Celestia เป็นเครือข่ายบล็อกเชนแบบ modular blockchain ตัวแรกของวงการคริปโตที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมาและเปิดตัวเหรียญคริปโตของตัวเองที่เรียกว่า TIA Coin
Celestia คืออะไร?
Celestia เป็นเครือข่ายบล็อกเชนแบบ Modular ตัวแรกที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างบล็อกเชนของตนเองได้ง่ายดาย และมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Celestia ยังอนุญาตให้บล็อกเชนอื่น ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเพื่อใช้เป็นเลเยอร์ฉันทามติ หรือ consensus layer
ทั้งนี้บล็อกเชนอื่น ๆ จะสามารถเผยแพร่ธุรกรรมของตนบน Celestia ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่จำเป็นให้โหนดของตนดาวน์โหลดและเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ ทำให้บล็อกเชนเหล่านั้นมีขนาดเล็กและเบาลง ในฐานะที่เป็น consensus layer โหนดของ Celestia จะทำหน้าที่ตรวจสอบและตรวจสอบธุรกรรมที่เผยแพร่บนเครือข่าย Celestia เพื่อให้แน่ใจว่าทุกโหนดเห็นด้วยกับข้อมูลที่จัดเก็บไว้
บล็อกเชนแบบ Modular คืออะไร?
Celestia ได้เปิดใช้งาน Mainnet ครั้งแรกในวันที่ 31 ตุลาคม 2023 และได้รับการประกาศให้เป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคโมดูลาร์” แต่บล็อกเชนแบบโมดูลาร์คืออะไร และเหตุใดจึงมีความสำคัญต่อโลกคริปโต? เราจะมาทำความรู้จักกันในบทความนี้
บล็อกเชนแบบ Modular คือแนวคิดการออกแบบบล็อกเชนที่แยกฟังก์ชันสำคัญที่ดำเนินการโดยบล็อกเชนออกเป็นส่วนๆ โดยบล็อกเชนคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงแรกๆ เช่น Bitcoin (BTC) และ Ethereum (ETH) จะดำเนินการงานทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับบล็อกเชน ได้แก่ ความพร้อมใช้งานข้อมูล ฉันทามติ การประมวลผลและการชำระเงิน ซึ่งแบบนี้เรียกว่า บล็อกเชนแบบบูรณาการ หรือ โมโนลิทิกบล็อกเชน
อย่างไรก็ตามโมโนลิทิกบล็อกเชน จะทำหน้าที่ทุกอย่างบนเลเยอร์เดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการปรับขนาด เนื่องจากเลเยอร์ทั้งหมดต้องสามารถรับมือกับปริมาณการใช้งานในระดับเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน บล็อกเชนแบบ Modular จะแก้ไขปัญหานี้โดยการแยกฟังก์ชันต่างๆ ออกเป็นเลเยอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยให้แต่ละเลเยอร์สามารถปรับให้เหมาะสมกับงานเฉพาะของตนได้ และยังทำให้ปรับขนาดบล็อกเชนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เลเยอร์หนึ่งอาจรับผิดชอบความพร้อมใช้งานข้อมูล เลเยอร์หนึ่งอาจรับผิดชอบฉันทามติ และอีกเลเยอร์หนึ่งอาจรับผิดชอบการประมวลผลและการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยให้บล็อกเชนปรับขนาดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแต่ละเลเยอร์สามารถปรับขนาดได้อย่างอิสระ
Celestia ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร?
