะเป็น Binance ในเวอร์ชันที่เล่นตามกฎกติกาใบอนุญาตของ ก.ล.ต. ทุกอย่าง ไม่ต่างจากเว็บเทรดอื่น ๆ ในไทย
แน่นอนว่าบัญชี Binance.com ของคุณอาจถูกปิด ความพยายามในการใช้ VPN เพื่อมุดนั้นไม่เป็นผล เพราะสุดท้ายก็ต้องมีการ KYC อยู่ดี แต่คุณอาจโชคดีหากมีญาติ หรือคนสนิทที่ไม่ใช่คนไทยที่สามารถไว้ใจได้ให้ยืมข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาเพื่อสมัครและใช้งานแทนที่บัญชีของคุณเอง
สรุปก็คือ ข้อดีนั้นดูเหมือนจะไปตกอยู่ที่ฝั่ง Binance ที่สามารถร่วมมือกับ regulator ในไทยได้ ตามความต้องการของ Zhao ที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหากับหน่วยงาน ก.ล.ต. ของทั่วโลก และข้อดีนั้นยังไปตกถึงพาร์ทเนอร์ของพวกเขารวมถึงหน่วยงานรัฐบาลที่ต้องการจัดเก็บภาษีในประเทศอีกด้วย
ส่วนสำหรับพวกเรา ก็แล้วแต่ว่าคุณจะมองเป็นข้อดี หรือข้อเสีย
อาจไม่ได้มีทุกอย่างที่แย่เสมอไป บางทีมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่พวกเราคาดการณ์ พวกเขาอาจมีบริการเจ๋ง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะสำหรับชาวไทย หรืออาจจะดำเนินกิจการไปในทิศทางที่พวกเราคาดไม่ถึงก็เป็นได้ ไม่มีใครรู้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไป