ในปี 2016 โลกของคริปโตเคอร์เรนซีต้องเผชิญกับหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือการถูกแฮ็กของ The DAO (Decentralized Autonomous Organization) ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจกต์บล็อกเชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบนเครือข่าย Ethereum
เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางการเงินอย่างมหาศาลเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสำคัญในวงการบล็อกเชน Ethereum อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของ The DAO
The DAO เป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนสามารถลงทุนร่วมกันผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) บนเครือข่าย Ethereum โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง โดยประกาศเริ่มระดมทุนอย่างเป็นทางการวันที่ 30 เมษายน ปี 2016 ซึ่งจะใช้เวลาระดมทุนประมาณ 28 วัน
โปรเจกต์นี้ได้รับการระดมทุนมากถึง 150 ล้านดอลลาร์ (11,000,000 ETH) ซึ่งคิดเป็นจำนวน 14% ของปริมาณหมุนเวียน Ethreum ทั้งหมด จากนักลงทุนทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกบล็อกเชน
DAO ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับการลงทุนผ่านระบบการโหวต ซึ่งเป็นการใช้พลังของบล็อกเชนในการสร้างระบบการลงทุนแบบกระจายศูนย์ ทำให้โครงการนี้ดึงดูดความสนใจและความคาดหวังจากนักลงทุนทั่วโลก แต่ไม่นานหลังจากเปิดตัว การแฮ็กที่เกิดขึ้นกับ The DAO ก็ได้สั่นคล่อนความเชื่อมั่นของทุกคนที่เข้าร่วมในโปรเจกต์นี้
การถูกแฮ็ก : วิกฤติความเชื่อมั่นในบล็อกเชน
ในเดือนมิถุนายน 2016 มีแฮ็กเกอร์รายหนึ่งได้พบช่องโหว่ในโค้ดของ The DAO ทำให้พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดของโค้ดนี้เพื่อโอนเงินทุนจากโปรเจกต์ออกไปได้กว่า 60 ล้านดอลลาร์ (3,600,000 ETH) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเงินทุนทั้งหมด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึง
ช่องโหว่ที่ผู้แฮ็กใช้เป็นการทำให้โค้ดทำงานผิดพลาดในลักษณะที่อนุญาตให้ผู้แฮ็กสามารถทำธุรกรรมซ้ำได้โดยไม่ต้องคืนเงินทุนที่พวกเขาได้รับในรอบก่อนหน้า ส่งผลให้พวกเขาสามารถขโมยเงินออกไปได้อย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบต่อ Ethereum
การแฮ็ก The DAO เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2016 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อราคาของ Ethereum (ETH) ส่งผลให้ราคา ETH ที่เคยขึ้นไปถึง $20.51 ได้ร่วงลงมาต่ำถึง $10.25 ในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 50% อ้างอิงข้อมูลจาก CoinGecko
ไม่เพียงแต่เรื่องของการสูญเสียเงินทุนเท่านั้น การแฮ็กครั้งนี้ยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการออกแบบระบบ decentralized ว่ามันมีความเสี่ยงแค่ไหนหากไม่สามารถรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ได้ดีพอ
การตัดสินใจแก้ปัญหา: Hard Fork
เพื่อแก้ปัญหาจากการแฮ็กครั้งนี้ ทีมพัฒนาของ Ethereum รวมถึงชุมชนได้มีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับวิธีการที่จะกู้คืนเงินทุนที่ถูกขโมยไป วิธีการหนึ่งที่ Vitalik Buterin และ Gavin Wood เสนอคือการทำ Hard Fork ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโปรโตคอลของเครือข่าย Ethereum เพื่อทำให้ธุรกรรมที่เกิดจากการแฮ็กนั้นเป็นโมฆะ และคืนเงินทุนให้กับนักลงทุนใน The DAO
การตัดสินใจทำ Hard Fork เป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในชุมชน Ethereum หลายคนเห็นด้วยกับการแก้ไขเพื่อปกป้องนักลงทุน ในขณะที่มีบางกลุ่มเห็นต่าง ซึ่งนำโดย Charles Hoskinson โดยพวกเขาคิดว่าการแก้ไขระบบบล็อกเชนเช่นนี้ ขัดต่อหลักการของความเป็น decentralized และบล็อกเชนควรจะเป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
สุดท้ายแล้ว ทีมพัฒนา Ethereum ตัดสินใจทำการ Hard Fork ซึ่งส่งผลให้เครือข่าย Ethereum ถูกแยกออกเป็นสองเครือข่ายหลัก:
1.Ethereum (ETH): เครือข่ายที่มีการทำ Hard Fork เพื่อคืนเงินทุนให้กับนักลงทุน
2.Ethereum Classic (ETC): เครือข่ายที่คงสถานะเดิมไว้โดยไม่ทำการแก้ไขธุรกรรมที่เกิดจากการแฮ็ก
การแยกตัวจากกันครั้งนี้ทำให้เกิดการแบ่งฝั่งในชุมชนคริปโต แต่ก็เป็นทางออกที่หลายคนเชื่อว่าจำเป็นสำหรับการรักษาความเชื่อมั่นใน Ethereum
บทเรียนจากเหตุการณ์ The DAO Hack
การแฮ็กของ The DAO เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์บล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการทดสอบความปลอดภัยของ สัญญา Smart contract และควรระมัดระวังในการลงทุนผ่านระบบ decentralized
เหตุการณ์นี้ยังแสดงถึงความยืดหยุ่นและความร่วมมือของชุมชนบล็อกเชนและคริปโต ที่สามารถรับมือกับวิกฤตและหาทางออกได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ท้าทาย
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ Vitalik Buterin ในการแก้ไขปัญหาด้วยการ ‘ฮาร์ดฟอร์ก’ เพื่อคืนเงินให้กับนักลงทุนนั้น ก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ถือเป็นทางเลือกที่ถูกต้องที่สุด สังเกตได้จากการเติบโตที่น่าทึ่งของราคา Ethereum ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเพียงหลัก $10 เมื่อปี 2016 ขึ้นมาถึงระดับที่สูงกว่า $2,000 ในปัจจุบัน