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจว่าความพร้อมใช้ข้อมูล (data availability) คืออะไร การเข้าถึงข้อมูลหมายถึงความมั่นใจที่ว่า ผู้เข้าร่วมเครือข่ายคนใดก็ตามสามารถดาวน์โหลดข้อมูลธุรกรรมได้ตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบบล็อก ความพร้อมใช้ข้อมูลเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่อนุญาตให้ทุกคนตรวจสอบสมุดบัญชีบล็อกเชนและตรวจสอบธุรกรรมบนนั้น
แต่ปัญหาหลักก็คือ โหนดจำเป็นต้องดาวน์โหลดข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดเพื่อตรวจสอบบล็อกอย่างอิสระ ซึ่งมันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการปรับขนาดที่สำคัญ เนื่องจากการดาวน์โหลดข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดของบล็อกเชนที่เติบโตขึ้นจะกลายเป็นเรื่องยากสำหรับโหนดปกติ (มีเพียง Full node เท่านั้นที่มีความจุในการดาวน์โหลดข้อมูลบล็อกเชนทั้งหมด)
Celestia จะแก้ปัญหานี้โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า data availability sampling (DAS) DAS ทำงานโดยแบ่งข้อมูลธุรกรรมออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ จากนั้นจึงสุ่มตัวอย่างชิ้นส่วนเหล่านั้นเพื่อตรวจสอบว่า ข้อมูลทั้งหมดมีอยู่หรือไม่ หากโหนดสามารถตรวจสอบได้ว่าส่วนใหญ่ของชิ้นส่วนเหล่านั้นพร้อมใช้งานก็สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดมีอยู่จริง
เมื่อใช้เทคโนโลยี DAS โหนดที่ไม่สามารถดาวน์โหลดข้อมูลบล็อกเชนทั้งหมด (เรียกว่า light nodes) จะต้องสุ่มตัวอย่างข้อมูลบล็อกเพียงส่วนเล็กๆ เพื่อตรวจสอบว่าบล็อกนั้นได้รับการเผยแพร่แล้วหรือไม่
Light nodes จะทำการสุ่มตัวอย่างหลายรอบ ทั้งนี้หากยิ่งทำสุ่มรอบตัวอย่างมากขึ้น ความมั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่ก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงระดับความมั่นใจที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (เช่น 99%) light nodes จะถือว่าข้อมูลบล็อกที่มีอยู่พร้อมใช้งานแล้ว
ด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบความพร้อมใช้งานของข้อมูล (DAS) เช่น Celestia เทคโนโลยีนี้คาดว่าจะช่วยให้บล็อกเชนอย่าง Ethereum ปรับขนาดได้โดยไม่ลดทอนความปลอดภัย เพราะปกติแล้วการใช้งาน “rollups” ระดับที่ 2 (L2) ที่เป็นส่วนสำคัญใน
ขยายขนาดของ Ethereum จะส่ง “สรุป” หรือ “หลักฐาน” ของธุรกรรมไปยังเลเยอร์ที่ 1 (L1) เพื่อทำการตัดรอบบัญชี แต่ถ้าหากข้อมูลของธุรกรรมเหล่านั้นไม่พร้อมใช้งานเพื่อการตรวจสอบ (หมายถึงปัญหาความพร้อมใช้งานของข้อมูล) ผู้ดำเนินการ rollup อาจระทำการที่ทุจริตได้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ดำเนินการ Rollup อาจพยายามใช้กลยุทธ์ Doudle Spending โดยการส่งหลักฐานที่แตกต่างกันของธุรกรรมเดียวกันไปยังโหนด L1 ที่แตกต่างกัน เพื่อทำให้พวกเขาสามารถขโมยเงินจากผู้ใช้โดยไม่ถูกตรวจพบ
Celestia เปิดตัวโทเค็น TIA
Celestia เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า TIA พร้อมกับการเปิดตัวเครือข่าย Mainnet ในวันที่ 31 ตุลาคม 2023
ทั้งนี้โปรเจ็กต์ได้จัดสรรโทเค็น TIA จำนวน 60 ล้านโทเค็น (6% ของอุปทานทั้งหมด) ที่จะแจกจ่ายระหว่างการเปิดตัวให้กับผู้มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์รวมถึง นักพัฒนา นักวิจัย ผู้ Stake ที่มีความกระตือรือร้นสูง
ข้อมูลตลาด
โทเค็น TIA ของ Celestia เปิดตัวในตลาด,kที่ราคาประมาณ 2 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามราคาคู่เหรียญ TIA/ USDT ได้พุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 5.3 ดอลลาร์หรือเพิ่มขึ้น 140% นับตั้งแต่เปิดตัว
ส่วนทางด้านของมูลค่าตลาดของ TIA มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2023
Tokenomics
โทเค็น TIA ของ Celestia มี hard cap จำนวน 1 พันล้านโทเค็น ซึ่งอุปทานโทเค็น TIA ถูกออกแบบมาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% ในปีแรก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของ TIA ถูกออกแบบมาให้ลดลง 10% ในแต่ละปี จนกว่าจะถึงอัตราเงินเฟ้อขั้นต่ำต่อปีที่ 1.5%
ที่มา: techopedia