<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

5 ข้อควรรู้สำหรับชาวคริปโต ก่อนเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง​สหรัฐฯ 2024

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ขณะนี้เราได้ก้าวเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมันจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน นักลงทุนคริปโตจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคะแนนนิยมระหว่างผู้สมัครยังคงสูสี บทความนี้จะมาสรุป 5 ข้อที่นักลงทุนคริปโตควรพิจารณาเพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสม

1.คลังของสหรัฐฯ จะขาดดุลมากขึ้นไม่ว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง

หนึ่งในแนวโน้มที่ชัดเจนที่สุดในอนาคต คือ มูลค่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่ว่าใครจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี สังเกตได้จากการออกพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันนโยบายของทั้งสองพรรคที่มุ่งลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายจะส่งผลให้เกิดการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น

สำนักงานงบประมาณแห่งชาติของรัฐสภาสหรัฐฯ (CBO) ทำการประเมินว่า ใน 10 ปีข้างหน้าระดับหนี้สาธารณะ อาจสูงถึง 122.4% ของ GDP จากระดับ 97.7% ในปี 2024 และหากมีการต่ออายุมาตรการลดภาษีของ TCJA อาจทำให้ตัวเลขนี้สูงขึ้นไปถึง 133.5% ของ GDP ซึ่งนักลงทุนอาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นการที่นักลงทุนมองว่า หนี้สาธารณะมีแนวโน้มจะสูงขึ้น อาจทำให้พวกเขาหันไปหาทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อหรือตัวเลือกที่มีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID-19 นักลงทุนจำนวนมากได้หันไปหาสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมองว่า Bitcoin เป็น “ทองคำดิจิทัล” ที่สามารถรักษามูลค่าได้ในระยะยาว ขณะที่ตลาดหุ้นและพันธบัตรประสบกับความผันผวน

2.นโยบายคริปโตของแต่ละพรรค

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ “ คริปโต” ถูกหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสามารถชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้เลยทีเดียว โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครต หรือ รีพลับลิกัน ต่างก็ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมคริปโต ดังนั้นเรามาดูกันว่านโยบายสนับสนุนคริปโตของแต่ละพรรคมีอะไรกันบ้าง

รีพับลิกัน (Donald Trump)

  • การนำ Bitcoin เป็นสินทรัพย์สำรอง: ทรัมป์ต้องการนำ Bitcoin เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินสำรองของสหรัฐฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพและส่งเสริมคริปโตในฐานะสินทรัพย์สำคัญ
  • ส่งเสริมการผลิต Bitcoin ภายในประเทศ: ทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนในการสนับสนุนให้การขุดและสร้าง Bitcoin เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างการควบคุมและเพิ่มการจ้างงานในประเทศ
  • ฟื้นฟูอุตสาหกรรมคริปโต: นโยบายของทรัมป์มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมคริปโต ให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
  • ปลดประธาน ก.ล.ต.: ทรัมป์มีแผนที่จะปลด Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต. ที่เข้มงวดต่อคริปโต และปรับทิศทางกฎหมายให้เป็นมิตรกับอุตสาหกรรมมากขึ้น
  • ปล่อยตัว Ross Ulbricht: นอกจากนี้ ทรัมป์ยังต้องการปล่อยตัว Ross William Ulbricht ผู้ก่อตั้ง Silk Road ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางดิจิทัล

เดโมแครต (Kamala Harris)

  • แนวทางเปิดรับคริปโต: Harris มีจุดยืนเปิดรับอุตสาหกรรมคริปโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับรัฐบาล Biden โดยมุ่งเน้นการพัฒนากฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ไม่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
  • ยังไม่ชัดเจนในการสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง: Harris ยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะมีนโยบายที่สนับสนุนคริปโตโดยเฉพาะเช่นการนำ Bitcoin มาเป็นทรัพย์สินสำรองหรือนโยบายการผลิตในประเทศ
  • เน้นพัฒนาในด้านอื่น: Harris มุ่งเน้นการพัฒนาส่วนอื่นมากกว่าคริปโต ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของคริปโตในสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างจำกัด

3.กฏระเบียบคริปโตที่อาจเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งปธน.สหรัฐยังอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคริปโต เช่น การปรับอัตราภาษีหรือการออกกฎใหม่สำหรับการซื้อขายและการถือครองเหรียญดิจิทัล 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้สมัครที่มีแนวทางสนับสนุนคริปโตเข้ามาในตำแหน่ง อาจมีการเสนอมาตรการลดภาษีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการสร้างกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี บล็อกเชน ในทางกลับกัน หากผู้สมัครที่มีนโยบายเข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการควบคุมคริปโตชนะการเลือกตั้ง นักลงทุนอาจเห็นการเพิ่มขึ้นของกฎระเบียบที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อขายหรือการถือครองเหรียญดิจิทัล ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มีการรายงานภาษีที่เข้มงวดขึ้นหรือการห้ามบางประเภทของการทำธุรกรรมในตลาดคริปโต อาจทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่มั่นใจและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตได้

4.สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการมาของ BRICS

ทั้งนี้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร แต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อการผลิตและการกระจายสินค้าทั่วโลก รวมถึงตลาดคริปโตด้วย ตัวอย่างเช่น หากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้การผลิตชิปที่ใช้ในการขุดคริปโตลดลง และทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น 

นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการภาษีที่สูงขึ้นระหว่างสองประเทศ อาจทำให้ราคาสินค้าในตลาดคริปโตเกิดความผันผวนอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว เมื่อมีการประกาศขึ้นภาษีจากจีน ทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายการร่วงลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงควรติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความผันผวนที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล 

5.ไม่ต้องรอผลการเลือกตั้งแล้วค่อยลงทุน

สุดท้ายนี้นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการรอผลการเลือกตั้งแล้วค่อยเข้าลงทุน เนื่องจากตลาดมักมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้ง หรืออาจเริ่มเคลื่อนไหวล่วงหน้าก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะประกาศ

การรอผลการเลือกตั้งเพื่อเข้าลงทุนอาจทำให้นักลงทุนพลาดโอกาสสำคัญในตลาดคริปโต ซึ่งมักมีความผันผวนสูงและตอบสนองต่อข่าวสารและเหตุการณ์ในเชิงนโยบายอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะประกาศจริง ดังนั้นนักลงทุนควรพิจารณาใช้กลยุทธ์การลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น Dollar-Cost Averaging (DCA) เพื่อเฉลี่ยต้นทุนการลงทุนและลดความเสี่ยงจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 เมื่อนักลงทุนในตลาดคริปโตเริ่มมองเห็นแนวโน้มเชิงบวกเกี่ยวกับ Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะประกาศ นักวิเคราะห์ตลาดสังเกตเห็นว่าราคาของ Bitcoin มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้หลายคนได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้การใช้กลยุทธ์ DCA ยังช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการจับจังหวะตลาดที่มักเป็นเรื่องยาก โดยการลงทุนในจำนวนเงินที่เท่ากันในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทุกเดือน สามารถช่วยเฉลี่ยต้นทุนการเข้าซื้อและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาในระยะสั้น ทั้งยังช่วยให้นักลงทุนยังคงมีส่วนร่วมในตลาดคริปโตตลอดเวลา โดยไม่พลาดโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของราคาที่เกิดจากข่าวต่าง ๆ