การเทรดเหรียญมีมนั้นนอกเหนือจากเทรดในแพลตฟอร์มชั้นนำจำพวก Centralized Exchange (CEX) อย่าง Binance และอื่น ๆ นั้น ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่นักเทรดสามารถทำได้คือการเข้าไปซื้อใน Decentralized Exchange (DEX) เช่น Dexscreener , Raydium ที่จะทำให้เราสามารถได้เหรียญมาในราคาที่ถูกมาก ๆ (ในบางกรณี) และขายออกไปในราคาที่สูง
แต่แน่นอนว่าเหรียญโทเค็นต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บน DEX ไม่ได้รับการตรวจสอบหรือยืนยันใด ๆ ทำให้มันมีความเสี่ยงสูงมากที่นักลงทุนอาจจะถูกโกง ด้วยการ Rugpull ของเจ้ามือ ซึ่งยิ่งทำการซื้อเหรียญใกล้ต้นน้ำมากเท่าไรยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากเท่านั้น
ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาแนะนำเทคนิคในการคัดแยกว่าเหรียญตัวไหนมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น Scam โดยนี่จะเป็นเทคนิคที่ใช้ในการดูเหรียญใน Dexscreener กับ 7 ขั้นตอนในการรับมือและแยกเหรียญ Scam
1 โปรเจกต์ได้รับความสนใจเกินจริง
โดยปกติแล้วเวลาเข้าไปยังหน้าแรกของ Dexscreener เราจะพบกับเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งดูภายนอกเหมือนจะไม่มีอะไรแต่ภายในนั้นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะ Scammer สามารถสร้างวอลุ่มการเทรดปลอม ๆ ขึ้นมา พร้อม ๆ กับจำนวนผู้ถือเหรียญที่มากเกินความเป็นจริง รวมไปถึงดันโปรเจกต์ให้ติดหน้าแรกของเว็บไซต์ ทำให้คนที่คิดว่าโปรเจกต์นี้ปลอดภัย หรือน่าจับตามอง
ทั้งนี้การปลอมข้อมูลดังกล่าวสามารถปลอมขึ้นมาได้ด้วยบอท ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนผู้ให้บริการที่เปิดให้บริการมากมาย
2 ตรวจสอบการทำธุรกรรม
ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้จะต้องมานั่งไล่ดูทุกธุรกรรม หรือไปเปิดเว็บไซต์จำพวก Solscan เพื่อตรวจสอบ แต่ให้ทำการวิเคราะห์ดูเบื้องต้นว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดเลยคือการทำธุรกรรมโดยบอท ซึ่งจะมีจำนวนของการทำธุรกรรมที่ใกล้เคียงกันตามรูปด้านล่าง
3 เช็ควอลุ่มหาสัญญาณเตือน
อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายมาก ๆ ในการจับผิดโปรเจกต์ Scam คือดูการเคลื่อนไหวของวอลุ่มและราคา ถ้าหากมีวอลุ่มการเทรดที่สูงแต่ราคากลับไม่ขยับตามมาก นั่นหมายความว่าอาจมีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเหรียญ
4 สภาพคล่องที่น่าเป็นห่วง
ถัดมาจะเป็นการตรวจสอบจากการดูสภาพคล่องของโปรเจกต์ (liquidity) โดยถ้านักเทรดเห็นว่าเงินที่เป็นสภาพคล่องของโปรเจกต์มีการเปลี่ยนแปลงในทางลดลง ให้คำนึงไว้เลยว่าทางผู้พัฒนาโปรเจกต์ตัดสินใจถอนตัวออกไปแล้วและหอบเงินหนี
อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจจะใช้งานยากสักหน่อย เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าโปรเจกต์จะล้มก่อนที่เราจะรู้ตัวว่ามีการถอนสภาพคล่องออกไปเสียอีก ทำให้นักลงทุนไม่สามารถ ถอนตัวได้ทัน
5 เหรียญอยู่กับใครบ้าง
ด้านสัดส่วนการถือครองเหรียญโทเค็นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเทรดรู้ว่าควรไปต่อหรือไม่ โดยเหรียญใดก็ตามที่มีอุปทานจำนวนมากของเหรียญกระจุกตัวอยู่กันในกระเป๋าไม่กี่ใบ หมายความว่าโปรเจกต์ดังกล่าวนั้นมีเจ้ามือเป็นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงที่นักเทรดและตลาดจะถูกปั่นโดยเจ้ามือเหล่านี้ ดังนั้นควรหาโปรเจกต์ที่อุปทานของเหรียญมีการกระจายตัวที่สูงจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า ส่วนวิธีสังเกตสามารถดูได้ทั้งในเมนู Dexscreener ที่เป็นแถบด้านล่าง หรือ Bubblemaps ก็ได้
6 คอมมูนิตี
สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของเหรียญมีมเลยนั่นก็คือ คอมมูนิตีที่คอยสนับสนุน ถ้าหากโปรเจกต์ใดไม่มีชุมชนตามโซเชียลต่าง ๆ เช่น X, Telegram ให้ปักธงแดงเลยว่าน่าสงสัย
มากไปกว่านั้นจะดูแต่ภายนอกก็คงไม่ได้ โดยนักเทรดควรที่จะเข้าไปสัมผัสกับชุมชนเหล่านี้โดยตรงว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าหากมีการพูดคุยไปในทิศทางเดียวกันหมดเช่นส่งเสียงเชียร์ หรือ คอมเมนต์ดูไม่เป็นธรรมชาติ ก็ให้เดาไว้ได้ก่อนเลยว่ามีการใช้บอทสวมรอยผู้ติดตามเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งวิธีตรวจสอบสามารถทำได้ด้วยวิจารณญาณของตนเอง หรือใช้งานเครื่องมืออย่าง tweetscout
7 ตัวเลขไม่ใช่ทุกสิ่ง
สำหรับเทคนิคสุดท้ายคือคำแนะนำที่ว่า “ตัวเลขไม่ใช่ทุกสิ่ง” เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถถูกปลอมแปลงขึ้นมาได้ ดังนั้นนักเทรดอย่างดูเพียงแค่ข้อมูลภายนอก แต่ให้ดูข้อมูลแบบเจาะลึกในหลายแง่มุม เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวง โดยยิ่งถ้าสามารถเข้าไปดูได้ถึงโค้ดหรือทีมพัฒนาเบื้องหลังได้จะยิ่งเป็นการดี
บทความนี้เป็นเพียงการให้ความรู้เพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแนะนำหรือเชิญชวนให้ทำการลงทุนแต่อย่างใด