<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

วิธีจ่ายภาษี Crypto ตามแบบฉบับกรมสรรพากรไทย

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อวานนี้วันที่ 31 มกราคม กรมสรรพากรได้เผยแพร่คู่มือการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีของการเสียภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีความยาวถึง 33 หน้า บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยคู่มือดังกล่าวมีการชี้แจงวิธีการคำนวณเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  1. การจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี่/โทเคนดิจิทัล
  2. การขุดคริปโตเคอร์เรนซี่
  3. ได้รับคริปโตเคอร์เรนซี่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
  4. การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี่/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล
  5. การได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี่

ในส่วนของการจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล คู่มือระบุว่า การคำนวณภาษีสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และให้คํานวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ซึ่งหากเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วจะต้องใช้การคำนวณนั้นตลอดทั้งปี และจะสามารถเปลี่ยนวิธีการคำนวณรูปแบบใหม่ได้ในปีภาษีถัดไป

สำหรับวิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) คือการคํานวณต้นทุนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล โดยคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อนตามลําดับ จึงเป็นผลให้รายการคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายเป็นคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาครั้งหลังสุด ยกตัวอย่างเช่น

นายเอ ซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 3 ครั้ง

  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 20 บาท = 200 บาท
  • วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ปริมาณ 5 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 8 บาท = 40 บาท
  • วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ปริมาณ 15 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 9 บาท = 135 บาท

และขายคริปโตเคอร์เรนซี 2 ครั้ง

  • วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 30 บาท = 300 บาท
  • วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ปริมาณ 16 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 10 บาท = 160 บาท

นายเอ จะมีหน้าที่ต้องนําเงินได้จํานวน 121 บาท (100+21) ไปรวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ประเภทเงินได้ 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนยอดคงเหลือปริมาณ 4 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 9 บาท ยังไม่ถือเป็นรายได้ของปีภาษี 2564

ในขณะที่วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) คือ  การคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล แต่ละประเภทจะกำหนดจากการถัวเฉลี่ยต้นทุนของคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลประเภทเดียวกัน ณ วันต้นปีกับต้นทุนของคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาในระหว่างปี ซึ่งคำนวณทุกครั้งที่ซื้อคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล เช่น

(ต่อเนื่องจากตัวอย่างข้างต้น) ในปีภาษี 2565 นายเอ เปลี่ยนวิธีคํานวณต้นทุนจากวีธีเข้าก่อนออกก่อนมาเป็นวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ โดยซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 1 ครั้ง ในวันที่ 15 มกราคม 2565 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 16 บาท และขายคริปโตเคอร์เรนซี 1 ครั้ง ในวันที่ 20 มกราคม 2565 ปริมาณ 12 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 17 บาท

นายเอ จะมีหน้าที่ต้องนําเงินได้จํานวน 36 บาท ไปรวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ประเภทเงินได้ 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และสําหรับยอดคงเหลือปริมาณ 2 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 14 บาท ยังไม่ถือเป็นรายได้ของปีภาษี 2565

ส่วนการคำนวณภาษีจากการขุดนั้น คู่มือของกรมสรรพากรระบุว่า ให้ใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อนหรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน แต่ผู้ยื่นแบบสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจําเป็นและสมควร เช่น ค่าซ่อมบํารุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี

ในขณะที่การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างนั้น คู่มือระบุว่า การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือ ราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

สำหรับคริปโตเคอร์เรนซี่/โทเคนดิจิทัลที่ได้จากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัลนั้น คู่มือระบุว่า ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่างเช่นได้รับแจกเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย เป็นต้น

การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มาหรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

ในขณะที่การได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น คู่มือระบุว่า การคำนวณภาษีจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่  โทเคนดิจิทัล และ คริปโทเคอร์เรนซี่ เช่น Yield farming หรือ Staking เป็นต้น

โดยผลประโยชน์จากโทเคนดิจิทัลให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผลประโยชน์จากการถือครองคริปโตเคอเรนซี่ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี่ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

นอกจากนี้คู่มือดังกล่าวยังได้รวบรวมคำตอบสำหรับคำถามที่พบบ่อยจำนวน 24 คำถาม เช่น การเก็บภาษีจากมูลค่าคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่ถืออยู่ หรือต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาทก่อนหรือไม่? ในกรณีที่มีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีและจะคํานวณอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดวิธีการคำนวณภาษีคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ ลิงกนี้

ที่มา : สรรพากร , thestandard